โปรแกรม Picasa

วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554

ประชาสังคม

           คำว่า "ประชาสังคม" มาจากภาษาอังกฤษว่า Civil Society และมีผู้ใช้คำภาษาไทยเทียบเคียงกันหลายคำ อาทิ "สังคมประชาธรรม" (ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม) "สังคมราษฎร์" (เสน่ห์ จามริก) "วีถีประชา"(ชัยอนันต์ สมุทวณิช ใช้คำนี้โดยมีนัยยะของคำว่า Civic movement) "อารยสังคม" (อเนก เหล่าธรรมทัศน์) และ"สังคมเข้มแข็ง"(ธีรยุทธ บุญมี) เป็นต้น ทั้งนี้ นักคิดสำคัญ ๆ ของสังคมไทยได้อธิบายขยายความคำว่า "ประชาสังคม" หรือ Civil Society นี้ในบริบทเงื่อนไขและการให้น้ำหนักที่แตกต่างกัน อันพอรวบรวมในเบื้องต้นได้ดังนี้
          ศ.นพ.ประเวศ วะสี นับเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจุดประกายการคิดถกเถียง ในเรื่อง "ประชาสังคม" ให้มีความเข้มข้นอย่างมากในช่วงระยะ 5-6 ปีที่ผ่านมา โดยผ่านงานเขียนชิ้นสำคัญคือ "สังคมสมานุภาพและวิชชา" โดยในงานเขียนดังกล่าวประกอบกับบทความย่อย ๆ และการแสดงปาฐกถาและ การอภิปรายในที่ต่าง ๆ พอประมวลเป็นความคิดรวบยอดได้ว่า ในสภาพของสังคมไทยปัจจุบัน ภาคส่วนหลัก (Sectors) ของสังคมที่มีความเข้มแข็ง และมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างมากคือ ภาครัฐ หรือ "รัฐานุภาพ" และภาคธุรกิจเอกชนหรือ "ธนานุภาพ" ซึ่งปรากฏการณ์นี้ส่งผลทำให้สังคม ขาดดุลยภาพและเกิดความล้าหลังในการพัฒนา ของฝ่ายประชาชนหรือ ภาคสังคม ซึ่งเรียกว่า "สังคมานุภาพ"
          ดังนั้นการนำเสนอแนวคิดของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี จึงมุ่งไปที่การทำอย่างไรที่จะเกื้อหนุนให้ภาคสังคมหรือภาคประชาชนมีความเข้มแข็งและเกิดดุลภาพทางสังคมขึ้น ที่เรียกว่าเป็น "สังคมสมานุภาพ" โดยนัยยะนี้ ศ.นพ.ประเวศ วะสี เชื่อว่าจะต้องพัฒนาให้เกิดความเข้มแข็งที่ชุมชน(Community Strengthening) (ประเวศ วะสี 2536) จนเกิดคำขยายความตามมา อาทิ ชุมชนเข้มแข็ง ความเป็นชุมชน เป็นต้น ดังการให้ความหมายของการเป็น "ชุมชน" ในที่นี้ ว่าหมายถึง "การที่ประชาชนจำนวนหนึ่งมี วัตถุประสงค์ร่วมกัน มีอุดมคติร่วมกันหรือมีความเชื่อร่วมกันในบางเรื่อง มีการติดต่อสื่อสารกัน หรือมีการรวมกลุ่มกัน มีความเอื้ออาทรต่อกัน มีความรัก มีมิตรภาพ มีการเรียนรู้ร่วมกันในการ ปฏิบัติบางสิ่งบางอย่างและมีระบบการจัดการในระดับกลุ่ม" (ประเวศ วะสี 2539) ซึ่งโดยนัยยะนี้ประชาสังคมที่เข้มแข็ง ต้องมีรากฐานที่เกิดจากการมีชุมชนที่หลากหลายและเข้มแข็งด้วย
          มีข้อพึงสังเกตสำคัญต่อเรื่องการเกื้อหนุนภาคสังคม ที่เสนอแนวคิดในเชิงกลยุทธ์ที่ว่าด้วย "ความร่วมมือเบญจภาคี" (ต่อมาใช้คำว่า "พหุภาคี") โดยมองว่าชุมชนในปัจจุบันอ่อนแอมาก การที่จะทำให้ชุมชน มีความเข้มแข็งได้นั้น จะต้องเกิดจากความร่วมมือและการทำงานร่วมกันของภาคสังคมต่าง ๆ ซึ่งรวมทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนด้วย "สังคมสมานุภาพ" จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยกระบวนการถักทอความรักของคนในสังคม ของคนในชุมชน ถักทอทั้งแนวดิ่ง อันหมายถึง โครงสร้างอำนาจที่เป็น ทางการและแนวนอนซึ่ง หมายถึงพันธมิตร/เพื่อน/เครือข่ายเข้าหากัน ซึ่งหากพิจารณาจากประเด็นนี้ การให้ความหมายหรือความสำคัญของ "ประชาสังคม" ของ ศ.นพ. ประเวศ วะสี นั้น มิได้กล่าวถึง"การปฏิเสธรัฐ" หรือ State Disobedience แต่อย่างใด
          อ.ธีรยุทธ บุญมี และ ดร.อเนก เหล่าธรรมทัศน์ สองนักคิดทางสังคมคนสำคัญ ที่ได้ให้ความสนใจกับเรื่อง "ประชาสังคม" อย่างมากเช่นเดียวกัน อ.ธีรยุทธ มองว่าการแก้ปัญหา พื้นฐานทางสังคมนั้นควรให้ความสำคัญกับ "พลังที่สาม" หรือพลังของสังคม หากแม้นว่าสังคมโดยรวมมีความเข้มแข็ง นักธุรกิจ นักวิชาชีพ นักศึกษา ปัญญาชนชาวบ้าน สามารถร่วมแรงร่วมใจกัน ผลักดันสังคม ปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นพื้นฐาน ก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งนี้ สังคมที่เข้มแข็งในความหมายของ ธีรยุทธ บุญมี นั้น จะเน้นที่ลักษณะที่กระจัดกระจาย (Diffuse) พลังทางสังคมที่มาจากทุกส่วนทุกวิชาชีพทุกระดับ รายได้ ทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งโดยนัยยะนี้ จะมีความแตกต่างจากแนวคิด"ประชาชนเป็นส่วนใหญ่" หรือ "อำนาจของประชาชน" ดังเช่นขบวนการ เคลื่อนไหวทางการเมืองในอดีตเป็นอย่างมาก (ธีรยุทธ บุญมี 2536)
          อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้ให้ความหมายของ "ประชาสังคม" หรือ "อารยสังคม" ที่ครอบคลุมทุกชนชั้นของสังคม เน้นเรื่องความสมานฉันท์ ความกลมเกลียว ความกลมกลืนในภาคประชาสังคมมากกว่าการดูที่ความแตกต่างหรือ ความแตกแยกภายใน อย่างไรก็ตามมุมมองของ ดร.อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษกับประเด็นของ "คนชั้นกลาง" "การมีส่วนร่วม" "ความผูกพัน" และ "สำนึกของความเป็นพลเมือง" กล่าวคือ "ประชาสังคม" โดยนัยยะนี้ มิได้หมายถึงความเป็นชุมชนของสังคมชนบทเท่านั้นแต่กิน ความรวม ไปถึงคนชั้นกลางภาคเมืองที่ไม่จำเป็นต้องมีความ สัมพันธ์ใกล้ชิดเป็นเครือญาติหรือเป็น แบบคุ้นหน้า (face to face relationship) แต่เป็นความผูกพัน (bond) ของผู้คนที่หลากหลายต่อกันบนฐาน แห่งความร่วมมือและการแสวงหาการมีส่วนร่วม และด้วยสำนึกที่มีต่อความเป็นพลเมือง หรือ Citizenship นั่นเองนอกจากนี้ ดร.อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ยังได้ตั้งข้อสังเกตที่สำคัญถึงรากฐานของคนไทย และสังคมไทยว่า คนไทยส่วนมากยังมีระบบวิธีคิดว่าตนเองเป็นไพร่ (client) หรือคิดแบบไพร่ ที่จะต้องมีมูลนายที่ดี โหยหาคนดี จึงมักขาดสำนึกของความเป็นพลเมืองและมองปัญหาในเชิง โครงสร้างไม่ออก
          อย่างไรก็ตาม ดร.อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้ให้ความสำคัญต่อการผลักดันให้เรื่อง "ประชาสังคม" กลายเป็นแนวคิดในเชิงอุดมการณ์ ทางสงคม "ผมขอเสนอให้เรื่อง Civil Society เป็นเรื่องของอุดมการณ์ จะต้องมีคำขึ้นมาก่อน ไม่มีคำก็ไม่มีความคิด ไม่มีความคิดก็ไม่มีอุดมการณ์ เพราะฉะนั้นคำว่า Civil Societyต้องสร้างให้เป็น Concept อย่างเช่น วัฒนธรรมชุมชน…. จึงจะเห็นมีพลัง มีประโยชน์" (อเนก เหล่าธรรมทัศน์ 2539)
          ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช และนายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ เป็นนักคิดอีก 2 ท่านที่กล่าวถึง "ประชาสังคม" โดยเน้นที่การปรับใช้ในบริบท ของสังคมไทย ค่อนข้างมาก โดยที่ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช มองว่า "ประชาสังคม" หมายถึง ทุก ๆ ส่วนของสังคมโดยรวมถึงภาครัฐ ภาคประชาชนด้วย ถือว่าทั้งหมด เป็น Civil Society ซึ่งแตกต่างจากความหมายแบบตะวันตกที่แยกออกมาจากภาครัฐ หรือนอกภาครัฐ แต่หมายถึงทุกฝ่ายเข้ามาเป็น partnership กัน (ชัยอนันต์ สมุทวณิช 2539ก) โดยนัยยะนี้ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ให้ความสำคัญกับ Civic movement หรือ "วิถีประชา" ที่เป็นการดำเนินกิจกรรม ของกลุ่มองค์กรต่าง ๆ โดยเอาตัวกิจกรรมเป็นศูนย์กลางปราศจากการจัดตั้ง ดังข้อเสนอที่สำคัญใน เชิงยุทธศาสต์การพัฒนา ในช่วงของการจัดทำแผน พัฒนาฯ ฉบับที่ 8 คือ Area-Function-Participation - AFP กล่าวคือจะต้องเน้นที่กระบวนการมีส่วนร่วม ในการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาของ ทุกฝ่ายร่วมกันในระดับพื้นที่ (ย่อย ๆ) ซึ่งในที่นี้ อาจเป็นพื้นที่จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน หรือพื้นที่ในเชิงเศรษฐกิจ เช่น เขตพื้นที่ชายฝั่งทะเล ภาคตะวันออก เป็นต้น (ชัยอนันต์ สมุทวณิช 2539)
          นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ ให้ความหมายของ "ประชาสังคม" ที่กว้างขวางและผนวกเอาแนวคิดที่กล่าว มาข้างต้น มาผสมผสานกันอย่างกลมกลืน กับบริบทของสังคมไทยว่า หมายถึง "การที่ผู้คนในสังคม เห็นวิกฤตการณ์ หรือสภาพปัญหาในสังคมที่สลับซับซ้อนยากแก่การแก้ไข มีวัตถุประสงค์ร่วมกันซึ่งนำไปสู่การก่อจิตสำนึก (Civic consciousness) ร่วมกัน มารวมตัวกันเป็นกลุ่มหรือองค์กร (Civic group) ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน หรือภาคสังคม (ประชาชน) ในลักษณะที่เป็นหุ้นส่วนกัน (Partnership) เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาหรือ กระทำการบางอย่างให้บรรลุวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ ด้วยความรัก ความสมานฉันท์ความเอื้ออาทรต่อกันภายใต้ระบบการจัดการโดยมีการเ ชื่อมโยงเป็นเครือข่าย (Civic network)" (ชูชัย ศุภวงศ์ 2540)
          ทั้งนี้ นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ ยังได้เสนออีกว่าปัจจุบันขบวนการประชาสังคมของไทย ได้มีพัฒนาการและ ความเข้มแข็งเชื่อมโยงเครือข่ายกันมาก พอสมควร โดยเฉพาะเครือข่ายของชาวบ้านและเครือข่ายขององค์กรพัฒนาเอกชนต่ าง ๆ ที่กำลังมีบทบาทสำคัญ ต่อกระบวนการแสวงหา ทางเลือกเพื่อการแก้ปัญหาในด้านต่าง ๆ ของสังคม เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาเอดส์ ปัญหาสาธารณสุข การทำเกษตรทางเลือก เป็นต้น อย่างไรก็ดี นายแพทย์ชูขัย ศุภวงศ์ ได้ตั้งข้อสังเกตที่สำคัญไว้ว่า ในเงื่อนไขของสังคมไทยปัจจุบันยังคงมีกระแสเหนี่ยวรั้งที่จะฉุด มิให้ กระบวนการสร้างความ เข้มแข็งของสังคมเติบโตขึ้น อันได้แก่ ระบบพรรคการเมือง รัฐไทยและระบบราชการ ระบบการศึกษา ความสัมพันธ์แบบแนวดิ่ง และสื่อมวลชนที่ขาด อิสระเป็นต้น (ชูชัย ศุภวงศ์ 2540)
          คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม นักคิดนักพัฒนาอาวุโสอีกท่านหนึ่ง ซึ่งมีบทบาททางความคิด และการเชื่อมโยงภาคีต่าง ๆ ของสังคมเพื่อ การพัฒนามาอย่าง ต่อเนื่อง ได้ให้ความหมายของ "ประชาสังคม" ว่าหมายถึง "สังคมที่ประชาชนทั่วไป ต่างมีบทบาทสำคัญในการจัดการเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับวิถีชีวิต ของประชาชน โดยอาศัยองค์กร กลไก กระบวนการ และกิจกรรมอันหลากหลาย ที่ประชาชนจัดขึ้น" โดยนัยยะของความหลากหลาย ขององค์กรนี้ไม่ว่า จะเป็น กลุ่ม องค์กร ชมรม สมาคม ซึ่งล้วนแต่มีบทบาทสำคัญต่อการผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางสังคมทั ้งสิ้น จึงเป็นเสมือน "สังคม" ของ "ประชา" หรือ Society ของ Civil นั่นเอง อย่างไรก็ดี คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ยังเสนอต่ออีกด้วยว่า "ประชาสังคม" นั้นเป็นส่วนของสังคม ที่ไม่ใช่ภาครัฐ ซึ่ง ดำเนินงานโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายและก็ไม่ใช่ภาคธุรกิจ ซึ่งดำเนินงานโดยมุ่งหวังผลกำไรเป็นสำคัญ
          จากตัวอย่างความหมาย และแนวคิดข้างต้นจะ เห็นถึงความต่าง ความเหมือน และการวางน้ำหนักในการอธิบายที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ดี จะสังเกตได้ว่าคำอธิบายจากนักคิด นักวิชาการของไทย ในข้างต้น เป็นคำอธิบายที่วางอยู่บนพื้นฐานของสถานการณ์หรือ บริบทของ สังคมไทยร่วมสมัย (Contemporary Situation) อีกทั้งยังมีลักษณะของ ความคาดหวังต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในอนาคตทั้งสิ้น ซึ่งที่จริงปรากฏการณ์นี้ ก็ไม่ต่างไปจากประเทศในซีกโลกตะวันตกแม้แต่น้อย อย่างไรก็ดี ความเคลื่อนไหว เรื่องประชาสังคมในประเทศตะวันตกนั้น ก้าวหน้าและเป็นรูปธรรมกว่าในเมืองไทยมากนัก อีกทั้งกระแสการรื้อฟื้น "ความเป็นประชาคม" หรือ "ความเป็นชุมชน" ในความหมายใหม ่นั้นดูจะเป็นทางออกที่ลงตัวสำหรับสังคมที่มีความพร้อมของ "พลเมือง" จริง ๆ
          หากพิจารณาถึงความลึกซึ้ง ของแนวคิดภายใต้กระแสงการสร้างชุมชนดังกล่าว จะพบว่า ชุมชนในที่นี้ หมายถึงชุมชนแห่งสำนึก (Conscious community) ที่สมาชิกของชุมชน ต่างเป็นส่วนหนึ่งของระบบ โดยรวมที่มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น อาจจะด้วยพื้นฐานของระบบคุณค่า เก่าหรือเป้าประสงค์ใหม่ของการเข้ามาทำงาน ร่วม ดังนั้น คำว่า "ประชาคม" หรือ "ชุมชน" จึงอาจมีขนาดและลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ตั้งแต่บริษัทขนาดเล็ก บริษัทหนึ่ง ถนนสายหนึ่ง หมู่บ้าน ๆ หนึ่ง เมือง ๆ หนึ่ง หรือกลุ่มสนใจเรื่องๆ หนึ่ง เป็นต้น ความเป็นชุมชนจึงมีลักษณะ เป็นพลวัตที่บุคคลและกลุ่มคนต่างมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมที่สน ใจ ร่วมกัน มีความสัมพันธ์และตัดสินใจร่วมกัน โดยมีพันธะ เชื่อมโยงกับระบบใหญ่ บนพื้นฐานแห่งความเป็นอยู่ที่ดีร่วมกันและหัวใจสำคัญอันหนึ่งที ่จะเป็นเงื่อนไขของการสร้าง ความเป็นชุมชนที่แข็งแรงก็คือ การสื่อสาร (Communication) นั่นเอง
          กระแสการรื้อฟื้นชุมชนเป็นกระแสที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤติที่โค รงสร้างของรัฐชาติไม่สามารถเข้ามาจัดการได้ ในขณะเดียวกัน ความเป็นเสรีชน ก็อ่อนแอเกินไป ต่อวิกฤติที่สลับซับซ้อน การเกิดขึ้นของชุมชนไม่ใช่การสร้างให้เกิดขึ้น หากแต่เป็นเพราะความจำเป็นที่ต้องเกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อเข้ามา เติมเต็มช่องว่างระหว่างรัฐและพลเมือง
แหล่งที่มา
http://www.thaicivinet.com
http://www.vijai.org/articles_data/show_topic.asp?Topicid=108

วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

ฉายานายกรัฐมนตรีของไทย



นายกรัฐมนตรีคนที่ 1
 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์)
 ฉายา นายกคนแรกของเมืองไทย (และโดนรัฐประหารเป็นคนแรกด้วย)

นายกรัฐมนตรีคนที่ 2
พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา(พจน์ พหลโยธิน)
ฉายา วันถึงอสัญกรรมมีเงินเหลือติดบ้าน 600 บาท
    
นายกรัฐมนตรีคนที่ 3
จอมพล ป. พิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) (หลวงพิบูลสงคราม)
นายกที่ดำรงตำแหน่งยาวนานมากที่สุด (พ.ศ. 2481-2500)
 ฉายา นายกตลอดกาล

นายกรัฐมนตรีคนที่ 4
พันตรีควง อภัยวงศ์ (หลวงโกวิทย์อภัยวงศ์)
ฉายา นายก 4 สมัย, โหรหน้าสนามกีฬา

นายกรัฐมนตรีคนที่ 5
นายทวี บุญยเกตุ (ดำรงตำแหน่งรอ ม.ร.ว.เสนีย์ กลับจากต่างประเทศ)
ฉายา นายก 17 วัน

นายกรัฐมนตรีคนที่ 6
หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช (ผู้ร่วมก่อตั้งและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์)
ฉายา นายกก่อนหม่อมน้อง

นายกรัฐมนตรีคนที่ 7
นายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐมนูธรรม)
เมื่อปี 2543 องค์การยูเนสโกได้บรรจุชื่อของท่านในปฏิทินบุคคลสำคัญของโลก
ฉายา บิดาแห่งรัฐธรรมนูญ 2475

นายกรัฐมนตรีคนที่ 8
พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
ฉายา นายกลิ้นทอง

นายกรัฐมนตรีคนที่ 9
นายพจน์ สารสิน
ฉายา นายก 90 วัน

นายกรัฐมนตรีคนที่ 10
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
นายกที่ถึงแก่อสัญกรรมขณะดำรงตำแหน่งหน้าที่
(เด็กสมัยชาติพัฒนา ต้องเป็นเด็กที่พาชาติไทยเจริญ)
ฉายา นายกพัฒนา, จอมพลผ้าขาวม้าแดง

 นายกรัฐมนตรีคนที่ 11
จอมพลถนอม กิตติขจร
นายกสมัย 14 ต.ค. 2516
(เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ)
ฉายา นายก ส.ค.ส. วันที่ 1 ม.ค. 01

นายกรัฐมนตรีคนที่ 12
นายสัญญา ธรรมศักดิ์
ฉายา นายกพระราชทาน

นายกรัฐมนตรีคนที่ 13
พลตรีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช
ฉายา นายก 9 เดือน 12 วัน

นายกรัฐมนตรีคนที่ 14
 นายธานินทร์ กรัยวิเชียร
ฉายา นายกยุบสภาเพื่อไทยอยู่รอด, นายกปฏิรูป

 นายกรัฐมนตรีคนที่ 15
พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์
ฉายา นายกปฏิสันถารดียิ่ง

 นายกรัฐมนตรีคนที่ 16
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ (ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ)
ฉายา นายกเลขโสฬส "ป๋า", เตมีย์ใบ้

 นายรัฐมนตรีคนที่ 17
 พลเอก ชาติชาย ชุนหะวัณ
ฉายา "น้าชาติ" ไม่มีปัญหา, ปลาไหลใส่สเก็ต, ช.สามช่า, จอมเสียบ

นายกรัฐมนตรีคนที่ 18
นายอานันท์ ปันยารชุน
ฉายา ---

นายกรัฐมนตรีคนที่ 19
 พลเอกสุจินดา คราประยูร
ฉายา
---

นายกรัฐมนตรีคนที่ 19
นายชวน หลีกภัย
ฉายา มีดโกนอาบน้ำผึ้ง, มีดโกนไร้คม, ช่างทาสี

นายกรัฐมนตรีคนที่ 20
นายบรรหาร ศิลปอาชา
ฉายา เติ่งเสี่ยวหาร

นายกรัฐมนตรีคนที่ 22
พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ
ฉายา บิ๊กจิ๋ว, จิ๋วหวานเจี๊ยบ, ขงเบ้งจิ๋ว, ขงเบ้งแห่งกองทัพไทย, ขงเบ้งอัลไซเมอร์

นายกรัฐมนตรีคนที่ 23
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ฉายา คิดใหม่ ทำใหม่, ผู้นำจานด่วน, พ่อมดมนต์เสื่อม, นายทาส, ซาตานในคราบนักบุญ, หน้าเหลี่ยม

นายกรัฐมนตรีคนที่ 24
พลเอก สุรยุทธ จุลานนท์ (องคมนตรี)
ฉายา รัฐบาลขิงแก่, รัฐบาลขอโทษ

 นายกรัฐมนตรีคนที่ 25
นายสมัคร สุนทรเวช
ฉายา จมูกชมพู่, ชิมไป บ่นไป, รัฐบาลนอมินี 1

  นายกรัฐมนตรีคนที่ 26
  นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
ฉายา รัฐบาลนอมินี 2, เพชฌฆาตมาดมั่วนิ่ม, รัฐบาลมือเปื้อนเลือด, หน้าเนื้อใจเสือ, ซ่อนดาบในรอยยิ้ม

นายกรัฐมนตรีคนที่...
(ผู้นำฝ่ายค้าน)
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ฉายา หล่อใหญ่, มาร์ค ม.7, ขุนศึกไร้ดาบ

