โปรแกรม Picasa

วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

17-20 พฤษภาทมิฬ ลำดับเหตุการณ์ความรุนแรงทั้ง 4 วัน



       เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เกิดจากการหลงอำนาจผิดยุคผิดสมัยของ นายทหารกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งประกอบด้วย
พล.อ.สุจินดา คราประยูร
พล.อ.สุนทร์ คงสมพงษ์
พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล
พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี ฯลฯ
       ได้ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2534โค่นอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งแล้วตรารัฐธรรมนูญการปกครอง(ชั่วคราว)ขึ้นโดยเสนอตั้ง นาย อนันท์ ปันยารชุน เป็นนายรัฐมนตรี ขัดตาทัพ รสช.ตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้นมาด้วยอำนาจเผด็จการ ทำการคลอดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 "ฉบับหมกเม็ด" เตรียมสืบทอดอำนาจให้ตนเอง เพาะเชื้อเผด็จการขึ้นมาเต็มรูปแบบอีกครั้ง โดยกำหนดว่า
       นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง (ไม่ต้องเป็น ส.ส.)
ให้ข้าราชการดำรงตำแหน่งได้ (ควบตำแหน่งได้)
แต่งตั้งนายทหารในกลุ่มเครือญาติคนสนิทขึ้นมาคุมกองทัพ
การผนึกอำนาจทางการเมืองและการทหารเป็นศูนย์อำนาจ
       เมื่อกระแสประชาชนคัดค้าน "สุจินดา" ก็ยอมรับปากจะไม่รับตำแหน่งผู้นำ แต่ในที่สุด "สุจินดา" ก็ยอมเสียสัตย์แก่ตนเองและสาธารณะชนยอม "เสียสัตย์" เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 โดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง จนนำไปสู่การประท้วงคัดค้านของประชาชนนับแสนคนบนถนนราชดำเนิน และหัวเมืองใหญ่ๆทั่วประเทศและถูก 3 หัวโจ๊กเผด็จการดังกล่าว ใช้กำลังปราบปรามประชาชนและนิสิตนักศึกษาอย่างนองเลือดโหดร้ายทารุณ สร้างรอยด่างพร้อยให้กับประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยอีกตำนานหนึ่ง




เหตุการณ์วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๕วันปะทะ
       ช่วงเช้าถึงเที่ยง เจ้าหน้าที่สมาพันธ์ประชาธิปไตยได้มารวมตัวอยู่ที่บริเวณสนามหลวงเพื่อเตรียมการชุมนุมที่จะขึ้นในตอนเย็น เช่น เรื่องอาหาร โปสเตอร์ เต็นท์อำนวยการ รวมทั้งสุขาชั่วคราวโดยใช้ถังน้ำมันผ่าครึ่งเป็นโถ มีผ้าพลาสติกกั้นเป็นห้องไว้ ตั้งชื่อว่า "สุขาเพื่อผู้รักประชาธิปไตย"
ราวเที่ยง มีประชาชนกว่า 5,000 คนทยอยมาที่สนามหลวงทั้ง ๆ ที่เวทียังไม่เริ่มตั้ง มีการขายเทปวีดีโอคำปราศรัยการชุมนุมเมื่อวันที่ 6-11 พ.ค. ที่ผ่านมา รวมทั้งเสื้อยืด สติกเกอร์ต่อต้าน พล.อ.สุจินดา และเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งขายดีมาก
       นายประพันธ์ศักดิ์ กมลเพชร และผู้อดอาหารประท้วงคนอื่น ๆ ได้ย้ายมาที่เต็นท์ข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วน ร.ต. ฉลาด วรฉัตร ซึ่งยังคงปักหลักอดอาหารประท้วงที่หน้าทำเนียบรัฐบาลได้ขอถอนตัวจากคณะกรรมการบริหารสมาพันธ์ประชาธิปไตย
ด้วยเหตุผลว่าไม่อาจเข้าร่วมประชุมได้ เนื่องจากร่างกายของตนอยู่ในสภาพที่อ่อนล้าการกระทำครั้งนี้ไม่ใช่ความแตกแยก แต่เพราะตนเหลือเวลาน้อยเต็มที่แล้ว
       บ่ายโมง เจ้าหน้าที่สมาพันธ์ฯ เริ่มตั้งเวทีขึ้นโดยหันหน้าไปทางวัดพระแก้ว บนเวทีขึงผ้าสีขาวมีข้อความว่า " สมาพันธ์ประชาธิปไตย สุจินดาออกไปประชาธิปไตยคืนมา"
จากประชาชนประมาณ 3 หมื่นคนในเวลาบ่างสามโมง ได้เพิ่มขึ้นเป็น 3 แสนคนเมื่อถึงเวลาทุ่มครึ่ง การจราจรโดยรอบสนามหลวงติดขัดเพราะมีผู้คนเดินทางมาทุกสารทิศ มีรายงานว่านายทหารตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 1,000 คนได้ปะปนอยู่ในที่ชุมนุม
       สมาพันธ์ประชาธิปไตยแจกธงกระดาษสีขาวมีข้อความว่า "ประชาธิปไตยต้องได้มาโดยสันติวิธี" และ "พร้อมใจยืนหยัดเพื่อประชาธิปไตย" แก่ประชาชน เพื่อใช้โบกระหว่างฟังการปราศรัย
แอ๊ด คาราบาว ขึ้นร้องเพลงบนเวที ตัวแทนสมาพันธ์ประชาธิปไตยทยอยขึ้นปราศรัย บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีการตะโกนคำขวัญขับไล่ พล.อ. สุจินดาตลอดเวลา ธงสีขาวสะบัดพรึบทั่วท้องสนามหลวงเมื่อคำพูดถึงใจ
       สองทุ่มเศษ พล.ต. จำลองตั้งเวทีปราศรัยย่อยขึ้นอีกแห่งหนึ่งเพื่อตรึงคนไว้ เนื่องจากเสียงจากเวทีใหญ่ได้ยินไม่ทั่วถึง จนถึงขณะนี้คาดว่ามีประชาชนกว่า 3 แสนคนแล้ว
นายพงษ์ศักดิ์ เปล่งแสง รองประธานกลุ่มรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ซึ่งมีองค์กรในสังกัดกว่า 200 องค์กร มีสมาชิกราว 3 หมื่นคน กล่าวปราศรัยต่อที่ชุมนุมว่า หากเกิดเหตุแรงจากการปราบปรามของรัฐบาล พนักงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดของตนพร้อมจะหยุดงาน
       นายวีระ มุสิกพงศ์ พรรคความหวังใหม่ ขึ้นปราศรัยกล่าวเสียดสีถึงการที่รัฐบาลสั่งห้ามไม่ให้นำสุขาเคลื่อนที่มาบริการ ว่านอกจากจะปิดกั้นข่าวสารปิดหูปิดตาประชาชนแล้ว ยังปิดกั้นประชาชนด้วย
หนังสือพิมพ์ประมาณว่ามีผู้ร่วมชุมนุมเกือบ 5 แสนคน นับเป็นการชุมนุมครั้งยิ่งใหญ่ของพลังประชาธิปไตย ทว่าไม่มีสถานีโทรศัพท์ช่องใดรายงานข่าวการชุมนุนนี้