ที่มา; http://www.dek-d.com/board/view.php?id=1181217

เมืองพัทยา

       ที่มาของการจัดตั้งเมืองพัทยาเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ
       ในทางการบริหารแล้ว “เมืองพัทยา” คือ หน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ที่จัดตั้งโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2521 โดยการยุบเลิกสุขาภิบาลนาเกลือ ซึ่งเจตนารมณ์ในการจัดตั้งเมืองพัทยาให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษของรัฐบาลสมัยนั้น ก็เพื่อทดลองนำเอาระบบการจัดการปกครองแบบผู้จัดการเมือง (City Manager) หรือที่เรียกกันว่า รูปแบบสภา-ผู้จัดการ ที่เทศบาลหลายแห่งในประเทศสหรัฐอเมริกาใช้อยู่นำมาทดลองใช้ในประเทศไทย โดยหากเป็นไปตามระบบของประเทศสหรัฐอเมริกานั้น จะต้องมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น (local council) และส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้จัดหาว่าจ้างผู้ที่มีความเหมาะสมมาเป็นผู้จัดการเมือง กล่าวคือ สภาเป็นผู้ว่าจ้างผู้จัดการซึ่งจะอยู่ในวาระที่กำหนด เช่น 2 ปี หรือ 4 ปี รูปแบบนี้ผู้บริหารมาจากการว่าจ้าง เพื่อให้ได้ผู้บริหารมืออาชีพและปลอดจากการเมือง
       เมืองพัทยาตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2521
       1) โครงสร้างการบริหารงานภายใน
การจัดโครงสร้างการบริหารงานภายในของเมืองพัทยาตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2521 แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ สภาเมืองพัทยาและปลัดเมืองพัทยา มีรายละเอียด ดังนี้
       1) สภาเมืองพัทยา ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติมีสมาชิก 17 คน ประกอบด้วย สมาชิกที่มาจาก 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่หนึ่ง เป็นสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จำนวน 9 คน และประเภทที่สอง เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จำนวน 8 คน โดยสมาชิกทั้งสองประเภทจะอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี ทั้งนี้ ภายหลังจากการเลือกตั้ง สภาเมืองพัทยาจะเลือกสมาชิกคนหนึ่งขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นนายกเมืองพัทยาและเป็นประธานสภาเมืองพัทยาในเวลาเดียวกัน โดยนายกเมืองพัทยามีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปีแต่อาจได้รับเลือกใหม่ได้ โดยสภาเมืองพัทยามีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
- วางนโยบายและอนุมัติแผน เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารกิจการเมืองพัทยา
- พิจารณาและอนุมัติร่างข้อบัญญัติ
- แต่งตั้งบุคคลซึ่งเป็นสมาชิกหรือมิได้เป็นสมาชิกเป็นคณะกรรมการวิสามัญเพื่อกระทำกิจการหรือพิจารณาสอบสวนหรือศึกษาเรื่องใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภาเมืองพัทยา แล้วรายงานต่อสภาหรือเพื่อให้คำแนะนำแก่สภาเมืองพัทยาหรือปลัดเมืองพัทยา แล้วแต่กรณี
       (2) ปลัดเมืองพัทยา ในการบริหารกิจการของเมืองพัทยา มีปลัดเมืองพัทยาเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งมาจากการว่าจ้างของสภาเมืองพัทยา (และอาจจะมีรองปลัดเมืองพัทยาจำนวนไม่เกิน 2 คนเข้ามาทำหน้าที่ช่วยปลัดเมืองพัทยาด้วยก็ได้) โดยอายุในการจ้างปลัดเมืองพัทยามีคราวละ 4 ปี สำหรับผู้ที่จะสามารถได้รับการว่าจ้างให้มาเป็นปลัดเมืองพัทยาและรองปลัดเมืองพัทยานี้จะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยตามกฎหมาย มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ และมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
       หนึ่ง ถ้าเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ต้องเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับ 6 หรือเทียบเท่าตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน หรือกฎหมายว่าด้วยระเบียบพนักงานส่วนท้องถิ่นแล้วแต่กรณี มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี สอง ถ้าเป็นพนักงานในองค์การของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ต้องเคยดำรงตำแหน่งซึ่งมีอัตราเงินเดือนไม่ต่ำกว่าระดับ 6 ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และสาม เคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลที่มีพนักงานและลูกจ้างอยู่ในความรับผิดชอบไม่น้อยกว่า 100 คน หรือมีทุนชำระแล้วไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท หรือมีเงินทุนหมุนเวียนอยู่ในความรับผิดชอบไม่น้อยกว่าห้าสิบล้านบาทมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
       ทั้งนี้ อำนาจหน้าที่ของปลัดเมืองพัทยานั้น ประกอบด้วย
- ร่างแผนเพื่อเสนอสภาเมืองพัทยา
- บริหารกิจการตามนโยบายและแผนของสภาเมืองพัทยา
- ร่างข้อบัญญัติงบประมาณและข้อบัญญัติอื่นเพื่อเสนอต่อสภาเมืองพัทยา
- ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับของกระทรวงมหาดไทย และข้อบัญญัติ
- รวบรวมปัญหาในการบริหารราชการเมืองพัทยา พร้อมด้วยข้อเสนอแนะเพื่อเสนอสภาเมืองพัทยา
- รายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีของเมืองพัทยาต่อสภาเมืองพัทยา
- ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่ได้บัญญัติตามกฎหมาย
       2) อำนาจหน้าที่ของเมืองพัทยา
ตามมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2521 ได้กำหนดให้เมืองพัทยามีอำนาจหน้าที่ดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) การรักษาความสงบเรียบร้อย
(2) การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
(3) การวางผังเมืองและการควบคุมการก่อสร้าง
(4) การจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและการปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรม
(5) การรักษาความสะอาดของถนน ทางเดิน และที่สาธารณะ
(6) การกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
(7) การจัดให้มีน้ำสะอาดหรือการประปา
(8) การจัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ และที่จอดรถ
(9) การควบคุมอนามัยในร้านจำหน่ายอาหาร โรงมหรสพ และสถานบริการอื่น
(10) การควบคุมและส่งเสริมกิจการท่องเที่ยว
(11) หน้าที่อื่นตามที่กฎหมายระบุเป็นหน้าที่ของเทศบาลนคร หรือของเมืองพัทยา
       3) การบริหารการเงินและงบประมาณ
ในการอธิบายเกี่ยวกับระบบการบริหารการเงินและงบประมาณของเมืองพัทยานี้ จะแบ่งการอธิบายออกเป็น 2 ส่วน คือ รายได้ และรายจ่าย ดังนี้
(1) รายได้ของเมืองพัทยา ที่มาของรายได้ของเมืองพัทยานั้นมาจากแหล่งที่มาหลัก ๆ ได้แก่ หนึ่ง รายได้ที่เมืองพัทยาจัดเก็บเอง ประกอบด้วย ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย อากรฆ่าสัตว์และผลประโยชน์อื่นเนื่องในการฆ่าสัตว์ ภาษีน้ำมัน และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่กฎหมายระบุให้เป็นอำนาจหน้าที่ของเทศบาล สอง เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้
(2) รายจ่ายของเมืองพัทยา ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2521 ได้กำหนดให้การจ่ายเงินของเมืองพัทยาต้องเป็นไปตามข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมเท่านั้น โดยเมืองพัทยาอาจมีรายจ่ายดังต่อไปนี้
- เงินเดือน
- ค่าจ้างประจำ
- ค่าจ้างชั่วคราว
- ค่าตอบแทน
- ค่าใช้สอย
- ค่าวัสดุ
- ค่าครุภัณฑ์
- ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง
- เงินอุดหนุน
- รายจ่ายตามข้อผูกพัน
- รายจ่ายอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ หรือที่ระเบียบกระทรวงมหาดไทยหรือข้อบัญญัติกำหนด
       4) การบริหารงานบุคคล
ระบบการบริหารงานบุคคลของเมืองพัทยานั้น เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในเมืองพัทยาเรียกว่า “พนักงานเมืองพัทยา” มีสายการบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อปลัดเมืองพัทยา ทั้งนี้ ระเบียบพนักงานเมืองพัทยาจะเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบพนักงานเทศบาล โดยถือว่าเมืองพัทยามีฐานะเทียบเท่าเทศบาลนคร และปลัดเมืองพัทยามีอำนาจบังคับบัญชาเทียบเท่านายกเทศมนตรี
ทั้งนี้ พนักงานเมืองพัทยาจะอยู่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการพนักงานเทศบาล (ก.ท.) ซึ่งมีคณะอนุกรรมการวิสามัญ อีก 2 คณะได้แก่ หนึ่ง คณะอนุกรรมการ (อ.ก.ท.) วิสามัญ พิจารณาวินัย การออกจากราชการ การอุทธรณ์และการร้องทุกข์ของพนักงานเทศบาล และพนักงานเมืองพัทยา ประกอบด้วยอนุกรรมการ 19 คน ซึ่งมีตัวแทนจากราชการส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่นและสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสอง คณะอนุกรรมการ (อ.ก.ท.) วิสามัญ พิจารณากำหนดตำแหน่งและอัตราเงินเดือน การบรรจุ การแต่งตั้ง การโอน การเลื่อนระดับ การเลื่อนขั้นเงินเดือน การเปลี่ยนสายงานและการต่ออายุราชการของพนักงานเทศบาลและพนักงานเมืองพัทยา ประกอบด้วยอนุกรรมการ 15 คน ซึ่งมีตัวแทนจากราชการส่วนกลางและสมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ในระดับจังหวัด พนักงานเทศบาลยังอยู่ภายใต้การดูแลของคณะอนุกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดชลบุรี (อ.ก.ท.จังหวัดชลบุรี) อีกด้วย
      5) สภาพปัญหาในการบริหารเมืองพัทยาตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2521
การบริหารเมืองพัทยาในรูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษระบบสภา - ผู้จัดการเมืองนี้ประสบกับปัญหาหลายประการ ได้แก่
(1) ปัญหาด้านความขัดแย้งระหว่างฝ่ายการเมือง (สภา) กับฝ่ายบริหาร กล่าวคือ ตำแหน่งนายกเมืองพัทยาก็คือประธานสภา อันเป็นตำแหน่งทางฝ่ายสภามิใช่ฝ่ายบริหาร ในขณะที่ปลัดเมืองพัทยานั้นโดยแท้จริงเป็นฝ่ายบริหาร เมื่อเป็นเช่นนี้ ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้นในการบริหารงานของเมืองพัทยาว่าใครเป็นผู้บริหารเมืองพัทยา
(2) ปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถมาดำรงตำแหน่งปลัดเมืองพัทยา ในระยะที่มีการริเริ่มนำเอาระบบการปกครองแบบสภา - ผู้จัดการเมืองเข้ามาทดลองใช้ในเมืองพัทยานั้น มีวัตถุประสงค์ให้ท้องถิ่นมีผู้บริหารที่เป็นมืออาชีพและมีเสถียรภาพพอสมควรในการดำรงตำแหน่ง อีกทั้งได้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถมาทำงานให้กับหน่วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยเฉพาะ แต่ในทางปฏิบัติแล้วโดยมากจะประสบกับปัญหาการขาดแคลนบุคคลที่มีคุณสมบัติดังกล่าวเข้ามาทำหน้าที่บริหารเมืองพัทยาอย่างมีประสิทธิภาพ
(3) ปัญหาเกี่ยวกับความไม่เหมาะสมของขนาดพื้นที่เมืองพัทยา โดยทั่วไปการปกครองท้องถิ่นรูปแบบสภา - ผู้จัดการเมือง (City - Manager) นั้น เป็นรูปแบบที่ใช้บริหารในพื้นที่ที่มีขนาดเล็กหรือขนาดปานกลาง แต่ในกรณีของเมืองพัทยาซึ่งนับว่าเป็น “เทศบาลนคร” อีกแห่งหนึ่ง จึงนับว่าเป็นพื้นที่ที่ขนาดใหญ่จนเกินการบริหารในรูปแบบดังกล่าวนี้ที่จะสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(4) การบริหารของเมืองพัทยามิได้ใช้รูปแบบของสภา - ผู้จัดการเมืองอย่างเต็มรูปแบบ กล่าวคือ การบริหารรูปแบบดังกล่าวในสหรัฐอเมริกาสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ในขณะที่ระบบแบบที่ใช้ในเมืองพัทยานั้น สภามาจากการเลือกตั้งกึ่งหนึ่ง (9 คน) ส่วนอีกกึ่งหนึ่ง (8 คน) มาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ด้วยเหตุนี้ จึงส่งผลให้สภาของเมืองพัทยาไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ เพราะถูกครอบงำจากส่วนอื่นที่ทำหน้าที่กำกับดูแล
       โครงสร้างเมืองพัทยาตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542
       1) โครงสร้างการบริหารงานภายใน
ในปี พ.ศ. 2542 ได้มีการจัดโครงสร้างการบริหารเมืองพัทยาใหม่ โดยการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 เป็นการปรับเปลี่ยนกฎหมายเมืองพัทยาให้เป็นไปตามกรอบกติกาของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยาฉบับนี้ ได้กำหนดรูปแบบโครงสร้างแตกต่างไปจากเดิมหลายประการ โดยโครงสร้างภายในของเมืองพัทยารูปแบบใหม่ ประกอบด้วย
       (1) สภาเมืองพัทยา ประกอบด้วย สมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเมืองพัทยา จำนวน 24 คน อยู่ในวาระคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง และให้สภาเมืองพัทยาเลือกสมาชิกเป็นประธานสภา 1 คน และรองประธานสภา 2 คน มีหน้าที่ดำเนินการประชุมและดำเนินกิจการอื่นให้เป็นไปตามข้อบังคับเมืองพัทยา (มาตรา 26-27) นอกจากนี้ ยังมีปลัดเมืองพัทยาให้ทำหน้าที่เลขานุการสภาเมืองพัทยา มีหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการ และการจัดประชุมและงานอื่นใดตามที่สภาเมืองพัทยามอบหมาย
        (2) นายกเมืองพัทยา สำหรับผู้บริหารเมืองพัทยาได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งใช้รูปแบบผู้จัดการเมืองกลายมาเป็นรูปแบบใหม่ที่คล้ายคลึงกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวคือ นายกเมืองพัทยาจะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเมืองพัทยา โดยหลักเกณฑ์และวิธีการสมัครรับเลือกตั้งและการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา จะเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น โดยนายกเมืองพัทยาจะมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง และจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้ และสามารถแต่งตั้งรองนายกเมืองพัทยาเพื่อช่วยเหลือในการบริหารราชการเมืองพัทยาได้จำนวนไม่เกิน 4 คน
ทั้งนี้ คุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเมืองพัทยา ประกอบด้วย
- มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
- มีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง
- สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
- มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเมืองพัทยาเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง หรือเป็นผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเมืองพัทยาในวันสมัครรับเลือกตั้งและได้เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดิน หรือกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่ ให้เมืองพัทยาในปีที่สมัครหรือในปีก่อนปีที่สมัคร 1 ปี โดยนายกเมืองพัทยามีอำนาจหน้าที่ (มาตรา 48) ดังต่อไปนี้
- กำหนดนโยบายและรับผิดชอบในการบริหารราชการของเมืองพัทยาให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบัญญัติ และนโยบาย
- สั่ง อนุญาต และอนุมัติเกี่ยวกับราชการของเมืองพัทยา
- แต่งตั้งและถอดถอนรองนายกเมืองพัทยา เลขานุการนายกเมืองพัทยา ผู้ช่วยเลขานุการนายกเมืองพัทยา ประธานที่ปรึกษา ที่ปรึกษาหรือคณะที่ปรึกษา
- วางระเบียบเพื่อให้งานของเมืองพัทยาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
- ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย หรือตามที่กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายกเมืองพัทยาหรือนายกเทศนตรีหรือคณะเทศมนตรี
ในส่วนของฝ่ายบริหารนี้ก็ยังมีการจัดแบ่งส่วนราชการของเมืองพัทยา (มาตรา 54-56) ออกเป็น
(1) สำนักปลัดเมืองพัทยา ซึ่งมีปลัดเมืองพัทยาเป็นหัวหน้า ทำหน้าที่เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานเมืองพัทยาและลูกจ้างเมืองพัทยาจากนายกเมืองพัทยา และรับผิดชอบควบคุมดูแลราชการประจำของเมืองพัทยาให้เป็นไปตามนโยบาย และมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนดหรือตามที่นายกเมืองพัทยามอบหมาย
(2) ส่วนราชการอื่น ตามที่นายกเมืองพัทยาประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงมหาดไทย
2) อำนาจหน้าที่ของเมืองพัทยา
ตามมาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 กำหนดให้เมืองพัทยามีอำนาจหน้าที่ในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) การรักษาความสงบเรียบร้อย
(2) การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
(3) การคุ้มครองและดูแลรักษาทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
(4) การวางผังเมืองและการควบคุมการก่อสร้าง
(5) การจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและการปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรม
(6) การจัดการจราจร
(7) การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง
(8) การกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล และการบำบัดน้ำเสีย
(9) การจัดให้มีน้ำสะอาดหรือการประปา
(10) การจัดให้มีการควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ และที่จอดรถ
(11) การควบคุมอนามัยและความปลอดภัยในร้านจำหน่ายอาหาร โรงมหรสพ และสถานบริการอื่น
(12) การควบคุมและส่งเสริมกิจการท่องเที่ยว
(13) การบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
(14) อำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นของเทศบาลนครหรือของเมืองพัทยา
3) การบริหารงานบุคคล
ระบบการบริหารงานบุคคลของเมืองพัทยานั้น เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในเมืองพัทยาเรียกว่า “พนักงานเมืองพัทยา” มีสายการบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อปลัดเมืองพัทยา ทั้งนี้ ระเบียบพนักงานเมืองพัทยาจะเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบพนักงานเทศบาล โดยถือว่าเมืองพัทยามีฐานะเทียบเท่าเทศบาลนคร และปลัดเมืองพัทยามีอำนาจบังคับบัญชาเทียบเท่านายกเทศมนตรี
องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องการบริหารงานบุคคลของเมืองพัทยา เรียกว่า “คณะกรรมการพนักงานเมืองพัทยา” ประกอบด้วย
(1) ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีเป็นประธาน
(2) นายอำเภอหรือหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดชลบุรีจำนวน 3 คน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีประกาศกำหนดว่าเป็นส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
(3) ผู้แทนเมืองพัทยาจำนวน 4 คน ประกอบด้วย นายกเมืองพัทยา สมาชิกสภาเมืองพัทยาซึ่งสภาเมืองพัทยาคัดเลือกจำนวน 1 คน ปลัดเมืองพัทยา และผู้แทนพนักงานเมืองพัทยาซึ่งคัดเลือกกันเองจำนวนหนึ่งคน
(4) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 4 คน ซึ่งคัดจากบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านการบริหารงานท้องถิ่น ด้านการบริหารงานบุคคล ด้านระบบราชการ ด้านการบริหารการจัดการหรือด้านอื่นที่จะเป็นประโยชน์แก่การบริหารงานบุคคลของเมืองพัทยา


ที่มา; http://thaipoliticsgovernment.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2

กรุงเทพมหานคร

       คำว่า กรุงเทพมหานคร แปลว่า "พระนครอันกว้างใหญ่ ดุจเทพนคร" มาจากชื่อเต็มว่า กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์
       กรุงเทพมหานครมีบทบาทและความสำคัญทั้งในฐานะเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยและเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่แตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศ ความเป็นรูปแบบพิเศษของกรุงเทพมหานคร ดังเห็นจากการมีพระราชบัญญัติเฉพาะองค์การ นั่นคือ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 นอกจากนี้รูปแบบการบริหารกรุงเทพมหานครยังเป็นระบบชั้นเดียว หมายถึง กรุงเทพมหานครเป็นองค์กรเดียวที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่กรุงเทพมหานครทั้งหมด ในขณะที่พื้นที่จังหวัดอื่น ๆ มีระบบการปกครองท้องถิ่นเป็นสองชั้น คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดในระดับบน ส่วนเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลในระดับล่าง
       กรุงเทพมหานครได้รับการสถาปนาเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2325 และมีการเปลี่ยนแปลงจากชุมชนขนาดเล็กริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามาเป็นมหานครที่ครอบคลุมพื้นที่ 1,568.74 ตารางกิโลเมตร มีประชากรตามทะเบียนราษฎร 5,710,883 คน (พ.ศ. 2551) และมีลักษณะเป็นเมืองเอกนคร หรือ เมืองโตเดี่ยว (Primate City) ซึ่งหมายถึง เมืองที่เป็นศูนย์กลางการพัฒนาจนทำให้มีการเติบโตเหนือเมืองอื่น ๆ คาดการณ์ว่ารวมประชากรแฝงของกรุงเทพมหานครมีประชากรราว 10 ล้านคน การขยายตัวอย่างรวดเร็วและความสำคัญของกรุงเทพมหานครในฐานะเมืองหลวงส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารกรุงเทพมหานครอยู่ตลอดเวลา จากเดิมการบริหารกรุงเทพมหานครอยู่ในความรับผิดชอบของกรมเวียง ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นกระทรวงเมืองและกระทรวงนครบาล ตามลำดับ และต่อมามีการจัดตั้งสุขาภิบาลกรุงเทพในสมัยรัชกาลที่ 5 ในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 ทำให้มีการจัดตั้งเทศบาลนครกรุงเทพขึ้น และได้พัฒนาเป็นเทศบาลนครหลวงกรุงเทพธนบุรี และสุดท้ายจัดตั้งเป็นกรุงเทพมหานครในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ
       ประวัติและพัฒนาการของกรุงเทพมาหนคร
       1) กรุงเทพมหานครช่วง พ.ศ. 2325 - 2514
กรุงเทพมหานครเดิมเรียกว่า “เมืองบางกอก” ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเมืองหลวงเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งพระองค์ท่านได้ทรงมีพระราชดำริว่ากรุงธนบุรีตั้งอยู่ในที่คับแคบ ไม่ต้องด้วยหลักพิชัยสงคราม ต่างกับกรุงเทพมหานคร ที่มีลักษณะพื้นที่อันเป็นที่เหมาะสมด้วยจุดยุทธศาสตร์ จึงทรงตัดสินพระทัยโปรดเกล้าฯ สถาปนากรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวงของประเทศ พระราชทานนามว่า “กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทราอยุธยา มหาดิลก ภพนพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์ มหาสถาน อมรพิมาน อวตารสถิต สักกะ ทัตติยะ วิษณุกรรมประสิทธิ์” เพื่อเป็นมงคลนามนับแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งแต่เดิมนั้น ใช้คำว่า “บวรรัตนโกสินทร์” แต่มาเปลี่ยนนามพระนครในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็น “อมรรัตนโกสินทร์” แทน
       รูปแบบการปกครองในสมัยแรกนั้น กรุงเทพมหานครมีฐานะเป็นเมืองหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกรมเวียง มีเสนาบดีกรมเวียงเป็นหัวหน้า ดูแลรับผิดชอบ พอมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อารยธรรมตะวันตกเริ่มแพร่เข้ามาในราชอาณาจักรมากขึ้น พระองค์ทรงมีพระราชดำริที่จะให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการปกครอง จึงทรงให้ทดลองนำเอาระบบคณะกรรมการมาใช้กับรูปแบบการปกครองเมืองหลวงอยู่ชั่วขณะหนึ่ง แต่ขณะนั้นประชาชนของพระองค์ยังไม่พร้อมและสุดท้ายไม่ประสบความสำเร็จ จึงโปรดให้ยกเลิกและเปลี่ยนฐานะของกรมเวียงมาเป็นกระทรวงเมืองแทน ต่อมาได้เปลี่ยนจากกระทรวงเมืองมาเป็นกระทรวงนครบาล
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงนครบาลมารวมกับกระทรวงมหาดไทย และมีการแต่งตั้งตำแหน่งสมุหพระนครบาล โดยมีหน้าที่ปกครองดูแลรับผิดชอบมณฑลกรุงเทพโดยเฉพาะ และมณฑลกรุงเทพขณะนั้นประกอบด้วยจังหวัดพระนคร ธนบุรี นนทบุรี และสมุทรปราการ ซึ่งต่อมาพระองค์ได้ทรงให้มีการวมมณฑลหลาย ๆ มณฑลเข้าเป็นภาค มีอุปราชทำหน้าที่ตรวจตราเหนือสมุหเทศาภิบาล เป็นตำแหน่งที่ขึ้นตรงกับกษัตริย์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศยกเลิกตำแหน่งอุปราช เมื่อปี พ.ศ. 2468 ทำให้มีผลยกเลิกการแบ่งภาคไปโดยอัตโนมัติ และได้ทรงประกาศยุบและรวมการปกครองมณฑลต่างๆ
ระบบการปกครองของจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี มีฐานะเป็นหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาค นับตั้งแต่ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2476 และการจัดรูปแบบการปกครองภายในจังหวัดพระนคร และจังหวัดธนบุรี ได้จัดขึ้นตามความในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2476 กล่าวคือ มีอำเภอเป็นหน่วยการปกครองย่อยของจังหวัด
หลังมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 ต่อมาได้มีการจัดตั้งเทศบาลนครกรุงเทพมหานครในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2480 และเปิดดำเนินงานในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2480 เช่นเดียวกับจังหวัดธนบุรีก็มีการจัดตั้งเทศบาลนครธนบุรี เทศบาลนครกรุงเทพฯ ขณะนั้นมีฐานะเป็นนิติบุคคล หลังจากมีการขยายพื้นที่ในปี พ.ศ. 2497 และในปี พ.ศ. 2514 ก่อนที่จะมีการรวมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีเข้าด้วยกัน สิ่งที่เป็นลักษณะเด่นให้จังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีแตกต่างจากจังหวัดอื่น ๆ คือ เป็นที่ตั้งของราชการส่วนกลาง และประชาชนทั้งสองจังหวัดมีความผูกพันต่อกันในการใช้ชีวิตประจำวันเหมือนอยู่ในจังหวัดเดียวกันตลอดมา จึงทำให้มีผลต่อการรวมทั้งสองจังหวัดในเวลาต่อมา
       2) กรุงเทพมหานครช่วงประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 (พ.ศ. 2514 - 2515)
เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2514 ในระหว่างที่คณะปฏิวัติทำหน้าที่บริหารประเทศ ได้มีประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 24 และ 25 ให้ปรับปรุงระบบการปกครองจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี โดยสาระสำคัญของประกาศคณะปฏิวัติดังกล่าว คือ มีการรวมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีเข้าเป็นจังหวัดเดียวกัน เรียกว่า “จังหวัดนครหลวงกรุงเทพธนบุรี” และเมื่อรวมกันแล้วสภาพของนครหลวงกรุงเทพธนบุรียังคงมีรูปแบบการปกครองและการบริหารราชการส่วนภูมิภาคอยู่เช่นเดิม มีผู้ว่าราชการจังหวัด เรียกว่า “ผู้ว่าราชการจังหวัดนครหลวงกรุงเทพธนบุรี” มีรองผู้ว่าราชการจังหวัด 2 คน และรวมองค์การบริหารส่วนจังหวัด 2 องค์การเข้าด้วยกันเป็น “องค์การบริหารนครหลวงกรุงเทพธนบุรี” มีสภาจังหวัดเรียกว่า “สภานครหลวงกรุงเทพธนบุรี” และรวมเทศบาลทั้งสองเข้าด้วยกัน เป็น “เทศบาลนครหลวง” ประกอบด้วย “สภาเทศบาลนครหลวง” และ “เทศมนตรี” ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้ง มีจำนวนสมาชิกสภาเทศบาลนครหลวงไม่เกิน 36 คน และมีเทศมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 8 คน โดยมีผู้ว่าราชการนครหลวงกรุงเทพธนบุรีเป็นนายกเทศมนตรีนครหลวงโดยตำแหน่งและเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารงาน
อีก 1 ปีต่อมา คือปี พ.ศ. 2515 ได้มีประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 335 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ปรับปรุงการบริหารนครหลวงกรุงเทพธนบุรีและเทศบาลนครหลวงใหม่กลายเป็นรูปแบบการบริหารและการปกครองที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากจังหวัดอื่น ๆ ของประเทศไทย จากเทศบาลเป็นองค์การบริหารใหม่เรียกว่า “กรุงเทพมหานคร” โดยให้เป็นชื่อเดียวกันกับนครหลวง และให้สามารถบริหารจัดการภายในพื้นที่ทั้งจังหวัดได้ด้วยตนเอง มีผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้ง อีกทั้งให้มีสภากรุงเทพมหานคร สภาเขต มาจากการแต่งตั้งเช่นเดียวกัน เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจระหว่างกัน
       การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถือเป็นการรวมราชการบริหารส่วนภูมิภาค คือ จังหวัดนครหลวงกรุงเทพธนบุรี และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น คือ เทศบาลนครหลวง องค์การบริหารนครหลวงกรุงเทพธนบุรี สุขาภิบาลในเขตนครหลวง กรุงเทพธนบุรี รวมเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดียวกัน
ดังนั้น ตามผลของประกาศคณะปฏิวัติที่ 335 จึงมีผลให้กรุงเทพมหานครมีความชัดเจนของการเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ที่มีลักษณะเป็นสากลมากยิ่งขึ้นในการบริหารเมืองหลวง และมีการกระจายอำนาจการบริหารออกไปยังระดับต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร อย่างกรณีของสำนักงานเขต รวมทั้งการมีสภากรุงเทพมหานครเป็นฝ่ายนิติบัญญัติทำหน้าที่ตรวจสอบกรวมทั้งทำงานของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพร้อมกันไปด้วย อย่างไรก็ดี ต้องปฏิบัติหน้าที่ภายใต้การควบคุมดูแลของราชการส่วนกลาง
       3) กรุงเทพมหานครช่วงพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518
หลังจากที่มีการรวมเป็นเขตการบริหารราชการรูปแบบเดียว คือ กรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2515 แล้ว รูปแบบการบริหารกรุงเทพมหานครยังมีการปรับเปลี่ยนอีกครั้ง
ด้วยเหตุการณ์อันไม่สงบเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ส่งผลให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 ประกาศขึ้นใช้โดยมี มาตรา 16 บัญญัติว่า การปกครองท้องถิ่นทุกระดับ รวมทั้งนครหลวง ให้มีสภาท้องถิ่น และผู้บริหาร หรือคณะผู้บริหารปกครองท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในท้องถิ่นนั้น นั่นคือ ทำให้กรุงเทพมหานครจะต้องเปลี่ยนแปลงตามคำสั่งดังกล่าวด้วย
การตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 ได้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานครขึ้นมาครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2518 ทำให้ได้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่มาจากการเลือกตั้งคนแรก คือ นายธรรมนูญ เทียนเงิน แต่การเลือกตั้งครั้งนั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและคณะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งจนครบวาระ 4 ปี ทั้งนี้เพราะเกิดการขัดแย้งกันอย่างรุนแรง จึงทำให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสภากรุงเทพมหานคร ต้องพ้นจากตำแหน่ง และต่อมาได้มีการแบ่งส่วนราชการตามพื้นที่ออกเป็น 24 เขต
ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 ฉบับนี้ ได้กำหนดฐานะและรูปการปกครองการบริหารของกรุงเทพมหานคร แตกต่างไปจากประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 หลายประการ กล่าวคือ กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้กรุงเทพมหานครเป็นทบวงการเมือง มีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นนครหลวง ฉะนั้น กรุงเทพมหานครจึงมีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น
       4) กรุงเทพมหานครช่วงพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528
หลังจากกรุงเทพมหานครมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยตรงจากประชาชนตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 และบริหารงานได้เพียงปีเศษ ได้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงทั้งในฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียหายแก่ราชการกรุงเทพมหานคร นายกรัฐมนตรี นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้มีคำสั่งตามมาตรา 21 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2519 ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพ้นจากตำแหน่งและให้ยุบสภากรุงเทพมหานคร และแต่งตั้งบุคคลภายนอกเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานครแทนเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2528
เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2528 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 โดยยกเลิกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 ซึ่งทำให้กรุงเทพมหานครมีอิสระในการบริหารมากขึ้น และสาระสำคัญที่มีการเปลี่ยนแปลงตามพระราชบัญญัติฉบับใหม่ที่แตกต่างไปจากฉบับเดิมในบางประการมีดังต่อไปนี้
ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและให้ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่า ราชการกรุงเทพมหานคร ไปพิจารณาแต่งตั้งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ 4 คน แทนการเลือกตั้ง
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นคณะ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในคณะผู้บริหารดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
ไม่มีการลงประชามติให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพ้นจากตำแหน่ง
การยุบสภากรุงเทพมหานคร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจยุบสภากรุงเทพมหานครได้ เมื่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยื่นข้อเสนอพร้อมเหตุผลให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยุบสภา
ถ้ามีการยุบสภากรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต้องพ้นจากตำแหน่งด้วย
มีสภาเขตทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาผู้อำนวยการเขต
กรุงเทพมหานครมีอำนาจออกข้อบัญญัติเกี่ยวกับการคลังและการรักษาทรัพย์สินของกรุงเทพมหานครแทนการใช้ระเบียบของกระทรวงมหาดไทย รวมถึงการมีอำนาจสั่งยึดและสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ที่ค้างชำระภาษีไม่ต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่ง เป็นต้น
ให้ข้าราชการกรุงเทพมหานครบางตำแหน่ง และข้าราชการที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่สำหรับปฏิบัติหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มีกิจการในอำนาจหน้าที่เพิ่มขึ้น เช่น การทะเบียนตามที่กฎหมายกำหนด การผังเมือง การขนส่ง การควบคุมอาคาร การควบคุมความปลอดภัย ความเป็นระเบียบเรียบร้อยและอนามัยในสาธารณสถานอื่น ๆ เป็นต้น
สามารถตั้งสหการ เพื่อดำเนินกิจการในอำนาจหน้าที่ได้
ในเนื้อหาสาระของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 กับ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มีส่วนที่คล้ายคลึงกัน แต่ได้ปรับปรุงถ้อยคำและเพิ่มแนวความคิดใหม่ ๆ ในสาระสำคัญหลายประการ เพื่อให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นสากลมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่อแก้ไขอุปสรรคข้อขัดข้องในการบริหารราชการกรุงเทพมหานครในขณะนั้น
พระราชบัญญัติฉบับนี้ เป็นพระราชบัญญัติที่กรุงเทพมหานครยังคงยึดเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน ณ ปัจจุบัน ซึ่งได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรวมทั้งสิ้น 5 ฉบับด้วยกัน คือ 1) พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 2) พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534 3) พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2539 4) พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2542 และ 5) พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2550
       เนื่องด้วย สภาพการณ์ในแต่ละช่วงเวลานั้น ได้มีการเปลี่ยนแปลงจึงทำให้ต้องปรับเปลี่ยนข้อกฎหมายบางประการให้สอดรับการสภาพความเป็นจริงของเหตุการณ์ ณ ช่วงเวลานั้นๆ ด้วยสภาพการเป็นศูนย์กลางและศูนย์รวมของความเจริญในด้านต่าง ๆ และทำให้การมองภาพของประเทศไทย นั่นคือ กรุงเทพมหานคร ที่ทำให้เกิดการหลั่งไหลความเจริญต่าง ๆ ให้เข้ามาสู่กรุงเทพมหานคร รวมถึงทางด้านการเมืองที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่การเลือกตั้งในกรุงเทพมหานครกับระดับประเทศ รวมถึงการบริหารงานของรัฐบาลเป็นอย่างมาก จึงทำให้กรุงเทพมหานครมีลักษณะโดดเด่นกว่าการบริหารงานในรูปแบบอื่นของประเทศ

ที่มา;http://thaipoliticsgovernment.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A3

องค์การบริหารส่วนจังหวัด

ประวัติความเป็นมาขององค์การบริหารส่วนจังหวัด
                องค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ถูกจัดตั้งขึ้นทุกจังหวัด เมื่อ พ.ศ. 2498 โดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. 2498 เพื่อทำหน้าที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย สภาจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัด โดยสภาจังหวัดประกอบด้วยสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำหน้าที่ทางนิติบัญญัติ กำหนดนโยบายการบริหารและควบคุมฝ่ายบริหาร อันมีหัวหน้าฝ่ายบริหาร คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารงาน ด้วยการนำมติหรือนโยบายของสภาจังหวัดไปพิจารณาดำเนินการ โดยมีพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนจังหวัดได้แก่พื้นที่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ของเทศบาลและสุขาภิบาล
                ต่อมาในปี พ.ศ. 2537 ได้มีพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537  ซึ่งกำหนดให้สภาตำบลซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด  ที่มีรายได้เฉลี่ยย้อนหลัง 3  ปีตั้งแต่  150,000 บาทขึ้นไป  จัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล  มีฐานะเป็นราชการส่วนท้องถิ่น  และเป็นนิติบุคคล  ทำให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดไม่มีพื้นที่ในการดำเนินกิจการ    สมควรปรับปรุงบทบาทและอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดให้สอดคล้องกันและปรับปรุงโครงสร้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัดให้เหมาะสมยิ่งขึ้น  ได้มีการตราพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540  โดยกำหนดให้พื้นที่จังหวัดเป็นพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด  มีผู้บริหารสูงสูด  คือ  ตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด  มาจากการเลือกตั้งของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดโดยความเห็นชอบของสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด   เป็นผู้ปกครองและบังคับบัญชาข้าราชการส่วนจังหวัด  และดำเนินกิจการส่วนจังหวัดควบคู่ไปกับสภาจังหวัด   
การบริหารงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดในปัจจุบันเป็นไปตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติม 2 ครั้ง  คือ ในปี พ.ศ. 2542 และ พ.ศ.2546     กำหนดให้มีหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งเรียกว่า "องค์การบริหารส่วนจังหวัด" โดยอยู่ในทุกจังหวัด ๆ ละ 1 แห่ง รวม 75 แห่ง มีฐานะเป็นนิติบุคคลและมีพื้นที่รับผิดชอบทั่วทั้งจังหวัด โดยทับซ้อนกับพื้นที่ของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่น คือ เทศบาล สุขาภิบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลในจังหวัดนั้น  ความเป็นนิติบุคคลก่อให้เกิดความสามารถในการทำนิติกรรม ความเป็นหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นก่อให้เกิดอำนาจหน้าที่และขอบเขตพื้นที่ในการใช้อำนาจหน้าที่นั้น
                อำนาจและหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด
                ตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540  และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 3 พ.ศ. 2546  องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
                 องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินกิจการภายในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด
(1)  ตราข้อบัญญัติโดยไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมาย
(2)  จัดทำแผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และประสานการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
(3)  สนับสนุนสภาตำบลและราชการส่วนท้องถิ่นอื่นในการพัฒนาท้องถิ่น
(4)  ประสานและให้ความร่วมมือในการปฏิบัติหน้าที่ของสภาตำบลและราชการส่วนท้องถิ่นอื่น
(5) แบ่งสรรเงินซึ่งตามกฎหมายจะต้องแบ่งให้แก่สภาตำบลและราชการส่วนท้องถิ่นอื่น
(6) อำนาจหน้าที่ของจังหวัดตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด  พ.ศ. 2498  เฉพาะภายในเขตสภาตำบล
(7)  คุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติ  และสิ่งแวดล้อม บำรุงรักษาศิลปะจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
(8) จัดทำกิจการใด ๆ  อันเป็นอำนาจหน้าที่ของราชการส่วนท้องถิ่นอื่นที่อยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด และกิจการนั้นเป็นการสมควรให้ราชการส่วนท้องถิ่นอื่น ที่อยู่ร่วมกันดำเนินการหรือให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดดำเนินการ  แต่ทั้งนี้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
(9)จัดทำกิจการอื่นใดตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ทั้งนี้บรรดาอำนาจหน้าที่ใดซึ่งเป็นของราชการส่วนกลาง หรือราชการส่วนภูมิภาค อาจมอบให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดปฏิบัติได้ ทั้งนี้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
          นอกจากนี้ กฎหมายยังได้กำหนดต่อไปอีกด้วยว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดสามารถทำหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเภทอื่น ๆ ได้เช่นกัน  หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ ร้องขอและได้รับความยินยอมจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น  ข้อจำกัดขององค์การบริหารส่วนจังหวัดมิได้มีอยู่แต่ภายในเขตของจังหวัดตนเท่านั้น หากองค์การบริหารส่วนจังหวัดใดได้รับการร้องขอและยินยอมจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดอื่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดที่ได้รับการร้องขอและยินยอมก็สามารถดำเนินการกิจการที่ได้รับการร้องขอได้เช่นกัน
ที่มา; http://www.nakhonsi.go.th/index.php?name=data&file=readdata&id=11