เคลื่อนขบวนสู่ทำเนียบ
       พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อธิบดีกรมตำรวจเปิดเผยว่าได้จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ประมาณ 4,000-5,000 นาย ทั้งในและนอกเครื่องแบบ โดยประสานกับกองกำลังรักษาพระนครตลอดเวลา
       ผู้บัญชาการกองกำกับรักษาพระนคร ได้สั่งการให้หน่วยขึ้นตรง (นขต.) กองกำลังรักษาพระนคร ปฏิบัติการตามแผนไพรีพินาศ / 33 ขั้นที่ 2 และปฏิบัติตามคำสั่งยุทธการที่ 1/35 โดยให้ทุกหน่วยเข้าที่รวมพลขั้นต้นใกล้พื้นที่ปฏิบัติการตามสี่แยกสะพานและสถานที่สำคัญให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 19.00 น.
สำหรับกองกำลังทหารบกและกองกำลังตำรวจ ให้รับผิดชอบสกัดบริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ สะพานสมมติอมรมารค สะพานระพีพัฒนลาภ สะพานเหล็ก และสะพานภาณพันธ์
       เวลาหกโมงเย็น ทหารในสังกัดกองกำลังรักษาพระนครเตรียมพร้อมในที่ตั้งประมาณ 2,000 นาย บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ มีรถดับเพลิงจำนวน 10 คัน และรถพยาบาลหนึ่งคัน
เวลาทุ่มเศษ ทหารช่างจาก ช.พัน 1 รอ. พร้อมด้วยรถยีเอ็มซีสองคัน บรรทุกรั้วลวดหนามมาจอดเตรียมพร้อมอยู่หน้ากระทรวงคมนาคม
       ราวสามทุ่ม คณะกรรมการสมาพันธ์ฯ ซึ่งประกอบด้วย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ น.พ.เหวง โตจิราการ ขึ้นไปบนเวที
พล.ต. จำลองได้นำประชาชนกล่าวปฏิญาณอย่างพร้อมเพรียงกันต่อหน้าพระแก้วมรกตและพระบรมมหาราชวังว่า จะเคารพเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จะต่อสู้กับเผด็จการ และให้มีประชาธิปไตยที่นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง โดยยึดมั่นในหลักการอหิงสาสันติวิธี
       น.พ. เหวงประกาศให้ประชาชนเดินไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอคำตอบจาก พล.อ. สุจินดา ประชาชนจึงทยอยเดินออกจากท้องสนามหลวงไปตามถนนราชดำเนินกลาง โดยมีขบวนของ พล.ต. จำลองเป็นผู้นำรายการบนเวทียังดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อดึงคนบางส่วนไว้ให้การเคลื่อนขบวนเป็นไปอย่างต่อเนื่องและไม่วุ่นวาย นางประทีปกล่าวถึงเหตุผลที่ต้องเคลื่อนขบวนว่า เพื่อตอกย้ำเจตนารมณ์อย่างสันติวิธีและขอให้ผู้ร่วมขบวนทุกคนรักษาความสงบ
       ไม่นาน ถนนราชดำเนินกลางก็เต็มไปด้วยฝูงชน ธงเล็กสีขาวโบกไสวตลอดขบวน พร้อมกับเสียงร้องขับไล่ พล.อ. สุจินดาดังเป็นระยะ ๆ การจราจรย่านสนามหลวงเป็นอันพาตไปทันที
ที่สะพานผ่านฟ้าฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจนับพันนายพร้อมโล่หวาย ไม้กระบองตรึงกำลังอยู่โดยมีลวดหนาววางเป็นแนวกั้น รถดับเพลิงและทหารเสริมกำลังอยู่ด้านหลัง


มือที่สาม - การปะทะครั้งแรก
       การปะทะครั้งที่แรกเริ่มต้นขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 21.20-22.00 น. เมื่อฝูงชนกลุ่มแรกที่มาถึงสะพานผ่านฟ้าฯ เผชิญหน้ากับแนวกีดขวางและขอร้องตำรวจให้เปิดทางแต่ไม่สำเร็จ ประชาชนจึงพยายามฝ่าแนวกั้นโดยใช้ไม้กระแทกสิ่งกีดขวาง ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์หุ้มมือและเข้าดึงลวดหนาม บางคนก็ใช้มือเปล่า
       พล.ต.ท. วิโรจน์ เปาอินทร์ รมช. มหาดไทยในขณะนั้น ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงทำการฉีดน้ำสกัดฝูงชนในทันทีที่กลุ่มผู้ชุมนุมรุกล้ำผ่านเข้ามาแต่เนื่องจากน้ำที่ฉีกออกมานั้นแรงทั้งยังเป็นน้ำครำเน่าเหม็น ส่งผลให้ผู้ชุมนุมบางรายถึงกับเสียหลักและเกิดอารมณ์ฉุนเฉียว ประชาชนจึงตอบโต้ด้วยการขว้างปาขวดน้ำและก้อนหินเข้าใส่เจ้าหน้าที่
       ต่อมา ฝูงชนกลุ่มหนึ่งบุกยึดรถดับเพลิงจำนวนแปดคันที่กำลังฉีดน้ำใส่กลุ่มชน แล้วฉีดน้ำกลับใส่เจ้าหน้าที่ ทำให้ตำรวจต้องถอยร่นไป แต่ในที่สุดกำลังตำรวจนับพันนายก็บุกตะลุยเข้าชิงรถดับเพลิงคืนได้ โดยใช้กระบองรุมกระหน่ำตีกลุ่มผู้ยึดรถ การปะทะระหว่างฝูงชนกับตำรวจที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ และหน้ากรมโยธาธิการกินเวลานานนับชั่วโมง
นอกจากก้อนหินและขวดน้ำแล้ว ยังมีคนใช้ขวดน้ำมันจุดไฟรวมทั้งระเบิดขวดขว้างใส่เจ้าหน้าที่ ทำให้เกิดเสียงดังเป็นระยะ ๆ ทางฝ่ายตำรวจใช้กระบองเข้าทุบตีประชาชน รถยนต์ รถจักรยานยนต์ (ผู้จัดการฉบับพิเศษ 2535) ผู้สื่อข่าวและช่างภาพหลายคนโดยทุบตี ถูกยึดฟิล์ม กล้อง และอุปกรณ์ต่าง ๆ ไป มีผู้บาดเจ็บเลือดอาบรวมถึงถูกทุบตีจนเสียชีวิตหลายราย
       ในช่วงเวลาเดียวกัน โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจออกข่าวว่า พล.ต. จำลองได้นำประชาชนเคลื่อนย้ายจากท้องสนามหลวงเพื่อมุ่งสู่พระตำหนักจิตรลดาฯผู้ชุมนุมได้ขว้างปาเจ้าหน้าที่จนได้รับบาดเจ็บ รัฐบาลออกแถลงการณ์ให้ประชาชนที่มาชุมนุมกลับที่พักโดยด่วน
       เวลา 22.15 น. ตำรวจนำรั้วลวดหนามมาตั้งขวางไว้ตามเดิม ผู้บาดเจ็บถอยมารวมกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่เพิ่งเคลื่อนขบวนมาถึงสะพานผ่านฟ้าฯ พล.ต. จำลองได้กล่าวขอให้ประชาชนอยู่ในความสงบและนั่งลงต่อสู้โดยสันติวิธี ประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในความสงบ แต่มีบางส่วนที่ยังคงขว้างปาขวดน้ำใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ชายฉกรรจ์กลุ่มหน้าสุดประมาณ 20 คน พยายามประสานมือกันเพื่อดึงประชาชนให้นั่งลง
ยึดสถานีตำรวจดับเพลิงภูเขาทอง
       เวลา 23.00 น. ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ กลับสู่ความสงบ กลุ่มผู้ชุมนุนด้านกรมโยธาธิการกลับใช้ความรุนแรงและยั่วยุเจ้าหน้าที่ตำรวจจนเกิดการปะทะ มีการขว้างปาด้วยระเบิดเพลิงประทัด ในที่สุดก็มีการยึดสถานีตำรวจดับเพลิงภูเขาทอง
นำรถดับเพลิงออกมา ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการปะทะในบริเวณดังกล่าวให้สัมภาษณ์ว่า มีบุคคลกลุ่มหนึ่งนำขวดบรรจุน้ำมันก๊าดมาเตรียมไว้ที่บริเวณสถานีตำรวจดับเพลิงภูเขาทอง และกระทำการยั่วยุให้เกิดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับประชาชนบริเวณนั้นจนตำรวจต้องถอนกำลัง




เผาสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง
       ในช่วงเวลาเดียวกัน สถานการณ์ทางสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งมีสภาพไม่ต่างกับสถานีตำรวจดับเพลิงภูเขาทองเท่าใดนัก เพราะมีบุคคลกลุ่มหนึ่งเจตนาก่อความรุนแรงขึ้น โดยการขว้างปาสิ่งของต่าง ๆ เข้าไปในสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งลงมือเผาและทุบรถยนต์ ซึ่งเป็นภาพที่ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณสะพานผ้านฟ้าฯก่อนที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งจะถูกเผาเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ภายในอาคารเริ่มทยอยกันออกไปทางด้านหลังกองกำกับการ หลังจากตำรวจออกไป กลุ่มบุคคลเหล่านี้ได้เข้าไปในสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งเพี่อเผาและฉกฉวยทรัพย์สิน
       ผู้บุกรุกสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งเป็นกลุ่มชายฉกรรจ์ ตัดผมรองทรง บางคนศีรษะเกรียนร่วมกับกลุ่มวัยรุ่นอายุประมาณ 17-18 ปี มีข้อสังเกตว่า กลุ่มคนเหล่านี้มีการเตรียมการในการเผาทำลายอาคารไว้พร้อมพรัก เพราะมีผู้ชุมนุมบางคนพยายามเข้าไปห้ามแต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการขว้างปาถุงใส่น้ำมันจำนวนหลายถุงที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวเตรียมมาได้ นอกจากนี้ยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ เพราะแม้แต่ประตูห้องขังก็ได้เปิดให้ผู้ต้องขังหนีออกมาก่อนแล้ว กลุ่มผู้บุกรุกทำงานด้วยความคล่องแคล่ว รู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน ราวกับได้เตรียมการมาอย่างรอบคอบ
       ตลอดเวลาที่เกิดความวุ่นวายบนถนนราชดำเนินนอก ประชาชนนับแสนตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าฯ ถึงสี่แยกคอกวัว ซึ่ง พล.ต. จำลอง คุมสถานการณ์ไว้ได้ ยังคงนั่งชุมนุมอย่างสงบ
พล.ต. จำลอง ได้ประกาศต่อที่ชุมนุมว่า ไม่ขอรับผิดชอบต่อการก่อจลาจลทั้งหมดเพราะเป็นฝีมือของมือที่สามที่หวังสร้างสถานการณ์เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปราบปรามประชาชน


เหตุการณ์วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
       เที่ยงคืนเศษ โทรทัศน์ได้ออกข่าวว่า พล.ต.จำลองได้ปลุกระดมประชาชนทำลายทรัพย์สินของทางราชการ ทางราชการจึงต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาดเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียมากกว่านี้
เวลา 00.30 น. โทรศัศน์ออกประการศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ลงนามโดย พล.อ. สุจินดา และ พล.อ.อ. อนันต์ กลินทะ รมว. มหาดไทย
       เวลา 01.30 น. โทรทัศน์ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย ห้ามชุมนุมมั่วสุมเกิน 10 คนขึ้นไป
ต่อมาเวลาตีสาม โทรทัศน์ได้ประกาศเพิ่มเติมว่า พล.ต. จำลองได้นำการจลาจลเผารถ เผาสถานีตำรวจดับเพลิงภูเขาทอง ยึดสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน ทางราชการจึงต้องเข้าระงับความรุนแรงโดยเร็วที่สุด
       มีข้อน่าสังเกตว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาล ให้เหตุผลที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริง โดยกล่าวหาว่ากลุ่มผู้ชุมนุมที่พยายามรื้อลวดหนามมีเครื่องมือ ได้แก่ กรรไกรตัดเหล็กขนาดใหญ่ ถุงมือ และกระสอบ แต่หากพิจารณาจากภาพถ่ายของผู้สื่อข่าวแล้ว ประชาชนมีเพียงมือเปล่า
ในราวตีสี่เศษ กำลังทหาร 2,000 นายและตำรวจ 1,500 นาย ซึ่งเตรียมพร้อมที่สะพานมัฆวานฯ ก็เคลื่อนกำลังสู่สะพานผ่านฟ้าฯ มีการยิงปืนกราดใส่ฝูงชนบนถนนอย่างไร้เหตุผล มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย
แล้วในท่ามกลางความสงบของผู้ชุมนุมนับแสน เสียงปืนชุดแรกของทหารที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ ก็ดังสนั่นกึกก้องนานราว 15 นาที ลูกกระสุนแหวกอากาศเป็นห่าไฟขึ้นสู่ฟ้าตามวิถีเพื่อขู่ขวัญ ประชาชนที่ตรึงกำลังอยู่บริเวณผ่านฟ้าฯ ภูเขาทอง ป้อมมหากาฬ หลบหนีกันแตกกระเจิง มีเสียงร้องโอดครวญของผู้ได้รับบาดเจ็บเพราะถูกยิง และหลายคนเสียชีวิต
       สิ้นเสียงปืน ผู้ชุมนุมกลับมาผนึกกำลังกันใหม่ตรงสะพานผ่านฟ้าฯ ปรบมือเสียงดังหนักแน่นเรียกขวัญกำลังใจของผู้ชุมนุมให้กลับมากอีกครั้ง
       เกือบรุ่งสาง เสียงปืนชุดที่ 2 ก็ดังกึกก้องไม่แพ้ครั้งแรก ทหารเคลื่อนพลเดินดาหน้าเข้ามาพร้อมรถดับเพลิงฉีดน้ำใส่ฝูงชนจนแตกกลุ่มถอยรุนจากบริเวณสะพาน
เสียงปืนจางลง ผู้ชุมนุมพร้อมใจกันร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีราวกับต้องการขอพึ่งพระบารมีแห่งองค์พระมหากษัตริย์ให้ช่วยพสกนิการที่กำลังถูกทำร้าย ทว่าไม่ทันที่เสียงเพลงจะจบดี เสียงปืนก็ดังสนั่นขึ้นอีกครั้ง หนนี้ไม่มีเสียงตอบโต้จากผู้ชุมนุม
       กำลังทหารเข้ายึดสะพานผ่านฟ้าฯ พร้อมกับเอาลวดหนามกั้นไว้ วิถียิงที่มีทั้งขึ้นฟ้าและระดับบุคคลได้สงหารประชาชนและทำให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย ส่วนลำโพงของเวทีใหญ่ถูกยิงแตกกระจุย
ในช่วงเวลาเดียวกัน โทรทัศน์ประกาศว่ากำลังทหาร ตำรวจ ได้เข้ากราดล้างผู้ก่อความไม่สงบแล้ว