องค์การบริหารส่วนตำบล

       องค์การบริหารส่วนตำบล มีชื่อย่อเป็นทางการว่า อบต. มีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็น ราชการบริหารส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติมจนถึงฉบับที่ 6 พ.ศ. 2552 โดยยกฐานะจากสภาตำบลที่มีรายได้โดยไม่รวมเงินอุดหนุนในปีงบประมาณที่ล่วงมาติดต่อกันสามปีเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท
       รูปแบบองค์การองค์การบริหารส่วนตำบล ประกอบด้วย สภาองค์การบริหารส่วนตำบล และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล
       1.สภาองค์การบริหารส่วนตำบล ประกอบด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวนหมู่บ้านละสองคน ซึ่งเลือกตั้งขึ้นโดยราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละหมู่บ้านในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลนั้น กรณีที่เขตองค์การบริหารส่วนตำบลใดมีเพียงหนึ่งหมู่บ้านให้มีสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวนหกคน และในกรณีมีเพียงสองหมู่บ้านให้มีสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล หมู่บ้านละสามคน
       2.องค์การบริหารส่วนตำบลมีนายกองค์การบริหารส่วนตำบล หนึ่งคน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรง|การเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
       การบริหารกฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการบริหาร อบต. (ม.58) ประกอบด้วยนายกองค์การบริหารส่วนตำบล 1 คน รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล 2 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ผู้บริหารขององค์การบริหารส่วนตำบลหรือผู้บริหารท้องถิ่นเรียกว่านายกองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งมาจากการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรง
       อำนาจหน้าที่ของ อบต.อบต. มีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสภาตำบล และองค์การบริหารส่วน ตำบล พ.ศ. 2537 และ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2542)
1.พัฒนาตำบลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (มาตรา 66)
2.มีหน้าที่ต้องทำตามมาตรา 67 ดังนี้
1.จัดให้มีและบำรุงทางน้ำและทางบก
2.การรักษาความสะอาดของถนน ทางน้ำ ทางเดินและที่สาธารณะ รวมทั้งการกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
3.ป้องกันโรคและระงับโรคติดต่อ
4.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
5.ส่งเสริมการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
6.ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุและพิการ
7.คุ้มครอง ดูแลและบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
8.บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
9.ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ทางราชการมอบหมาย
3.มีหน้าที่ที่อาจทำกิจกรรมในเขต อบต. ตามมาตรา 68 ดังนี้
1.ให้มีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคและการเกษตร
2.ให้มีและบำรุงไฟฟ้าหรือแสงสว่างโดยวิธีอื่น
3.ให้มีและบำรุงรักษาทางระบายน้ำ
4.ให้มีและบำรุงสถานที่ประชุม การกีฬา การพักผ่อนหย่อนใจและสวนสาธารณะ
5.ให้มีและส่งเสริมกลุ่มเกษตรกร และกิจการสหกรณ์
6.ส่งเสริมให้มีอุตสาหกรรมในครอบครัว
7.บำรุงและส่งเสริมการประกอบอาชีพ
8.การคุ้มครองดูแลและรักษาทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
9.หาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของ อบต.
10.ให้มีตลาด ท่าเทียบเรือ และท่าข้าม
11.กิจการเกี่ยวกับการพาณิชย์
12.การท่องเที่ยว
13.การผังเมือง
       อำนาจหน้าที่ตามแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่น พ.ศ. 2542 กำหนดให้ อบต.มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเองตามมาตรา 16 ดังนี้
1.การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง
2.การจัดให้มี และบำรุงรักษาทางบกทางน้ำ และทางระบายน้ำ
3.การจัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้าม และที่จอดรถ
4.การสาธารณูปโภค และการก่อสร้างอื่นๆ
5.การสาธารณูปการ
6.การส่งเสริม การฝึก และการประกอบอาชีพ
7.คุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
8.การส่งเสริมการท่องเที่ยว
9.การจัดการศึกษา
10.การสังคมสงเคราะห์ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก สตรี คนชรา และผู้ด้อยโอกาส
11.การบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
12.การปรับปรุงแหล่งชุมชนแออัด และการจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย
13.การจัดให้มี และบำรุงรักษาสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
14.การส่งเสริมกีฬา
15.การส่งเสริมประชาธิปไตย ความเสมอภาค และสิทธิเสรีภาพของประชาชน
16.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของราษฎรในการพัฒนาท้องถิ่น
17.การรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง
18.การกำจัดมูลฝอย สิ่งปฏิกูล และน้ำเสีย
19.การสาธารณสุข การอนามัยครอบครัว และการรักษาพยาบาล
20.การจัดให้มี และควบคุมสุสาน และฌาปนสถาน
21.การควบคุมการเลี้ยงสัตว์
22.การจัดให้มี และควบคุมการฆ่าสัตว์
23.การรักษาความปลอดภัย ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการอนามัย โรงมหรสพ และสาธารณสถานอื่นๆ
24.การจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
25.การผังเมือง
26.การขนส่ง และการวิศวกรรมจราจร
27.การดูแลรักษาที่สาธารณะ
28.การควบคุมอาคาร
29.การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
30.การรักษาความสงบเรียบร้อย การส่งเสริมและสนับสนุนการป้องกันและรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน
31.กิจอื่นใด ที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

เทศบาล

       เทศบาล เป็นรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งที่ใช้ในประเทศไทยปัจจุบัน การปกครองรูปแบบเทศบาลเป็นการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นดำเนินการปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตย เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเริ่มจากการจัดตั้งสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ.116 (พ.ศ. 2440) โดยมีพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116 ในส่วนภูมิภาค มีการตราพระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาลท่าฉลอม ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) ขึ้นมีวิวัฒนาการเรื่อยมา จนถึงปี พ.ศ. 2475 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้มีการกระจายอำนาจการปกครองที่สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
โดยมีการจัดตั้งเทศบาลขึ้นในปี พ.ศ. 2476 โดยมีการตราพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 มีการยกฐานะสุขาภิบาลขึ้นเป็นเทศบาลหลายแห่ง ต่อมาได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับเทศบาลหลายครั้ง จนในที่สุดได้มีการตราพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ยกเลิกพระราชบัญญัติเดิม ทั้งหมดขณะนี้ยังมีผลบังคับใช้ซึ่งมีการแก้ไขครั้งสุดท้าย โดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2543 ในปัจจุบันเทศบาลทั่วประเทศมีจำนวนประมาณสองพันแห่ง
       4 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 กระทรวงมหาดไทยได้มีการประกาศ กำหนดให้ 24 เมษายน เป็นวันเทศบาล
การปกครองท้องถิ่นได้เริ่มต้นมาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว แต่การปกครองท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นรูปใดก็ยังไม่เข้มแข็งพอแต่พอจะเป็นหลักได้บ้างก็คือการปกครองท้องถิ่นรูปแบบของกรุงเทพมหานครและเทศบาลเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลหลายรัฐบาลได้พยายามที่จะพัฒนารูปแบบให้เหมาะสมกับประเทศไทยอยู่หลายครั้ง โดยมีการทดลองรูปแบบเมืองพัทยาแต่ก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร จึงกลับมาดำเนินการในรูปแบบเทศบาล โดยให้เมืองพัทยาบริหารตามรูปแบบของเทศบาลนคร ในปัจจุบันนี้กฎหมายรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้สามารถรวมการปกครองท้องถิ่นในจังหวัดให้เป็นท้องถิ่นขนาดใหญ่ทั้งจังหวัดได้ดังนี้
       "มาตรา 78 รัฐต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นได้เอง พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่นให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้ เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น"
       ขนาดเทศบาลเทศบาลในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทตามจำนวนประชากรและรายได้ของเทศบาลนั้น ๆ ในพระราชบัญญัติเทศบาล พุทธศักราช 2496 มาตรา 9, 10, 11 ได้กำหนดขนาดเทศบาลดังนี้
       1.มาตรา 9 เทศบาลตำบล ได้แก่ ท้องถิ่นซึ่งมีการประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลตำบล ประกาศกระทรวงมหาดไทยนั้นให้ระบุชื่อและเขตเทศบาลไว้ด้วย
       2.มาตรา 10 เทศบาลเมือง ได้แก่ ท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดหรือท้องถิ่นชุมนุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่ 10,000 คนขึ้นไป ทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำตามพระราชบัญญัตินี้ และซึ่งมีพระราชกฤษฎีกายกฐานะเป็นเทศบาลเมือง พระราชกฤษฎีกานั้นให้ระบุชื่อและเขตของเทศบาลไว้ด้วย
       3.มาตรา 11 เทศบาลนคร ได้แก่ ท้องถิ่นชุมนุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่ 50,000 คนขึ้นไป ทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำตามพระราชบัญญัตินี้ และซึ่งมีพระราชกฤษฎีกายกฐานะเป็นเทศบาลนคร พระราชกฤษฎีกานั้นให้ระบุชื่อและเขตของเทศบาลไว้ด้วย
       สภาเทศบาล
       1.เทศบาลตำบล ประกอบด้วยสมาชิกสภาเทศบาลจำนวน 12 คน
       2.เทศบาลเมือง ประกอบด้วยสมาชิกสภาเทศบาลจำนวน 18 คน
       3.เทศบาลนคร ประกอบด้วยสมาชิกสภาเทศบาลจำนวน 24 คน
ทั้งนี้ สภาเทศบาลประกอบไปด้วยประธานสภาเทศบาลหนึ่งคนและรองประธานสภาเทศบาลสองคน

ที่มา; http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A5

หลักคิดการพัฒนาชุมชน 1

ความหมายของ “ชุมชน” (Community)
       “ชุมชน” เป็นกลุ่มบุคคลที่อาศัยอยู่ตามท้องถิ่นต่าง ๆ อาจเป็นหมู่บ้าน ละแวก หรือย่าน ที่มีวิถีชีวิตเกี่ยวพันกัน มีความเชื่อในระบบคุณค่าบางอย่างสอดคล้องกัน มีการติดต่อสื่อสาร มีความเอื้ออาทร มีการจัดการ มีการเรียนรู้และมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน หรือกลุ่มบุคคลอันเนื่องมา จากการประกอบอาชีพร่วมกัน หรือ การประกอบกิจกรรมร่วมกัน หรือ การมีวัฒนธรรม หรือ ความสนใจร่วมกัน

       ความหมายของ “การพัฒนา” (Development)
       “การพัฒนา” คือ การทำให้ดีขึ้น ให้เจริญขึ้น เป็นการเพิ่มคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ การพัฒนาอาจพัฒนาจากสิ่งที่มีอยู่เดิม หรือ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ก็ได้
ความหมายของ “การพัฒนาชุมชน” (Community Development)
“การพัฒนาชุมชน” เป็นการทำให้กลุ่มคนดีขึ้น เจริญขึ้น ในทุก ๆ ด้าน เช่น ด้านเศรษฐกิจ สังคม การปกครอง วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม เป็นต้น

       ความสำคัญของการพัฒนาชุมชน
       เป้าหมายของการพัฒนาชุมชน คือ “คน” ซึ่งเป็นกลุ่มอันหลากหลาย กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ เป็นหมู่บ้าน เป็นชุมชนเมือง เป้นกลุ่มอาชีพ เป็นกลุ่มกิจกรรม ฯลฯ กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้เป็นรากฐานสำคัญของประเทศ เราเห็นพ้องกันว่าการพัฒนาคน เป็นแนวทางการพัฒนาประเทศที่ถูกต้อง การพัฒนาคนจึงเป็นเป้าหมายของ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๔๐ – ๒๕๔๔) และต่อใน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๙(พ.ศ. ๒๕๔๕ – ๒๕๔๙) รากฐานของประเทศดีขึ้น เจริญขึ้นในทุก ๆ ด้าน ประเทศชาติก็ดีขึ้น เจริญขึ้น เป็นสังคมพัฒนา สังคมพัฒนาดี สมาชิกในสังคมย่อมได้รับผลพวงของการพัฒนา ทุกอย่างมันเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน การเล็งเป้าการพัฒนาไปที่คน ก็คือการเล็งเป้าไปที่ชุมชน จึงเป็นภารกิจของทุกคนที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องร่วมมือกันพัฒนาอย่างจริงจัง รวมทั้งต้องพัฒนาคนเองด้วย เหมือนตนเองเป็นชุมชนหนึ่ง องค์กรทั้งหลายก็ต้องพัฒนาตนเองเช่นเดียวกัน เพราะองค์กรก็มีความเป็นชุมชนด้วย ถ้าเราจินตนาการว่าคนเหมือนเซล (cell) ของประเทศ (ร่างกาย) เซลทุกเซลได้รับการเอาใจใส่ดูแลให้ดี ทำให้พัฒนา ประเทศชาติหรือสังคมไทยเราจะเป็นอย่างไร ลองจินตนาการต่อไป เพราะฉะนั้น เป้าหมายของประเทศ หรือสังคม จึงต้องพัฒนาคนหรือชุมชน

       หลักคิดการพัฒนาในอดีต
       จะขอย้อนทบทวนหลักคิดของการพัฒนาในอดีต ตั้งแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๐๔) เป็นต้นมา เพื่อให้เห็นภาพเส้นทางการพัฒนาประเทศไทยในช่วงเกือบ ๕ ทศวรรษที่ผ่านมา ว่า เราหลงทิศหลงทางกันอย่างไรหรือไม่ เราใช้เวลานานพอสมควร ผลลัพธ์คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปหรือไม่เพียงไร
       แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๐๔ – ๒๕๐๙) ในชื่อแผนมีเฉพาะคำว่า “เศรษฐกิจ” ไม่มีคำว่า “สังคม” เพราะแผนมุ่งเน้นการพัฒนาเฉพาะเศรษฐกิจ เป็นยุคสมัย “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ” แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
       แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๑๐ – ๒๕๑๔) เพิ่มคำว่า “สังคม” ไว้ในแผน เพราะเห็นว่าในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑ ได้ละเลยเรื่องสังคม ทำให้สังคมมีปัญหา
       แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๑๕ – ๒๕๑๙) เป็นการพัฒนาต่อเนื่องจากแผนที่ ๒ ผลการพัฒนาเริ่มมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ (ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการพัฒนาที่ไม่คุ้มค่า)
       แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๐ – ๒๕๒๔) หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ แต่ในทางปฏิบัติยังไม่บังเกิดผล
       แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๒๕ – ๒๕๒๙) เป็นแผนต่อเนื่องจากแผนที่ ๔ เพื่อให้ภาคปฏิบัติบรรลุเป้าหมาย
       แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๓๐ – ๒๕๓๔) เป็นแผนขยายผลแผนที่ ๕ ในทางปฏิบัติ เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจมาก ละเลยเรื่องของสังคม ปัญหาสังคมเริ่มส่งผลรุนแรงและสลับซับซ้อนมากขึ้น ด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ก็มีการทำลายสิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรธรรมชาติไม่คุ้มค่ามากขึ้น (ข้อมูลป่าไม้เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒ พื้นที่ป่าของไทยซึ่งมีอยู่ ๑๐๙.๕ ล้านไร่ หรือร้อยละ ๓๔ ของพื้นที่ประเทศไทยทั้งหมด เหลือไม่ถึง ๙๐ ล้านไร่ หรือไม่ถึงร้อยละ ๒๘ ของพื้นที่ทั้งหมด)
       แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๓๕ – ๒๕๓๙) ได้ปรับแผนโดยเน้นให้เกิดความสมดุลในทุกด้าน และยึดหลักการพัฒนาแบบยั่งยืน แต่ในทางปฏิบัติไม่บรรลุวัตถุประสงค์ และเกิดภาวะ “ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา” (มีความเจริญทางด้านวัตถุแต่ด้านจิตใจตกต่ำ)
       แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๔๐ – ๒๕๔๔) เป็นแผนเน้นการพัฒนา “คน” แต่ในทางปฏิบัติต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ (รัฐบาลในสมัยนั้น – รัฐบาลของ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ประกาศลดค่าเงินบาทเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๐ และเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหลายครั้ง เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ)
       แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๔๕ – ๒๕๔๙) เป็นแผนต่อเนื่องจากแผน ๘ เน้นการปฏิรูปทุกระบบ พลิกวิกฤติเป็นโอกาส เน้นชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก ขณะนี้เข้าสู่ปีที่ ๓ ต้องรอประเมินผลเมื่อสิ้นสุดแผนว่าผลการพัฒนาจะเป็นอย่างไร ในขณะนี้จะเห็นการปฏิรูปหลาย ๆ ระบบ เช่น การเมือง ราชการ เศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย สุขภาพ การศึกษา ทั้งหมดเป้าหมายอยู่ที่คน และเพื่อคน