แผนไพรีพินาศ - แผนสังหารผู้บริสุทธิ์
       แผนไพรีพินาศ/ 33 ขั้นที่ 3 ระบุว่า หากปฏิบัติการในขั้นที่ 2 (ขั้นป้องกัน) ไม่สำเร็จ และสถานการณ์ทวีความรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมได้จำเป็นต้องใช้กำลังเข้าระงับยับยั้งและยุติภัยคุกคาม เพื่อสถาปนาความสงบเรียบร้อยให้กลับคืนมาก(รายงานของกองทัพบกต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของรัฐบาล)
       มีข้อน่าสังเกตว่า ในช่วงเวลา 23.00 น. ขณะเกิดการปะทะกันบริเวณกรมโยธาธิการ นายตำรวจรักษาการณ์ที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งได้ขอกำลังทหารมาช่วยตั้งแต่เที่ยงคืนก่อนมีการเผาสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง แต่กำลังทหารกลับมาถึงเวลา 04.00 น. หลังจากที่สถานีตำรวจนนครบาลนางเลิ้งถูกเผาไปเรียบร้อยแล้ว
       ถ้าพิจารณาตามแผนไพรีพินาศแล้วกล่าวได้ว่าการสลายการชุมนุมเป็นไปตามขั้นตอนที่วางไว้และเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งอาจตกเป็นเหยื่อของการเผาสถานีตำรวจ
เพราะนายตำรวจประจำสถานีนครบาลได้ขอกำลังจากโรงเรียนนายร้อย จปร. (เก่า) ตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนแต่เป็นเพราะเหตุใด กำลังทหารจึงมาถึงล่าช้าทั้ง ๆ ที่ระยะทางห่างกันเพียงไม่ถึงหนึ่งกิโลเมตร




จับจำลอง - สลายม๊อบ
       หกโมงเช้า พล.ต. ฐิติพงษ์ เจนนุวัตร ผู้บัญชาการกองพล 1 กับตัวแทนทหารอีกหนึ่งคนเปิดเจรจากับตัวแทนฝ่ายชุมนุม คือ นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ส.ส. พรรคพลังธรรม ที่จุดกึ่งกลางระหว่างทหารกับประชาชน โดยฝ่ายทหารขอให้ไปชุมนุมที่สนามหลวง
เจ็ดโมงเช้า พล.ต จำลองโทรศัพท์ติดต่อกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรี เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและขอความช่วยเหลือ
        สิบโมงเช้า ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.สุจินดาชี้แจงกับคณะรัฐมนตรีถึงสถานการณ์และเหตุผลที่ประกาศภาวะฉุกเฉินแม่ไม่ได้พูดถึงการใช้กำลังอาวุธเข้าทำร้ายประชาชน
เตรียมสลายการชุมนุม
ที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ หลังจากทหารได้ใช้อาวุธปราบปรามผู้ชุมนุมเมื่อตอนเช้ามืด ในตอนสาย บรรยากาศการชุมนุมกลับสู่ความสงบอีกครั้งหนึ่ง ผู้ชุมนุมได้มอบดอกไม้ให้แก่ทหารและตำรวจปรามจราจล
       12.30 น. กองกำลังรักษาพระนครวางแผนสลายการชุมนุม (จากรายงานของกองทัพบกต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของรัฐบาล)
       13.00 น. ทหารตั้งกำลังปิดกั้นบริเวณสะพานพระปิ่นเกล้า ท่าพระจันทร์ สีแยกคอกวัว และวางลวดหนามขวางถนนราชดำเนินตรงบริเวณหน้ากรมประชาสัมพันธ์ ประชาชนที่ต้องการเข้าร่วมชุมนุมถูกสกัดไว้ไม่ให้เข้า ในขณะที่ผู้ชุมนุมภายในเหลืออยู่เพียง 2 หมื่นคน
       14.00 น. พล.อ. สุจินดาออกแถลงการณ์ทางโทรทัศน์กล่าวหา พล.ต. จำลองและบุคคลบางคนว่าเป็นภัยต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นผู้ยุยงปลุกปั่นให้การชุมนุมเกิดความรุนแรงจนทำร้ายเจ้าหน้าที่และทำลายสถานที่ราชการ จึงต้องใช้กำลังทหารตำรวจเข้าปราบปรามขั้นเด็ดขาดเพื่อยุติความเสียหาย
       15.00 น. กองกำลังรักษาพระนครก็สั่งการให้สลายการชุมนุมจากสะพานผ่านฟ้าฯ ถึงกรมประชาสัมพันธ์ โดยให้เหตุผลว่า
 "ในขณะนั้นมีผู้ชุมนุมเพิ่มขึ้นจำนวนมากกองกำลังรักษาพระนครได้พิจารณาเห็นว่า หากการชุมนุมในจุดังกล่าวดำเนินต่อไปจนถึงเวลาค่ำเหตุรุนแรงก็คงจะเกิดขึ้นอีกเหมือนกับที่เกิดขึ้นในคืนที่ผ่านมาแล้ว (17 พ.ค. 35 ) จึงจำเป็นต้องสลายการชุมนุม"


สังหารโหด ใบไม้ร่วงกลางนาคร
       บ่ายสามโมง บนถนนราชดำเนินขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาพพักผ่อนหลบแดดร้อน เสียงปืนก็ดังสนั่นราวฟ้าถล่มทหารเดินดาหน้าเข้าล้อมกรอบกลุ่มผู้ชุมนุมจากทุกทิศ
โดยมีรถหุ้มเกราะเคลื่อนตามมาข้างหลัง ผู้คนนับหมื่นแตกกระเจิงวิ่งหนีหลบไปตามซอกเล็กซอกน้อย ส่วนที่เหลือราว 3,000 คนหมอบราบลงกับพื้น ได้ยินเสียงหวีดร้องและเสียงร้องให้สะอึกสะอื้นท่ามกลางเสียงปืนรัวกระหน่ำผู้ที่หลบรอดมาได้เล่าว่า ทหารนอกจากยิงปืนขึ้นฟ้าแล้ว ยังยิงกราดใส่ผู้ชุมนุมด้วย และมีกองกำลังบางส่วนใช้กระบองเข้าทุบตีผู้ชุมนุมที่นอนหมอบกับพื้นอย่างไม่ยั้งมือ
      "อย่าทำร้ายประชาชน จับผมไปคนเดียว" พล.ต. จำลองพยายามเปล่งเสียงพร้อมกับชูมือแสดงตัวขณะที่หมอบราบอยู่กับฝูงชน สารวัตรทหารร่างยักษ์สองนายตรงเข้าจับกุมใส่กุญแจมือแล้วนำตัวขึ้นรถออกไปจากที่ชุมนุมกำลังทหารเข้ายึดพื้นที่ถนนราชดำเนินตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าฯ ถึงสี่แยกคอกวัวไว้ได้อย่างสิ้นเชิงผู้ชายถูกสั่งให้ถอดเสื้อนอกคว่ำหน้า สองมือไพล่หลังมัดไว้ด้วยเสื้อ ส่วนผู้หญิงนอนคว่ำหน้า หลายคนร่างสั่นสะทกหวาดผวา น้ำตาอาบใบหน้ารถ ยี เอ็ม ซี 10 คันและรถบัส 3 คน นำผู้ชุมนุมไปกักขังที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน ประมาณว่ามีผู้ถูกจับนับพันคน
       15.45 น. ข่าวด่วนพิเศษทางโทรทัศน์ประกาศว่า กองกำลังรักษาพระนครได้สลายกลุ่มก่อการจลาจลเรียบร้อยแล้วโดยไม่เสียเดือดเนื้อการเข้าสลาบม๊อบครั้งนี้ใช้กำลังทหารสามกองพัน ร่วมกับตำรวจตระเวนชายแดนในชุดปราบจราจลอีกหนึ่งกองพัน ประมาณ 2,000 คน พร้อมรถเกราะติดปืนกลสี่คัน ภายหลังการสลายม๊อบกำลังทหารยังหนุนเข้ามาไม่ขาดสาย ประมาณว่ามีกำลังทหารทั้งหมดไม่ต่ำกว่าหนึ่งกองพลกับอีกห้ากองพันหรือประมาณ 6,000-7,000 คน
       เสียงปืนรัวเป็นชุด ๆ ยังดังอยู่ตลอดถนนราชดำเนินเพื่อสลายฝูงชนที่ยังเหลืออยู่ตามซอกเล็กซอกน้อย และปรามไม่ให้คนนอกเข้ามาภายในบริเวณ ส่วนตามแนวสกัดของทหารโดยรอบถนนราชดำเนินยังมีฝูงชนจับกลุ่มตะโกนด่าทหารและขับไล่ พล.อ. สุจินดา
       สี่โมงครึ่ง มีการยิงปืนใหม่กราดไปทางป้อมมหากาฬ ใส่กลุ่มคนที่หลบตามซอกหลืบ มีคนล้มกองกับพื้นในบริเวณนั้นมากมาย
       ห้าโมงเศษ กำลังทหารได้กราดยิงติดต่อกันเป็นเวลานานอีกครั้งทั่วทั้งถนนราชดำเนิน ตั้งแต่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปจนถึงสะพานผ่านฟ้า
หลังจาก พล.ต. จำลองถูกจับ ประชาชนยังคงไม่สลายการชุมนุม แต่กลับทวีจำนวนมากขึ้นและถอยร่นไปตั้งหลักอยู่บริเวณกรมประชาสัมพันธ์โรงแรมรัตนโกสินทร์ และบริเวณใกล้เคียง ทางด้านหน้ากรมประชาสัมพันธ์มีกำลังของกองทัพบกจำนวนหนึ่งกองพันอยู่ในแนวที่ 1 หน้าแนวรั้วลวดหนาม แนวที่ 2 เป็นกำลังของทหารอากาศจำนวนหนึ่งกองพัน และแนวที่ 3 เป็นกำลังของกองทัพบกอีกสองกองพัน
       หกโมงเย็น ประชาชนจากที่ต่าง ๆ ราว 5 หมื่นคนได้กลับมารวมตัวกันที่บริเวณหน้ากรมประชาสัมพันธ์ทอดยาวไปถึงกระทรวงยุติธรรมหน้าขบวนถือธงชาติโบกสะบัด ทั้งอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชินีนาถ มายืนประจันหน้ากับแนวรั้วลวดหนามและแถวทหาร
เสียงปืนดังรัวถี่ยิบนานนับสิบนาที ฝูงชนหมอบราบกับพื้น บ้างส่งเสียงโห่ บ้างเคาะขวดพลาสติกกับพื้นดังสนั่น สิ้นเสียงปืนปรากฏว่าชายหนุ่มคนหนึ่งถูกยิงที่คอทรุดฮวบกับพื้น และชายชราคนหนึ่งถูกยิงตรงท้ายทอย กระสุนทะละหน้าผากมันสมองไหลนอง ประชาชนยืนมุงดูด้วยความโกรธแค้น เสียงตะโกนแช่งดา พล.อ. สุจินดา ดังกึกก้องทั่วบริเวณ
       ทุ่มครึ่ง รถบรรทุกน้ำรถเสบียงของทหารพยายามฝ่าฝูงชนเข้าไปส่งเสบียง ฝูงชนจึงเข้ายึดและจุดไฟเผา กลุ่มผู้ชุมนุมพยายามต่อต้านการปราบปรามโดยใช้อาวุธและเครื่องกีดขวางที่หาได้ในบริเวณนั้น
เช่น ขวดน้ำพลาสติก กระถางต้นไม้แผงกั้นจราจร ตลอดจนรถประจำทาง รถน้ำมัน มีการยึดรถเมล์ 11 คน วัยรุ่นกล้าตายขึ้นยืนโบกธงเบียดเสียดกันบนหลังคารถ ร้องเพลงปลุกใจสลับกับตะโกนขับไล่ พล.อ. สุจินดา
       พรรคฝ่ายค้านที่พรรคออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลยุติการใช้กำลังรุนแรงกับประชาชนทันทีโดยไม่มีข้อแม้ และพรรคฝ่ายค้านจะยื่นญัตติให้รัฐบาลชี้แจงกรณีใช้ความรุนแรงกับประชาชน ทั้งจะเสนอให้มีการตรวจสอบเหตุการณ์อย่างละเอียดเพราะมีเรื่องน่าสังเกตหลายประการส่วนทางรัฐบาลออกประกาศจับแกนนำเจ็ดคน คือ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล น.พ. เหวง โตจิราการ น.พ. สันต์ หัตถีรัตน์ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ น.ส. จิตราวดี วรฉัตร และนายวีระ มุสิกพงศ์