       ผลผลิต (Output) และผลลัพธ์ (Outcome) ของการพัฒนาในอดีต
       ๑. คน หรือประชาชน ช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑ – ๗ เป็นเวลากว่า ๓๐ ปี ที่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจ แม้จะให้ความสำคัญทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติในช่วงหลัง ๆ แต่จุดเน้นในทางปฏิบัติก็ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้มีผลต่อพฤติกรรม และค่านิยมของประชาชน กล่าวคือ มีพฤติกรรมเลียนแบบตะวันตก ทอด ทิ้งเอกลักษณ์ที่ดีงามของไทยหลายอย่าง และมีค่านิยมให้ความสำคัญกับวัตถุมากกว่าจิตใจ นี่คือผลผลิตที่เป็นคนหรือประชาชน และปัจจุบันคนเหล่านี้กำลังอยู่ในวัยที่เป็นหลัก รับผิดชอบต่อสังคมส่วนใหญ่อยู่ เป็นวัยที่ถ่ายทอดหลักคิด (ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรม) และค่านิยมแก่คนรุ่นต่อไป สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมไทยต่อมา (Outcome) คือ สังคมไทยกลายเป็นสังคมตะวันตกมากขึ้นทุกวัน และยังเป็นสังคมตะวันตกที่ยังไม่สมดุล เพราะรากฐานสังคมและวัฒนธรรมเป็นคนละแบบกับตะวันตก สังคมไทยจึงเป็นสังคมที่มีความขัดแย้งในตัวเองสูง ทำให้ยากยิ่งต่อการจัดการและพัฒนา
       ๒. เศรษฐกิจ ช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ – ๗ การพัฒนาเศรษฐกิจเน้นโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และบริบททางสังคมและกฎหมาย เพื่อสร้างบรรยากาศการลงทุนและเพิ่มผลผลิต เน้นภาคอุตสาหกรรมมากกว่าเกษตรกรรม ถ้าเป็นเกษตรกรรมก็เน้นการเพิ่มผลผลิตเกษตรเชิงเดี่ยว ทำมาก ๆ จะได้ผลผลิตมาก ๆ การเมืองและราชการเป็นผู้ชี้นำภาคการเกษตร โดยอาศัยหลักคิดการเกษตรแบบตะวันตกตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงกระบวนการการตลาดซึ่งผู้ชี้นำทั้งหลายมักอายุสั้น (อยู่ในตำแหน่งในช่วงสั้น ๆ เพราะความไม่มั่นคงทางการเมือง ราชการก็ตอบสนองนโยบายภาคการเมือง ซึ่งก็อายุสั้นตามไปด้วย เมื่อเกิดปัญหาประชาชนจึงต้องเผชิญชะตากรรมไปตามลำพัง) เกิดการพัฒนาที่ไม่ต่อเนื่อง ประชาชนล้มลุกคลุกคลานตามไปด้วย กระแสการพัฒนาเศรษฐกิจแบบชี้นำ (จากบนลงล่าง – Top down) ส่งผลให้ประชาชนอ่อนแอ คือ คอยทำตาม ไม่ต้องคิดเอง เพราะทำตามได้รับการสนับสนุนส่งเสริม เมื่อเกิดปัญหาก็เรียกร้องให้มาช่วยแก้ ประชาชนจะไม่คิดพึ่งตนเอง (ข้อเท็จ จริง คือ ทุกอย่างตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงกระบวนการการตลาด ประชาชนไม่มีความรู้ ความเข้าใจ และไม่มีความสามารถในการจัดการ เพราะเป็นเรื่องใหม่สำหรับประชาชน และไม่มีการพัฒนาประชาชนให้มีความรู้ ความเข้าใจ ความสามารถในการจัดการเรื่องดังกล่าว) ผลพวงการพัฒนาทุกวันนี้ นอกจากยิ่งพัฒนาประชาชน (ส่วนใหญ่) ยิ่งยากจนแล้ว ยังทำให้ชุมชนอ่อนแออย่างทั่วถึงด้วย เกิดช่องว่างระหว่างคนจน (คนส่วนใหญ่ของประเทศ) กับคนรวย (คนส่วนน้อยของประเทศ) มากยิ่งขึ้น แต่การประเมินรายได้ประชาชาติ (GDP.) เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเจริญเติบโตสูงมาก (บางปีค่า GDP. สูงถึง ๑๐ เปอร์เซ็นต์) ในทางรูปธรรมที่สังเกตได้ทั่วไปคือความเจริญทางด้านวัตถุ แทบไม่น้อยหน้าประเทศที่พัฒนาแล้ว ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ เป็นช่วงของการปรับตัว เพราะเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ และเริ่มเข้าใจทิศทางการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืนมากขึ้น จึงหันมาเอา “คน” หรือ “ประชาชน” เป็นเป้าหมายของการพัฒนา แต่ยังไม่ส่งผลเป็นรูปธรรมใด ๆ ในช่วงนี้ ประเทศชาติเหมือนคนป่วยที่กำลังรักษาเยียวยาประคับประคองให้มีชีวิตอยู่รอดปลอดภัยต่อไป ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๙ ซึ่งเริ่มมาได้ ๒ ปีเศษ ๆ คนไข้เริ่มแข็งแรงขึ้น แต่ผลพวงยังต้องรอต่อไป (การพัฒนาไม่ใช่การพลิกฝ่ามือ โดยเฉพาะการพัฒนาคน ช่วง ๒๐ ปีแรกของวัยมนุษย์เป็นวัยที่ต้องเตรียมและพัฒนา ช่วง ๒๐ ปีขึ้นไปถึง ๖๐ ปีเป็นวัยที่ต้องรับภาระประเทศชาติบ้านเมืองและสังคม (แต่ก็ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง) หลัง ๖๐ ปีจึงเป็นวัยของการพักผ่อนและคอยกำกับสังคม) ถ้าเดินตามแนวทางนี้ความชัดเจนอย่างเร็วจะปรากฏผลในอีก ๑๐ – ๒๐ ปีข้างหน้า
       ๓. สังคมในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑ – ๗ ในบทสุดท้ายช่วงแผน ๗ สรุปกันว่า “ประเทศไทยทันสมัยแต่ไม่พัฒนา” กล่าวคือ เป็นสังคมที่มีความเจริญทางด้านวัตถุสูง แต่ทาง ด้านจิตใจไม่พัฒนา ที่เป็นเช่นนั้นเพราะการละเลยการพัฒนาคน ในขณะที่ความเจริญทางด้านวัตถุและเทคโนโลยีตลอดจนวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามามาก การศึกษา การศาสนา และวัฒนธรรมของเราปรับตัวไม่ทัน เพราะไม่ได้รับการเอาใจใส่ และใช้เป็นเครื่องมือสำคัญควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ (วัตถุ) ปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิด ขึ้นจึงมีปัญหามากมายและสลับซับซ้อนยิ่งขึ้นตามกาลเวลา บางเรื่องหนักหนาสาหัสยากแก่การแก้ไข เช่น เรื่องยาเสพติด แม้จะพยายามกันอย่างจริงจังร่วมมือกันทั่วประเทศตั้งแต่ผู้บริหารสูงสุดจนถึงประชาชนระดับรากหญ้า ก็ยังไม่สามารถทำให้หมดสิ้นไปได้ การศึกษา การศาสนา และวัฒนธรรม ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ การปฏิรูปการศึกษา (จนถึง พ.ศ. นี้ – ๒๕๔๗) ยังล้มลุกคลุกคลาน ศาสนาตกแยกกันเป็นฝักฝ่ายกลายเป็นการเมืองในศาสนา หน้าที่หลักยังเป็นที่พึ่งที่หวังของสังคมไม่ได้ วัฒนธรรมเริ่มสูญเสียรากหญ้า เอกลักษณ์ ไม่นำมาเป็นฐานของการพัฒนา คนรุ่นใหม่ไม่เห็นคุณค่าวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงของการพัฒนาประเทศในช่วงที่ผ่านมาทั้งสิ้น ซึ่งยังมีอีกมากมาย เรากำลังปฏิรูปกฎหมายเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาสังคม (มีการจัดระเบียบสังคมทุกรูปแบบ) กำลังปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้เกิดผลการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ – ๙ เน้นการพัฒนาสังคมมากขึ้น เป็นรูปธรรมมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะรัฐบาล พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร เอาจริงเอาจังกับการจัดระเบียบสังคม ความสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ที่จะเกิดขึ้นจากปัญหาสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ อุบัติเหตุ การให้โอกาสแก่คนด้อยโอกาสในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งก็ต้องรอดูผลกันต่อไปเช่นเดียวกัน
       ๔. การเมือง สภาพการเมืองช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑ – ๗ มีวิวัฒนาการช้ามาก กล่าวคือ รัฐบาลไม่ค่อยมีความมั่นคง โดยเฉพาะรัฐบาลที่ผู้นำไม่ได้มาจากทหาร และรัฐบาลก็ไม่ค่อยมีอำนาจการบริหารจัดการอย่างแท้จริง ต้องคอยเอาใจกลุ่มผลประโยชน์ที่สนับสนุนรัฐบาล โดยเฉพาะเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. ในสภา เป้าหมายการบริหารจึงไม่ได้อยู่ที่ผลประโยชน์ของประชาชน แต่อยู่ที่กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาล ประชาชนตกเป็น เครื่องมือสำหรับอ้างความชอบธรรม นักการเมืองยังเล่นบทบาทไม่สร้างสรรค์และจริง ใจต่อประชาชน การทุจริตคอรัปชั่นยังมีสูง ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายราชการ ผลพวงการพัฒนาเกิดขึ้นกับประชาชนอย่างแท้จริงน้อยมาก แต่กลับเกิดในกลุ่มนักการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ที่สนับสนุนนักการเมืองสูงมาก สถาบันการเมืองการปกครอง ซึ่งเป็นสถาบันซึ่งเปรียบเสมือนเป็นผู้บริหารจัดการ และผู้นำสังคม “เสียศูนย์” เสียแล้วก็ยากที่ผลการพัฒนาจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติโดยรวม ตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ เป็นต้นมา ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ (ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน) ต้องการปฏิรูปประเทศไทยทุกระบบ และสร้างความสมดุลในสังคม พัฒนาการทางการเมืองค่อย ๆ พัฒนาขึ้นเป็นลำดับ มีการคิดและแสดงบทบาทเชิงสร้างสรรค์มากขึ้น รัฐบาลมีความมั่นคงและมีอำนาจในการบริหารจัดการ แสดงภาวะผู้นำได้มากขึ้น เป็นนิมิตหมายที่ดีต่อพัฒนาการทางการเมืองของไทย แม้จะยังติดขัดเนื่องจากเป็นระยะเริ่มแรกของการปฏิรูปการเมือง ก็ยังคาดหวังได้ว่าจะมีพัฒนาการที่ดียิ่งขึ้นต่อไป
       ๕. สิ่งแวดล้อมความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ เข้าใจว่าสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องไกลตัว ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องใกล้ตัวและเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้คน เช่นเดียวกับเรื่องใกล้ตัวอื่น ๆ อากาศไม่ดีเป็นผลเสียต่อสุขภาพ ปลูกพืชผักไม่ได้ผล หรือได้ผลแต่ไม่ดี อากาศวิปริตฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ไม่เพียงแต่มีผลต่อพืชพันธุ์ธัญญาหาร ยังมีผลต่อแบบแผนการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคมด้วย หลายพื้นที่มีปัญหาเรื่องขยะ น้ำเสีย น้ำท่วม ฝนแล้ง เสียงรบกวน ฝุ่นละออง ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย เพราะความที่เข้าใจว่าเป็นเรื่องไกลตัวจึงให้ความสำคัญน้อย ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่ง ชาติ ก็พึ่งบรรจุไว้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๐ – ๒๕๒๔) แต่ผลการดำเนินงานไม่เห็นเป็นรูปธรรม แม้จะเริ่มเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมจนบรรจุไว้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๔ แต่ก็ยังมีการทำลายสิ่งแวดล้อมกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะป่าไม้ จนมี พ.ร.บ.ปิดป่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒ การพัฒนาที่ยั่งยืนจะต้องไม่ทำลายสิ่ง แวดล้อม การพัฒนาที่ผ่านมายังไม่ได้เอาจริงเอาจังกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมประชาชนจึงได้รับผลกระทบโดยไม่รู้ตัว เมื่อรู้ตัวก็ต้องใช้เวลานานกว่าสิ่งแวดล้อมจะกลับสู่ภาวะที่สมดุล

ที่มา; http://www.franchisecb.com/content-%CB%C5%D1%A1%A4%D4%B4%E3%B9%A1%D2%C3%BE%D1%B2%B9%D2%AA%D8%C1%AA%B9-4-105-2528-1.html