เผาและเผา
       เพื่อนฝูงที่ล้มตายต่อหน้า คนเจ็บที่นอนพะงาบ ๆ อยู่กับพื้น กลิ่นคาวเลือด ควันปืน เสียงร่ำให้หวีดร้อง การต่อสู้ของคนมือเปล่าถูกตอบแทนด้วยอาวุธหนักยิ่งกว่าในสงคราม ความอัดอั้นคับแค้นปะทุออกมาอย่างสุดกลั้น รถยนต์หลายคันในบริเวณนั้นถูกเข็นออกมากลางถนน กระหน่ำตีด้วยไม้กระทืบและพลิกคว่ำให้สาแก่ใจ มีแต่ความรู้สึกต้องการทำลาย จนกว่าจะหมดเรี่ยวแรงหรือความคับแค้นที่มีต่อสิ่งเลวร้ายทั้งหลายทั้งปวงที่ได้รับอุบัติขึ้น
       ความพยายามเผากรมประชาสัมพันธ์เกิดขึ้นสองช่วงเวลาคือ ช่วงแรกเวลา 22.00 - 23.00 น. เริ่มจากการทุบกระจกกรมประชาสัมพันธ์โดยใช้ขวดบรรจุน้ำมัน เศษผ้า เศษกระดาษ โยนเข้าไปข้างในตึก ทำให้ไฟลูกไหม้โต๊ะทำงานของเจ้าหน้าที่กรมประชาสัมพันธ์ ผู้ชุมนุมพยายามช่วยกันดับไฟได้ทัน
แต่เพลิงได้ลุกไหม้ขึ้นอีกครั้งในช่วงเวลาตีสามหลังจากการปราบปรามช่วงสี่ทุ่ม มีผู้นำรถเมล์และรถน้ำมันเข้ามาในบริเวณอาคาร ไฟได้ลุกไหม้ขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุ และไม่มีใครสามารถดับได้ทัน
ทางด้านกองสลากถูกเผาในช่วงเวลาประมาณสี่ทุ่มเศษ และกรมสรรพากรเผาเมื่อเวลา 12.00 น. ของวันที่ 19 พฤษภาคม โดยกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวน 200-300 คนรวมทั้งม๊อบจักรยานยนต์ประมาณ 50 คัน ได้เริ่มเผาตั้งแต่ชั้นล่างจนกระทั่งกลุ่มควันได้กระจายออกมาจนถึงด้านนอกและลุกไหม้จนทั่วอาคารในที่สุด
เพลิงลุกโซนในราตรีอันมืดมิด ถนนราชดำเนินเงียบวังเวง มีเพียงเสียงเปลวไฟปะทุ กับเสียงปืนที่ดังเป็นระยะ ๆ ตลอดคืน
       มีข้อน่าสังเกตว่า กรมประชาสัมพันธ์ที่มีเค้าว่าจะถูกเผาตั้งแต่สี่ทุ่มของคืนวันที่ 18 พฤษภาคม แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจดับเพลิงกลับได้รับคำสั่งให้เข้าดับไฟเมื่อเวลาประมาณ 01.00 น. ของวันที่ 19 พฤษภาคม
       เจ้าหน้าที่กรมประชาสัมพันธ์ที่อยู่ในเหตุการณ์กล่าวว่า เห็นรถดับเพลิงสามคันแรกมาถึงที่เกิดเหตุเมื่อเวลาประมาณตีสี่สิบนาที (รายงานการให้ข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการวิสามัญ) จึงมีผู้ตั้งคำถามว่า เหตุใดคำสั่งให้ดับเพลิงจึงล่าช้ากว่าเวลาเกิดเหตุนานจนกระทั่งสถานที่ราชการถูกไฟเผาจนหมด
หรือประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอีกครั้งเมื่อรัฐต้องการสร้างความชอบธรรมในการปราบปรามประชาชนด้วยเหตุผลทำลายทรัพย์สินราชการ !
       สามทุ่มครึ่ง ทหารที่ยืนตรึงกำลังชั้นนอกสุดได้รับคำสั่งให้ติดดาบปลายปืน บรรยากาศตึงเครียดขึ้นทันที
      สี่ทุ่มเศษ ขณะที่รถเมล์คันใหม่ที่เพิ่งยึดมาได้กำลังเคลื่อนที่เข้าเทียบติดรั้วลวดหนาม ทหารก็กระหน่ำปืนกลขึ้นชุดใหม่อย่างต่อเนื่อง ฝูงชนหมอบราบกับพื้น บ้างตะเกียกตะกายคลานหลบจากแนวหน้ากระสุนแหวกอากาศเป็นแสงไฟแลบแปลบปลาบ วัยรุ่นบนหลังคารถถูกยิงร่วงกราว ไม่เว้นแม้แต่คนที่กำลังถือธงหรือชูพระบรมฉายาลักษณะห่ากระสุนส่วนหนึ่งเด็ดชีวิตประชาชนบนหลังคาอาคารกองสลากฯ โดยไม่ทันรู้ตัวแล้วเกินกว่าใครจะคาดคิด คนขับรถเคนตายคนหนึ่งก็ตะบึงรถเมล์พุ่งพังรั้วลวดหนามเข้าหาแนวทหาร ห่ากระสุนถล่มเข้าใส่รถเมล์เสียงดังหูดับตับไหม้จนกระทั่งพรุนไปทั้งคันรถและจอดแน่นิ่งพร้อมกับร่างคนขับหลังพวงมาลัยความกล้าหาญและความตายของเขาปลุกจิตใจของคนที่เหลือ รถเมล์อีกหลายคันถูกเข็นให้เคลื่อนเข้าใส่ทหาร ห่ากระสุนชุดใหม่คำรามก้องแต่ไม่อาจหยุดยั้งฝูงชนที่กำลังบ้าคลั่งได้อีกต่อไป รถเมล์ยังคงรุกคืบหน้าเข้าไปเรื่อย ๆแถวทหารทั้งระดมยิงและถอยร่นไปตั้งหลักห่างออกไป ชายคนหนึ่งขึ้นไปยืนโบกธงชาติอย่างไม่เกรงกลัวอยู่บนหลังคารถกระสุนไม่ทราบจำนวนถีบร่างเขาร่วงสู่พื้นเสียชีวิตไปทันที
       สิ้นเสียงปืน ซากรถเมล์กลายเป็นเศษเหล็กกลิ่นคาวเลือกโชยคลุ้ง เสียงหวีดร้องสับสน ถนนราชดำเนินเกลื่อนกลาดด้วยศพและผู้บาดเจ็บนับร้อย ๆ เลือดสีแดงอาบพื้นแผ่นดิน
หนึ่งในหลาย ๆ ร่างที่นอนแน่นิ่งจมกองเลือกจักรพันธ์ อมราช ชายหนุ่มวัย 22 ปี ขึ้นไปโบกธงชาติอยู่บนหลังคารถ ถูกยิงเสกหน้า หัวสมองแตกระเบิดด้วยแรงกระสุน ร่างของเขาร่วงหล่นสู่ผืนดิน ผู้คนร่ำไห้กรีดร้องโหยหวนรอบ ๆ เขา"ทหารฆ่าประชาชน ทหารฆ่าประชาชน"
       ในช่วงเวลาสี่ทุ่มเป็นต้นมา หน่วยพยาบาลซึ่งประจำอยู่ที่ภัตตาคารศรแดง มุนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้ย้ายมายังโรงแรมรัตนโกสินทร์เพราะกลุ่มแพทย์ประเมินสถานการณ์ว่า การรวมตัวของประชาชนที่บริเวณหน้ากรมประชาสัมพันธ์มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปะทะกันร่างผู้บาดเจ็บที่โชกด้วยเลือด และศพวีรชนคนแล้วคนเล่า ถูกหามเข้าสู่ห้องล๊อบบี้ของโรงแรมรัตนโกสินทร์ซึ่งกลุ่มแพทย์อาสาได้จัดสถานที่เป็นหน่วยพยาบาลฉุกเฉิน มีแพทย์ประมาณ 40 คน และรถพยาบาลหกคันคอยรับมือกับจำนวนคนเจ็บที่เพิ่มมากขึ้นทุกขณะอาสาสมัครจับมือล้อมวงกั้นเป็นเขตรักษาเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การปฏบัติงานของแพทย์และพยาบาล ศพและคนเจ็บถูกหามเข้ามาเรื่อย ๆ หลายคนมีบาดแผลฉกรรจ์ที่ขา หน้าอก กลิ่นคาวเลือกตลบอบอวล บางคนอยู่ในอาการหวาดกลัว แพทย์ทุกคนพยายามช่วยอย่างเต็มความสามารถ แพทย์คนหนึ่งบอกให้นำแต่เฉพาะคนเจ็บเข้ามาก่อน แต่ก็เสียงตอบกลับมาว่าข้างนอกมีอยู่อีกมากเหลือเกิน ยังเองเข้ามาไม่ได้คนเจ็บถูกทยอยส่งโรงพยาบาลโดยรถพยาบาลเที่ยวแล้วเที่ยวเล่า เสียงไซเรนร้องโหยหวน ทว่ารถพยาบาลที่วิ่งออกไปส่วนใหญ่ไม่สามารถกลับเข้ามารับผู้บาดเจ็บเพราะทหารสกัดไว้ ผู้ชุมนุมจึงนำรถเมล์มาช่วยขนคนเจ็บ ขณะเดียวกันโรงพยาบาลศิริราชก็ได้ประกาศรับบริจาคโลหิตเป็นการด่วนราวเที่ยงคืนข่าวด่วนพิเศษทางโทรทัศน์แถลงปฏิเสธว่า ข่าวทหารยิงประชาชนนั้นไม่เป็นความจริง




เหตุการณ์วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๓๕ มอเตอร์ไซค์พิทักษ์ประชาธิปไตย
       หลังเที่ยงคืน ฝูงชนที่ถนนราชดำเนินเริ่มบางตา แต่ยังรวมกลุ่มกันอยู่เป็นกระจุก ๆ รอบสนามหลวง ตามอาคารและซอกซอยต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็มีรถจักรยานยนต์จับกลุ่มวิ่งไปตามถนนสายต่าง ๆ กลุ่มละ 60 คันบ้าง 70 คันบ้าง รายงานจากบางแหล่งอ้างว่าบางกลุ่มมีรถจักรยานยนต์ถึง 500 คัน
กลุ่มรถจักรยานยนต์เข้าทำลายสัญญาณไฟจราจรตามสี่แยก ป้อมยาม ป้อมตำรวจ ถูกทุบเสียหาย บางแห่งก็ถูกเผา โดยเฉพาะสถานีตำรวจจะเป็นจุดที่กลุ่มรถจักรยานยนต์เล็งเป็นเป้าหมายของการแก้แค้นแทนฝูงชนที่ถูกสังหารบริเวณราชดำเนิน
       เส้นทางของกลุ่มรถจักรยานยนต์นั้นมีตลอดทั่วทั้งกรุง เช่น ถนนพระรามสี่ สะพานขาว เยาวราช ราชวงศ์ สถานีหัวลำโพง ท่าพระ ฯลฯ สร้างความวุ่นวายราวเกิดสงครามกลางเมืองด้วยการปฏิบัติการดั้งหน่วยรบเคลื่อนที่ แต่นอกจากการทำลายข้าวของราชการแล้ว พวกเขายังชักชวนผู้คนตามท้องถนนให้ไปร่วมต่อสู้ที่สนามหลวงด้วย นอกจากนั้นมอเตอร์ไซค์บางคันยังถูกใช้เป็นพาหนะ ช่วยพาผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลได้ทันเวลา เนื่องจากรถพยาบาลถูกทหารปิดกั้นไม่ให้วิ่งผ่าน จากบทบาทเหล่านี้ จึงเกิดศัพท์เรียกกลุ่มนี้ว่า "ขบวนการมอเตอร์ไซค์
       การปฏิบัติการของ "หน่วยไล่ล่า" เริ่มขึ้นตั้งแต่เวลา 22.00 น. ของวันที่ 18 พฤษภาคม ไปจนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม โดยพื้นปฏิบัติการได้กระจายไปทั่วกรุงเทพฯ มีประชาชนผู้บริสุทธิ์ตกเป็นเหยื่อสังเวย "หน่วยไล่ล้า" ครั้งนี้ตั้งแต่ฝั่งพระนครบริเวณสะพานขาว ไปจนถึงฝั่งธนบุรี ตั้งแต่โรงพยาบาลพระปิ่นเกล้า (โรงพยาบาลทหารเรือ ตลาดพลู บุคคโล ไปจนถึงถนนสาธรด้วยความคล่องตัวของรถจักรยานยนต์ ทำให้กำลังตำรวจไม่สามารถจัดการกลุ่มรถจักรยานยนต์พิทักษ์ประชาธิปไตยได้อย่างเด็ดขาดในคืนนั้น และขบวนการมอเตอร์ไซค์ก็ได้พลิกสถานการณ์ให้เห็นว่า การล้อมฆ่าที่กรมประชาสัมพันธ์ไม่อาจหยุดยั้งการต่อสู้ของประชาชนได้เลย


อรุณรุ่งที่ไร้การบันทึก
       เวลา 04.55 น. ของวันที่ 20 พฤษภาคม นายแพทย์คนหนึ่งในโรงเรียนรัตนโกสินทร์ถือโทรโข่งแจ้งว่า กำลังทหารจากศูนย์สงครามพิเศษลพบุรีเคลื่อนประชิดเขามาแล้ว และมีข่าวว่าจะปิดล้อมปราบขั้นสุดท้ายเวลาตีห้า แพทย์ได้แจ้งให้ทุกคนทราบและทำการปรับสภาพหน่วยพยาบาลให้อยู่ทำเลที่ปลอดภัยพร้อมกับเตรียมรับสถานการณ์บุกปราบ โดยให้ทุกคนนอนราบคว่ำหน้ากับพื้นประสานมือหลังศรีษะ นอนนิ่ง ๆ ไม่ส่งเสียงและไม่ต่อสู้
      ราวตีห้า กำลังทหารกว่า 1,000 นายเดินเรียงหน้ากระดานระดมยิงเข้าใส่ฝูงชนตั้งแต่หน้ากรมประชาสัมพันธ์เข้ามา เพื่อหวังเผด็จศึกสลายการชุมนุมให้ได้ก่อนรุ่งสาง ฝูงชนแตกกระจายไปคนละทิศละทาง
บ้างคว่ำจมกองเลือดบ้างคลานตะเกียกตะกายให้พ้นวิถีกระสุน กำลังทหารจากทุก ๆ ด้านโอบล้อมต้อนฝูงชนไม่ให้เล็ดลอดออกไปได้ เสียงหวีดร้องดังระงมไปทั่ว เสียงปืนดังเป็นระยะตามจุดต่าง ๆ
เพียง 30 นาที ฝูงชนถูกต้อนมารวมกันหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ ผู้ชายถอดเสื้อมัดมือไพล่หลัง ส่วนผู้หญิงถูกกันไว้อีกทางใครขัดขืนจะถูกกระทืบไม่เว้นแม้แต่แพทย์อาสาซึ่งสวมชุดเขียวแตกต่างจากคนทั่วไป ห้องพักทุกห้องถูกเข้าตรวจค้น ใครที่ไม่สามารถแสดงหลักฐานการเข้าพักจะถูกต้อนลงมารวมกับคนอื่น ๆ หน้าโรงแรม ทหารเหยียบลงบนร่างนับร้อยที่นอนคว่ำหน้าอยู่แน่นขนัดในห้องล๊อบบี้ พร้อมกับส่งเสียงตะโกนว่า "เหยียบมันเข้าไป ไอ้ตัวแสบพวกนี้เผาบ้านเผาเมือง เอาไว้ทำไม"
       เกือบหกโมงเช้า ประชาชนราว 2,000 กว่าคนนั่งก้มหน้านิ่งในสภาพเชลยศึกสงครามอัดกันอยู่หน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์รถยีเอ็มซี 20 คัน รถบัสทหารสองคัน ขนผู้ต้องหาก่อการจลาจลส่งเรือนจำชั่วคราวที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขนเหตุการณ์ช่วงการเข้าเผด็จศึกครั้งสุดท้ายไม่มีช่างภาพคนใดได้บันทึกภาพ หรือแม้กระทั่งถ่ายภาพวีดีโอ ไม่มีใครรู้ว่าประชาชนถูกสังหารไปอีกกี่มากน้อย หลายเสียงเล่าว่า ศพถูกขนขึ้นรถยีเอ็มซีไป แต่ไม่มีใครทราบว่ารถจะวิ่งไปสู่ที่ใด
       ภาพหลังเหตุการณ์ล้อมปราบ กลุ่มคณาจารย์มหาวิทยาลัยเอกชนห้าสถาบัน ซึ่งได้ร่วมมือกันเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ผู้บาดเจ็บในโรงพยาบาลและผู้อยู่ในเหตุการณ์ช่วงวิกฤต ได้ตั้งข้อสังเกตว่าการปราบปรามประชาชนครั้งนี้มีพฤติการณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาตีห้า (ผู้สื่อข่าวถูกถอนออกมาหมดตั้งแต่เวลาตีหนึ่ง) ซึ่งผู้ร่วมเหตุการณ์เห็นตรงกันทั้งหมดว่า น่าจะเป็นช่วงเวลาที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมากที่สุด เพราะลักษณะการปราบปรามเป็นการปิดล้อมและระดมยิงเข้ามาทุกด้าน(ยกเว้นทางสะพานพระปิ่นเกล้าซึ่งทหารเรือเปิดให้ผู้ชุมนุมวิ่งออกไป) มีผู้ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า มีคนบาดเจ็บและเสียชีวิตขณะที่วิ่งหลบเข้าไปตามตรอกซอกซอยต่าง ๆ ทุกแห่ง




เหตุการณ์วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๓๕ รัฐบาลแถลงข่าว
       ผู้สื่อข่าวต่างประเทศถามนายสมัครว่าเห็นด้วยกับการฆ่าประชาชนหรือไม่ นายสมัครตอบว่าทำไมเวลาจอร์ช บุช ส่งทหารไปแอลเอ 6,500 นาย ไม่เห็นมีใครด่าบุชเลย
ต่อมา พล.อ. สุจินดาได้ออกแถลงข่าวทางโทรทัศน์เสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิด และยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิตเพียง 40 คน บาดเจ็บ 600 คนเท่านั้น


ประกาศเคอร์ฟิว
       เวลาทุ่มครึ่ง ได้มีประกาศห้ามบุคคลในท้องที่ กมม. ออกจากเคหสถานระหว่างเวลา 21.00-04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น แต่ขณะเดียวกันที่รามคำแหง ประชาชนยังคงทยอยมาร่วมชุมนุมกันเกือบแสนคน
      เวลาห้าทุ่มครึ่ง โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจและสถานีวิทยุกระจายเสียงทุกแห่งได้ถ่ายทอดข่าวสำคัญ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.สุจินดา และพล.ต.จำลอง เข้าเผ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท 
      พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเตือนสติและสั่งสอนบุคคลทั้งสอง ทรงชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่จะมีต่อประเทศชาติ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ขอให้บุคคลทั้งสองเป็นตัวแทนฝ่ายต่าง ๆ หันหน้าเข้าหากัน ช่วยกันแก้ปัญหาทำอย่างไรให้ประเทศชาติกลับคืนขึ้นมาภายหลังจากกราบบังคมทูลลาแล้ว พล.อ. สุจินดา และ พล.ต. จำลอง พร้อมด้วยนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี และ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้ร่วมประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นพล.อ.สุจินดา กับ พล.ต. จำลอง ได้ออกแถลงร่วมกันทางโทรทัศน์ โดย พล.อ. สุจินดา แถลงว่าจะปล่อยตัว พล.ต. จำลอง และออกกฎหมาย นิรโทษกรรมให้แก่ผู้ชุมนุม และจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร็ว ส่วน พล.ต. จำลองแถลงว่า ขอให้ผู้ที่ก่อความวุ่นวายยุติการกระทำ
       ผู้ชุมนุมที่รามคำแหงหลังจากได้ชมข่าวสำคัญและการแถลงข่าวของบุคคลทั้งสอง ส่วนใหญ่รู้สึกผิดหวังที่ พล.อ. สุจินดายังไม่ลาออก แต่ที่ชุมนุมก็ได้ตัดสินใจสลายการชุมนุม แต่ยังคงอยู่รวมกันในมหาวิทยาลัยรามคำแหงจนกว่าจะถึงเวลาตีสี่ ซึ่งพ้นเวลาเคอร์ฟิวแล้ว จึงค่อยทยอยกันกลับบ้าน
มีความเป็นไปได้สูงมากกว่า ถ้าเหตุการณ์การชุมนุมที่รามคำแหงยังไม่ยุติการนองเลือดคงเกิดขึ้นอีกครั้งแน่นอน เห็นได้จากรายงานที่กองทัพบกเสนอต่อคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของรัฐบาล (ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาวิปโยค) กล่าวว่า"การที่เจ้าหน้าที่ใช้ความนุ่มนวลต่อผู้ชุมนุม เช่น การเจรจาทำความเข้าใจการใช้น้ำฉีด การใช้แนวตำรวจแนวทหารประกอบอาวุธโดยมิได้บรรจุกระสุนปืนตามมาตรการขั้นเบา ไม่น่าจะได้ผลเพราะกลุ่มผู้ก่อการจราจลไม่ยำเกรง หากการดำเนินการของกลุ่มผู้ก่อการจลาจลที่รวมอยู่กับประชาชนยังคงอยู่ จะต้องเกิดความไม่ปลอดภัยทั้งแก่เจ้าหน้าที่และประชาชน ผู้ก่อการจลาจลเหล่านี้สมควรจะต้องถูกสลายและควบคุมตัวถ้าจำเป็น เพื่อหยุดก่อความวุ่นวายที่เกิดขึ้น"

ที่มา; http://www.oknation.net/blog/print.php?id=38110

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น