หลักคิดในการพัฒนาชุมชน 2

      
หลักคิดในการพัฒนาชุมชน

       ๑. การปรับตัวในปัจจุบัน
ในความเป็นจริงของชีวิตไม่ว่าเราจะเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ (พ.ศ. ๒๕๔๐) หรือไม่ก็ตาม เราต้องปรับตัวอยู่เสมอ ชีวิตจึงจะดำรงอยู่ได้ และดำรงอยู่อย่างมีความสุข สภาพสังคมโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว เพราะความเจริญก้าว หน้าทางเทคโนโลยี สภาพสังคมไทยก็ปรับตัวและเปลี่ยนแปลงเร็วตามไปด้วย เราไม่ปรับตัวเองก็ไม่ได้แล้ว จะอยู่ลำบาก กับสภาพสังคมไทยในปัจจุบันเราจะปรับตัวเองกันอย่างไรบ้าง
       ๑.๑ ผู้จัดการชุมชนหรือสังคม หมายถึง ภาคการเมืองการปกครองซึ่งเป็นผู้นำสังคม ภาคราชการ องค์กรต่าง ๆ จะคิดเหมือนเดิมและจะทำอย่างเดิมต่อไปอีกไม่ได้ กล่าวคือ ภาคการเมืองการปกครอง ต้องคิดในเชิงสร้างสรรค์ พัฒนาคุณภาพ ขีดความสามารถ มีความจริงใจ ซื่อสัตย์สุจริต โดยเอาผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ดูประชาชนให้ออก และรู้จักรับฟังประชาชน ภาคราชการ จะต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างจากแนวตั้ง(Vertical) มาเป็นโครง สร้างแบบแนวนอนหรือแนวราบ (Horizontal) เพราะโครงสร้างแนวตั้งไม่ทันกับงานและสังคมที่ซับซ้อนในปัจจุบัน จะต้องเปลี่ยนจากระบบรวมศูนย์อำนาจ (Centralization) เพราะรวมศูนย์อำนาจทำให้การตัดสินใจช้าและห่างไกลข้อมูลข้อเท็จจริง และจะต้องเปลี่ยนจากการสั่งการ คิดแทนประชาชน มาเป็นการส่งเสริม สนับสนุน และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ให้โอกาสประชาชนได้เรียนรู้และพัฒนาตนเอง ราชการควรทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการ (Facilitator) ให้ประชาชนเป็นผู้แสดง (Actor) องค์กรต่าง ๆ ก็ควรจะเล่นบทเดียวกันกับราชการ และจัดโครงสร้างในลักษณะอย่างเดียวกัน
       ๑.๒ บริบทอันหลากหลาย เช่น ระบบเศรษฐกิจ การศึกษา การขนส่ง การสื่อสาร การสาธารณสุข และสวัสดิการสังคม เป็นต้น นอกจากต้องมีความเสมอภาคทั่ว ถึง และเท่าเทียม ในเรื่องของโอกาสแล้ว ต้องมีคุณภาพด้วย ระบบเศรษฐกิจ ควรเป็นเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง บนรากฐานศักยภาพแต่ละชุมชน ผลิตเพื่อบริโภคเองเป็นหลัก เหลือจึงจำหน่ายจ่ายแจก การศึกษา เน้นคุณภาพ คิดเป็น มีทักษะปฏิบัติได้จริง ทั้งทักษะอาชีพและทักษะชีวิต มีจิตวิญญาณของการเรียนรู้และพัฒนาตนเองตลอดชีวิต และมีความเสมอภาค มีความเท่าเทียมในโอกาส การขนส่ง ทุกชุมชนมีโอกาสเข้าถึง สะดวก รวดเร็ว ราคาถูก เพียงพอ เน้นระบบขนส่งมวลชน เพื่อลดความสูญเสียและฟุ่มเฟือยโดยใช่เหตุ การสื่อสาร ซึ่งไม่เพียงการสื่อสารส่วนบุคคลเท่านั้น การสื่อสารมวลชน ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งหลาย ไม่เพียงเป็นแค่สื่อที่ทั่วถึง ควรให้ความสำคัญกับคุณธรรม จริยธรรมของสื่อ มุ่งยกระดับคุณภาพประชาชนด้วย การสาธารณสุข ที่เน้นการป้องกันและสร้างสุขภาพ นำการซ่อมสุขภาพ มีการบริการที่สะดวก รวดเร็ว และมีคุณภาพ สวัสดิการสังคม มีการกระจายรูปแบบให้หลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่เพียงเรื่องของการเจ็บป่วย เรื่องการประกันชีวิตการประกันภัย เรื่องการฌาปนกิจ หรืออื่นใดที่มีอยู่ในสังคมไทยขณะนี้เท่านั้น อาจมีรูปแบบใหม่ที่จูงใจให้คนประพฤติดีทำคุณ ประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ บทบาทหน้าที่ของสถาบันศาสนาควรจริงจัง เข้มข้น และเป็นเชิงรุกมากกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ มุ่งสั่งสอนปลูกฝังค่านิยมที่เหมาะสม คุณธรรม จริยธรรม เป็นหลักมากกว่าให้ความสำคัญกับเรื่องพิธีกรรม
       ๑.๓ เนื้อหาของชุมชนหรือสังคม หลัก ๆ ของเรื่องนี้ คือ วัฒนธรรม ศักยภาพ ของชุมชนหรือสังคม และสิ่งที่สร้างหรือเพิ่มเข้าไปให้เป็นชีวิตในชุมชนหรือสังคม หรือวัฒนธรรมใหม่ ศักยภาพใหม่ จะต้องปรับและพัฒนาให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ในรูปแบบที่กลมกลืนเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ไม่ใช่ลักษณะการทิ้งของเก่าเอาของใหม่ ต้องปรับเนื้อหาใหม่ให้เข้ากับเนื้อหาเดิม
       ๑.๔ ประชาชนและชุมชน เวลานี้ประชาชนและชุมชนก็ต้องปรับตัวเองด้วย และเป็นโอกาสที่จะปรับตัวเองได้ เพราะทุกฝ่ายเริ่มเห็นความสำคัญและพุ่งเป้าการพัฒนาไปที่ประชาชนและชุมชน อะไรบ้างที่ประชาชนและชุมชนจะต้องปรับตัว
       ๑.๔.๑ การเรียนรู้ นอกจากการเรียนรู้บทเรียนในอดีตแล้ว ประชาชนและชุมชนต้องเรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเอง คือ จะต้องเพิ่มทักษะและความสามารถให้ตนเอง โดยเฉพาะทักษะและความสามารถในอาชีพ ขณะนี้ ภาคราชการ องค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ก็กำลังส่งเสริมสนับสนุนช่วยเหลืออยู่ ถ้านิ่งเฉยโอกาสจะผ่านเลยไป ผู้ที่อยู่ในวัยศึกษาหาความรู้ยิ่งจำเป็นจะต้องฉกฉวยโอกาสให้มาก
       ๑.๔.๒ ทัศนคติและค่านิยม มีทัศนคติและค่านิยมหลายอย่างที่ประชาชนและชุมชนจะต้องปรับเปลี่ยนในเวลานี้ เช่น ทัศนคติและค่านิยมเรื่องอาชีพ ที่คิดว่าอาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่ไม่มีเกียรติ อาชีพบริการเป็นอาชีพที่ต่ำต้อย เป็นต้น ต้องเป็นข้าราชการ ต้องทำงานธุรกิจ จึงจะมีเกียรติ มีหน้ามีตาในสังคม ต้องเข้าใจใหม่ อาชีพทุกอาชีพที่สุจริต มีเกียรติด้วยกันทั้งนั้น ถ้าพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าให้มากขึ้นและมากขึ้น ความสำเร็จในอาชีพนั่นแหละ คือเกียรติยศที่ผู้คนในสังคมจะยกย่อง ความสำคัญไม่ใช่อยู่ที่อาชีพ แต่อยู่ที่ผลสำเร็จของการพัฒนาอาชีพ
       ๑.๔.๓ ความคิดพึ่งตนเองเป็นหลัก ไม่ว่าเป้าหมายจะเป็นอย่างไร การคิดพึ่งคนอื่นมากกว่าตนเองเป็นความล้มเหลวตั้งแต่แรก ชุมชนอ่อนแอและประชาชนยากจน เต็มไปด้วยปัญหาชีวิต ก็เพราะความคิดแบบนี้ ลองพิจารณากรณีวัดในชุมชนเป็นตัวอย่าง ไม่ว่าจะสร้างจะทำอะไร กรมการศาสนาไม่มาสร้างให้ ไม่บอกให้พัฒนาหรือทำอะไร ชุมชนคิดเอง ทำเอง ทั้งสิ้น และก็ทำได้ เจริญก้าวหน้าไปตามกำลังความสามารถของแต่ละชุมชน เป็นลำดับ บางวัดพระผิดเพี้ยนออกนอกรีต ชุมชนก็เข้ามาจัดการกันเอง และวัดก็อยู่คู่สังคมไทยมาจนทุกวันนี้
       ๑.๔.๔ เป้าหมายชีวิตหรือเป้าหมายชุมชน สังคมพัฒนาแล้ว การมีสุขภาพที่ดีเป็นเป้าหมายสูงสุด สังคมด้อยพัฒนายังวัดกันด้วยอำนาจ ความร่ำรวย และเกียรติยศ สำหรับชุมชนเป้าหมายสูงสุด คือ ชุมชนเข้มแข็ง ประชาชนและชุมชนต้องปรับเปลี่ยนเป้าหมายชีวิตให้ถูกทิศทาง
       ๑.๔.๕ การจัดการ จะต้องมองตนเอง (ทั้งประชาชนและชุมชน) ในเชิง บูรณาการทั้งหมด (Holistic) และมองให้ครบถ้วน มนุษย์มีความสัมพันธ์ทั้งร่างกายและจิตใจ อวัยวะทุกส่วนถ้าเกิดเหตุที่ใดก็จะกระทบทั้งหมด และมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันทั้งระบบจะแยกส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้ เกิดเหตุที่ส่วนใดก็กระทบกระเทือนกันทั้งระบบ การจัดการจึงต้องจัดการให้ดีทุกภาคส่วนและทุกระบบ และประชาชนหรือชุมชนจะต้องจัดการด้วยตนเองเป็นหลัก ไม่ติดความคิดพึ่งพิงดัง กล่าวมาแล้ว
       ๒. หลักคิดในอนาคต หลักคิดในอนาคตนี้สำหรับทุกฝ่ายและทุกภาคส่วน กล่าวคือ
       ๒.๑ เป้าหมายของการพัฒนา ต้องถือเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางหรือเป็นตัวตั้งในการพัฒนาเป็นองค์รวมอย่างสมดุลและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มนุษย์เป็นหลักของชุมชน สังคม และ ประเทศชาติ มนุษย์จะเป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศชาติต่อ เนื่องต่อไป มนุษย์อ่อนแอ ชุมชน สังคม ประเทศชาติ ก็อ่อนแอ มนุษย์เข้มเข็ง ชุมชน สังคม ประเทศชาติ ก็เข้มแข็ง มนุษย์เป็นอย่างไร ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ก็เป็นอย่างนั้น
       ๒.๒ ในระดับหน่วยทางสังคมที่กว้างขึ้น ต้องถือเอาชุมชนเป็นเป้าหมายของการพัฒนา และทำให้จุดเริ่มต้นของการพัฒนา “ระเบิดจากข้างใน” ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การระเบิดจากข้างในเป็นความต้องการของสมาชิกในชุมชน มันจะมีจิตวิญญาณของความมุ่งมั่น ร่วมไม้ร่วมมือสานต่อจนสำเร็จลุล่วง และ ยั่งยืนต่อไป มันเป็นพลังอย่างที่ชาวจีนเปรียบเปรยว่าเป็น “กำลังภายใน” พลังที่รุนแรงต่อเนื่องไม่ขาดสายเหนือพลังธรรมดา คือ ออกมาจาก “ใจ” ไม่ใช่เพียงออกมาจาก “กาย” เท่านั้น และฐานของการพัฒนาก็คือศักยภาพที่มีอยู่ในชุมชนนั่นเองเป็นหลัก ลองจินตนาการว่า “ถ้าทุกชุมชนเหมือนดอกไม้ในทุ่งประเทศไทย ถ้าดอกไม้ทุกดอกเบ่งบานสดสวยทั่วทุ่งประเทศไทย สังคมไทยเราจะเป็นอย่างไร” นอกจากนี้การเอาชุมชนเป็นฐานหรือเป็นเป้าหมายการพัฒนา จะไม่เกิดปรากฏการณ์ “กระจุก” ของผู้คน ณ เมืองใดเมืองหนึ่ง จะลดทอนปัญหาที่เกิดจากการกระจุกตัวของผู้คนอีกมากมาย แต่จะเกิดปรากฏการณ์ “กระจาย” ความเจริญของบ้านเมืองแทน
      ๒.๓ กระบวนการทำงานในชุมชน ยึดหลัก “กระบวนการมีส่วนร่วม” (Participation) ระดับของการมีส่วนร่วม มีดังนี้
๑. Manipulation - การมีส่วนร่วมแบบมีผู้กำกับอยู่เบื้องหลัง (ไม่มีอิสระ)
๒. Consultation - การมีส่วนร่วมแบบปรึกษาหารือ
๓. Consensus Building - การมีส่วนร่วมเพื่อให้การรับรอง
๔. Decision Making - การมีส่วนร่วมเพื่อการตัดสินใจ
๕. Risk Sharing - การมีส่วนร่วมที่ต้องรับผิดชอบในผลของการตัดสินใจ
๖. Partnerships - การมีส่วนร่วมแบบคนที่เท่าเทียมกัน
๗. Self Reliance - การมีส่วนร่วมที่ประชาชนพึ่งพาตนเอง
ในระดับที่ ๑ จะเป็นการมีส่วนร่วมที่น้อยที่สุด และเรียงลำดับไปหามากที่สุด คือ ระดับที่ ๗ ยิ่งสมาชิกในชุมชนมีส่วนร่วมมากเท่าไร การทำงาน ก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้นเท่านั้น
       ๒.๔ การทำงานเป็นทีมทุกภาคส่วน (Team Work) ในอดีตเราเชื่อการทำงานแบบ “อัศวินขี่ม้าขาว” ในยุคที่สังคมไม่ซับซ้อน ผู้คนยังด้อยความรู้ ความคิด และความสามารถ “อัศวินขี่ม้าขาว” ย่อมเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับคนสมัยนั้น แต่ในยุคที่สังคมซับซ้อนมากขึ้น ผู้คนมีความรู้ ความคิด และความสามารถมากขึ้น “อัศวินขี่ม้าขาว” ย่อมไม่ได้ผล เพราะจะไม่มี “อัศวิน” ที่แท้จริง มนุษย์มีข้อจำกัด ไม่มีใครเก่งไปทุกเรื่อง และไม่มีใครทำงานคนเดียวได้โดยเฉพาะในภาวะที่ซับซ้อน ยิ่งซับซ้อนมากก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ที่ “ข้าจะมาคนเดียว และเก่งคนเดียว” ทางเลือกจึงต้องมีทีมทำงาน (Team Work) คือ รวบรวมความเก่งและโดดเด่นของแต่ละคน หลาย ๆ คน เก่งคนละด้านคนละอย่างจะทำให้มีพลังในการทำงาน ทีมทำงานจึงต้องเป็นรูปแบบการทำงานในอนาคต ยิ่งสร้างทีมในฝันได้ (Dream Team) ยิ่งจะเป็นผลดีมาก
       ๒.๕ การทำงานที่เป็นพหุภาคีอย่างบูรณาการและเป็นเครือข่าย คือ ต้องทำงานร่วมกันในหลายภาคส่วน และเป็นแบบบูรณาการ ทั้งในแต่ละภาคส่วนและในพหุภาคี จริงอยู่เป็นการทำงานที่ยากเพราะมีความซับซ้อน จึงต้องอาศัยทีมงาน (Team Work) ดังที่กล่าวแล้วในหัวข้อก่อน การประสานงานจึงมีความสำคัญมากในการทำงานเป็นทีม ซึ่งปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีซึ่งเอื้อให้สามารถทำงานเป็นทีมได้อย่างดี นอกจากนี้ก็ต้องสร้างความเป็นเครือข่ายให้เกิดขึ้น ให้เป็นโครงสร้างที่สำคัญในอนาคต
       ๒.๖ หลักการทำงานของ Deming
       W. Edwards Deming (๑๙๐๐ – ๑๙๙๓) นักวิชาการชาวอเมริกัน ได้เสนอหลัก การทำงานเป็นวงจรต่อเนื่องไว้ คือ เริ่มจากการวางแผนงาน (Plan) ก่อนการปฏิบัติ (Do) เมื่อปฏิบัติแล้วก็ต้องตรวจสอบผล หรือ ประเมินผล การปฏิบัติ ว่า เป็นไปตามแผน บรรลุวัตถุประสงค์ของแผนงานหรือไม่ จากนั้นก็นำผลการตรวจสอบหรือประเมินไปใช้ หรือปรับปรุง ปรับเปลี่ยน แผนงานใหม่ หรือเพื่อการวางแผนใหม่ในครั้งต่อไปก็ได้ การทำงานในอนาคตต้องไม่ใช่คิดไปทำไป แต่จะต้องมีการวางแผน โดยการมีส่วนร่วม คิดให้ครบ(รอบ) และดำเนินการทุกขั้นตอนตามทฤษฎีวงจรของ Deming (Deming’s cycle) ทุกขั้นตอนเน้นกระบวนการมีส่วนร่วม (Participation) คือ ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำ ร่วมตรวจสอบ (ประเมิน) ร่วมรับผิดชอบ (รับทั้งผิด และชอบ) ของผลการกระทำ
       ๒.๗ การวิเคราะห์องค์กร ในการวิเคราะห์องค์กรนี้ ถ้าเป็นชุมชน ชุมชนก็เปรียบเสมือนองค์กร ๆ หนึ่ง เพราะฉะนั้นก็ใช้หลักการเดียวกันนี้วิเคราะห์ได้ กล่าว คือ
       ๒.๗.๑ ใช้กระบวนการ F.S.C. (Future Search Conference) (กระบวนการค้นหาอนาคตร่วมกัน) ค้นหาอดีต ซึ่งเป็นรากเหง้า (ซึ่งเป็นความภูมิใจ ความประทับใจ ความรู้สึกผูกพัน ฯลฯ) เพื่อทำความเข้าใจปัจจุบัน (รู้เหตุ รู้ผล ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น หรือสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ อธิบายได้ จึงเป็นการรู้จักตัวตนขององค์กรหรือชุมชนของตนเอง) และใช้เป็นรากฐานในการวาดหวังอนาคตร่วมกัน กระบวนการค้นอนาคตร่วมกัน (F.S.C. = Future Search Conference)
อนาคต ปัจจุบัน อดีต ทบทวน รู้ / เข้าใจ คาดหวัง, วาดหวัง
       ๒.๗.๒ ผนวกการวิเคราะห์องค์กรหรือชุมชนด้วยหลักการ SWOT. (S = Strengths – จุดแข็ง / W = Weaknesses – จุดอ่อน /O = Opportunities – โอกาส /T = Threat – ภาวะคุกคาม) จุดแข็ง จุดอ่อน เป็นปัจจัยภายในองค์กร ส่วนโอกาสและภาวะคุกคามเป็นปัจจัยภายนอกองค์กร การวิเคราะห์นี้เป็นการวิเคราะห์ร่วมกันของสมาชิกในองค์กร เมื่อได้ผล ทราบจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และภัยคุกคามแล้ว ประเด็นที่เป็นจุดแข็งและโอกาสควรเป็นประเด็นที่เลือกเพื่อทำแผนงาน โครงการ เพื่อพัฒนาองค์กรก่อน เป็นแผนงานโครงการในเชิงรุก ความสำเร็จของแผนงาน โครงการ เป็นไปได้สูง ประเด็นที่เป็นจุดแข็งแต่มีภาวะคุกคาม มีโอกาสประสบความสำเร็จครึ่งต่อครึ่ง เป็นภาวะเสี่ยง ประเด็นที่เป็นจุดอ่อนแต่มีโอกาส เป็นประเด็นที่เราต้องปรับปรุงตัวเองหรือพัฒนาตัว เอง ประเด็นที่เป็นจุดอ่อนและมีภาวะคุกคาม เป็นประเด็นที่เราควรป้องกันและถอนตัว ไม่ทำแผนโครงการนั้น หรือทำ แต่ทำลักษณะป้องกันตัวเองหรือประคับประคองตัวเอง
       ๒.๗.๓ การวางแผนในการทำงาน องค์กร หรือชุมชน ในอนาคตจะ ต้องมีแผนงานที่เป็นแผนแม่บทของตนเอง การพัฒนาในอนาคต ไม่ควรมีลักษณะ “บะหมี่สำเร็จรูป” แต่ละชุมชนพัฒนาบนฐานศักยภาพของตนเอง เป็นเอกลักษณ์เฉพาะชุมชนนั้น ๆ จริงอยู่แนวทางหลักอาจเป็นแนวทางเดียวกัน แต่รายละเอียดจะไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นแต่ละชุมชนจะต้องออกแบบชุมชนของตนเอง จะพัฒนาไปในรูปแบบไหน อย่างไร อย่างต่อเนื่อง ๓ ปี ๕ ปี ๑๐ ปี..........ยิ่งมองไกลเท่าไร ก็ยิ่งพัฒนาได้ดีเท่านั้น เพราะเป็นความต่อเนื่อง บางเรื่องต้องใช้เวลาจึงจะเป็นรูปธรรม การได้มาซึ่งแผน ก็ได้มาจากการวิเคราะห์ (ในข้อที่ ๒.๗.๑ และ ๒.๗.๒) แล้วข้างต้น ซึ่งต้องเอามาจัดสร้างวิสัยทัศน์ พันธกิจ วัตถุประสงค์ กลยุทธ์ต่าง ๆ .....จนถึงขั้นตอนสุดท้าย การวัดผลประเมินผล
       ๒.๘ บทบาทของบริบทชุมชน การพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับบริบท หรือ บริบทไม่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนา เป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ประการหนึ่ง เพราะจะเกิดความไม่สมดุลขึ้น อาจทำให้การพัฒนาไม่ต่อเนื่องได้ บริบทชุมชน ได้แก่ ทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน สมาชิกของชุมชน ผู้นำชุมชน วัฒนธรรมชุมชน สภาพทางภูมิศาสตร์ ฯลฯ เป็นต้น บริบทชุมชนมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาชุมชน
       ๒.๙ การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) การพัฒนาที่ยั่งยืนต้อง “ระเบิดจากข้างใน” ไม่ใช่ปัจจัยภายนอกไปกำหนดกรอบและทิศทางการพัฒนา บริบทภายนอกเป็นเพียงปัจจัยเสริม สนับสนุนและช่วยเหลือเท่านั้น ประการสำคัญอีกประการหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ต้องทำให้มนุษย์กับธรรมชาติได้เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ทุกสิ่งทุกอย่างสมดุล เป็นไปตามวิถีธรรมชาติ การพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ได้ปฏิเสธเทคโนโลยี แต่เทคโนโลยีจะต้องไม่ทำลายธรรมชาติ จึงจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน



ที่มา; http://www.franchisecb.com/content-%CB%C5%D1%A1%A4%D4%B4%E3%B9%A1%D2%C3%BE%D1%B2%B9%D2%AA%D8%C1%AA%B9-4-105-2528-1.html

วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

หลักการจัดระเบียบบริหารราชการ

  
1.หลักการรวมอำนาจ(Centralization)
2.หลักการแบ่งอำนาจ(Deconcentration)
3.หลักการกระจายอำนาจ(Decentralization)
ความหมายของหลักการรวมอำนาจ
       การจัดวางระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน โดยรวมอำนาจการปกครองไว้ให้แก่หน่วยงานบริหารราชการส่วนกลาง และมีเจ้าหน้าที่ของหน่วยการบริหารราชการส่วนกลาง โดยให้ขึ้นต่อกันตามลำดับชั้นการบังคับบัญชาตลอดทั่วทั้งประเทศ และรักษาไว้ซึ่งเอกภาพในการปกครอง  รวมทั้งความมั่นคงปลอดภัยของประเทศเป็นสำคัญ
ลักษณะสำคัญของหลักการรวมอำนาจ
-มีการรวมกำลังทหารและกำลังตำรวจให้ขึ้นต่อส่วนกลาง
-มีการรวมอำนาจในการวินิจฉัยสั่งการไว้ในส่วนกลาง
-การลำดับชั้นการบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ลดหลั่นกันไป
ความหมายของหลักการแบ่งอำนาจ
       หลักการบริหารราชการที่ส่วนกลางได้จัดแบ่งและมอบอำนาจวินิจฉัยสั่งการบางส่วนไปให้แก่เจ้าหน้าที่หน่วยการบริหารราชการส่วนกลางที่เป็นตัวแทนซึ่งได้ส่งออกไปประจำอยู่ในเขตปกครองส่วนภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ
ลักษณะสำคัญของการแบ่งอำนาจ
-ต้องมีรัฐบาลซึ่งเป็นการบริหารราชการ การแบ่งอำนาจเป็นกระบวนการหนึ่งของการรวมอำนาจปกครอง
-มีหน้าที่ซึ่งเป็นตัวแทนของส่วนกลางส่งออกไปปฏิบัติหน้าที่
-ส่วนกลางแบ่งและมอบอำนาจในการบริหารราชการงานบางส่วนบางเรื่องโดยแบ่งมอบไปให้เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นตัวแทนของส่วนกลาง  ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ตามเขตการปกครองท้องที่ต่าง ๆ มิได้ตัดอำนาจจากส่วนกลางอย่างเด็ดขาด
ความหมายของหลักการกระจายอำนาจ
       เป็นวิธีที่รัฐมอบอำนาจปกครองบางส่วนให้แก่องค์การอื่นที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยการบริหารราชการส่วนกลางไปจัดทำบริการสาธารณะบางอย่างโดยมีอิสระตามสมควร
ลักษณะสำคัญของหลักการกระจายอำนาจ
-มีการจัดตั้งองค์การขึ้นเป็นนิติบุคคลเพิ่มขึ้นจากส่วนกลาง
-การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น
-มีอำนาจอิสระในการปกครองตนเองได้ตามสมควร (Autonomy)
-มีงบประมาณและรายได้เป็นของท้องถิ่น
-มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่เป็นของท้องถิ่นของตนเอง

วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

        นับแต่ปีพุทธศักราช  ๒๔๗๕ ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  จากระบอบสมบูรณายาสิทธิราชย์ มาเป็น ระบอบประชาธิปไตย  มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ  ซึ่งนับแต่ห้วงเวลาดังกล่าว จวบจนกระทั่งปัจจุบันประเทศไทยได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาแล้ว ถึง ๑๖ ฉบับ  โดยฉบับล่าสุดประกาศใช้เมื่อวันที่  ๑๑ ตุลาคม  ๒๕๔๐
       ในอดีตที่ผ่านมา  นับแต่ที่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรก เป็นต้นมาประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายหลายด้าน  ส่วนรัฐธรรมนูญก็ได้มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะบ้านเมือง มาจนสามารถที่จะยึดถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริง  เช่น  รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
        อย่างไรก็แล้วแต่  ประเทศไทยมีปัญหาที่หมักหมมสะสมมานาน และยังไม่สามารถขจัดให้หมดสิ้นไปอย่างเด็ดขาดได้  คือ ปัญหาการใช้อำนาจรัฐของเจ้าหน้าที่รัฐโดยมิชอบ เพื่อผลประโยชน์ของตนและพวกพ้อง  นำไปสู่การทุจริตในที่สุด  ก่อให้เกิดผลเสียอย่างมากมายต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวม   รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐  จึงได้พยายามแก้ปัญหาและอุดช่องว่างของกฎหมายเพื่อป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นให้ลดน้อยลง โดยได้มีบัญญัติไว้ใน  หมวด ๑๐ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ  มาตรา  ๒๙๑–๓๑๑  เป็นผลให้มาตราการเดิมที่ใช้ในการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐซึ่งไม่มีประสิทธิภาพต้องเปลี่ยนแปลงปรับปรุงใหม่ และเกิดมาตราการใหม่ๆ ขึ้นมาแก้ไขปัญหา อีกทั้งเป็นผลให้องค์กรที่ใช้ในการควบคุมตรวจสอบมีประสิทธิภาพมากขึ้น  โดยมีรูปแบบการตรวจสอบดังนี้ คือ  การแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน  จัดตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)เพื่อเป็นองค์กรตรวจสอบ  การลงคะแนนเสียงของ ส.ส. และ ส.ว. การเข้าชื่อถอดถอนออกจากตำแหน่งของประชาชน  การดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก่อให้เกิดศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองขึ้น 


ที่มา; e-learning.mfu.ac.th/mflu/1604101/chapter2/group5.doc

 

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

17-20 พฤษภาทมิฬ ลำดับเหตุการณ์ความรุนแรงทั้ง 4 วัน



       เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เกิดจากการหลงอำนาจผิดยุคผิดสมัยของ นายทหารกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งประกอบด้วย
พล.อ.สุจินดา คราประยูร
พล.อ.สุนทร์ คงสมพงษ์
พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล
พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี ฯลฯ
       ได้ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2534โค่นอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งแล้วตรารัฐธรรมนูญการปกครอง(ชั่วคราว)ขึ้นโดยเสนอตั้ง นาย อนันท์ ปันยารชุน เป็นนายรัฐมนตรี ขัดตาทัพ รสช.ตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้นมาด้วยอำนาจเผด็จการ ทำการคลอดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 "ฉบับหมกเม็ด" เตรียมสืบทอดอำนาจให้ตนเอง เพาะเชื้อเผด็จการขึ้นมาเต็มรูปแบบอีกครั้ง โดยกำหนดว่า
       นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง (ไม่ต้องเป็น ส.ส.)
ให้ข้าราชการดำรงตำแหน่งได้ (ควบตำแหน่งได้)
แต่งตั้งนายทหารในกลุ่มเครือญาติคนสนิทขึ้นมาคุมกองทัพ
การผนึกอำนาจทางการเมืองและการทหารเป็นศูนย์อำนาจ
       เมื่อกระแสประชาชนคัดค้าน "สุจินดา" ก็ยอมรับปากจะไม่รับตำแหน่งผู้นำ แต่ในที่สุด "สุจินดา" ก็ยอมเสียสัตย์แก่ตนเองและสาธารณะชนยอม "เสียสัตย์" เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 โดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง จนนำไปสู่การประท้วงคัดค้านของประชาชนนับแสนคนบนถนนราชดำเนิน และหัวเมืองใหญ่ๆทั่วประเทศและถูก 3 หัวโจ๊กเผด็จการดังกล่าว ใช้กำลังปราบปรามประชาชนและนิสิตนักศึกษาอย่างนองเลือดโหดร้ายทารุณ สร้างรอยด่างพร้อยให้กับประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยอีกตำนานหนึ่ง




เหตุการณ์วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๕วันปะทะ
       ช่วงเช้าถึงเที่ยง เจ้าหน้าที่สมาพันธ์ประชาธิปไตยได้มารวมตัวอยู่ที่บริเวณสนามหลวงเพื่อเตรียมการชุมนุมที่จะขึ้นในตอนเย็น เช่น เรื่องอาหาร โปสเตอร์ เต็นท์อำนวยการ รวมทั้งสุขาชั่วคราวโดยใช้ถังน้ำมันผ่าครึ่งเป็นโถ มีผ้าพลาสติกกั้นเป็นห้องไว้ ตั้งชื่อว่า "สุขาเพื่อผู้รักประชาธิปไตย"
ราวเที่ยง มีประชาชนกว่า 5,000 คนทยอยมาที่สนามหลวงทั้ง ๆ ที่เวทียังไม่เริ่มตั้ง มีการขายเทปวีดีโอคำปราศรัยการชุมนุมเมื่อวันที่ 6-11 พ.ค. ที่ผ่านมา รวมทั้งเสื้อยืด สติกเกอร์ต่อต้าน พล.อ.สุจินดา และเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งขายดีมาก
       นายประพันธ์ศักดิ์ กมลเพชร และผู้อดอาหารประท้วงคนอื่น ๆ ได้ย้ายมาที่เต็นท์ข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วน ร.ต. ฉลาด วรฉัตร ซึ่งยังคงปักหลักอดอาหารประท้วงที่หน้าทำเนียบรัฐบาลได้ขอถอนตัวจากคณะกรรมการบริหารสมาพันธ์ประชาธิปไตย
ด้วยเหตุผลว่าไม่อาจเข้าร่วมประชุมได้ เนื่องจากร่างกายของตนอยู่ในสภาพที่อ่อนล้าการกระทำครั้งนี้ไม่ใช่ความแตกแยก แต่เพราะตนเหลือเวลาน้อยเต็มที่แล้ว
       บ่ายโมง เจ้าหน้าที่สมาพันธ์ฯ เริ่มตั้งเวทีขึ้นโดยหันหน้าไปทางวัดพระแก้ว บนเวทีขึงผ้าสีขาวมีข้อความว่า " สมาพันธ์ประชาธิปไตย สุจินดาออกไปประชาธิปไตยคืนมา"
จากประชาชนประมาณ 3 หมื่นคนในเวลาบ่างสามโมง ได้เพิ่มขึ้นเป็น 3 แสนคนเมื่อถึงเวลาทุ่มครึ่ง การจราจรโดยรอบสนามหลวงติดขัดเพราะมีผู้คนเดินทางมาทุกสารทิศ มีรายงานว่านายทหารตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 1,000 คนได้ปะปนอยู่ในที่ชุมนุม
       สมาพันธ์ประชาธิปไตยแจกธงกระดาษสีขาวมีข้อความว่า "ประชาธิปไตยต้องได้มาโดยสันติวิธี" และ "พร้อมใจยืนหยัดเพื่อประชาธิปไตย" แก่ประชาชน เพื่อใช้โบกระหว่างฟังการปราศรัย
แอ๊ด คาราบาว ขึ้นร้องเพลงบนเวที ตัวแทนสมาพันธ์ประชาธิปไตยทยอยขึ้นปราศรัย บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีการตะโกนคำขวัญขับไล่ พล.อ. สุจินดาตลอดเวลา ธงสีขาวสะบัดพรึบทั่วท้องสนามหลวงเมื่อคำพูดถึงใจ
       สองทุ่มเศษ พล.ต. จำลองตั้งเวทีปราศรัยย่อยขึ้นอีกแห่งหนึ่งเพื่อตรึงคนไว้ เนื่องจากเสียงจากเวทีใหญ่ได้ยินไม่ทั่วถึง จนถึงขณะนี้คาดว่ามีประชาชนกว่า 3 แสนคนแล้ว
นายพงษ์ศักดิ์ เปล่งแสง รองประธานกลุ่มรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ซึ่งมีองค์กรในสังกัดกว่า 200 องค์กร มีสมาชิกราว 3 หมื่นคน กล่าวปราศรัยต่อที่ชุมนุมว่า หากเกิดเหตุแรงจากการปราบปรามของรัฐบาล พนักงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดของตนพร้อมจะหยุดงาน
       นายวีระ มุสิกพงศ์ พรรคความหวังใหม่ ขึ้นปราศรัยกล่าวเสียดสีถึงการที่รัฐบาลสั่งห้ามไม่ให้นำสุขาเคลื่อนที่มาบริการ ว่านอกจากจะปิดกั้นข่าวสารปิดหูปิดตาประชาชนแล้ว ยังปิดกั้นประชาชนด้วย
หนังสือพิมพ์ประมาณว่ามีผู้ร่วมชุมนุมเกือบ 5 แสนคน นับเป็นการชุมนุมครั้งยิ่งใหญ่ของพลังประชาธิปไตย ทว่าไม่มีสถานีโทรศัพท์ช่องใดรายงานข่าวการชุมนุนนี้




เคลื่อนขบวนสู่ทำเนียบ
       พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อธิบดีกรมตำรวจเปิดเผยว่าได้จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ประมาณ 4,000-5,000 นาย ทั้งในและนอกเครื่องแบบ โดยประสานกับกองกำลังรักษาพระนครตลอดเวลา
       ผู้บัญชาการกองกำกับรักษาพระนคร ได้สั่งการให้หน่วยขึ้นตรง (นขต.) กองกำลังรักษาพระนคร ปฏิบัติการตามแผนไพรีพินาศ / 33 ขั้นที่ 2 และปฏิบัติตามคำสั่งยุทธการที่ 1/35 โดยให้ทุกหน่วยเข้าที่รวมพลขั้นต้นใกล้พื้นที่ปฏิบัติการตามสี่แยกสะพานและสถานที่สำคัญให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 19.00 น.
สำหรับกองกำลังทหารบกและกองกำลังตำรวจ ให้รับผิดชอบสกัดบริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ สะพานสมมติอมรมารค สะพานระพีพัฒนลาภ สะพานเหล็ก และสะพานภาณพันธ์
       เวลาหกโมงเย็น ทหารในสังกัดกองกำลังรักษาพระนครเตรียมพร้อมในที่ตั้งประมาณ 2,000 นาย บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ มีรถดับเพลิงจำนวน 10 คัน และรถพยาบาลหนึ่งคัน
เวลาทุ่มเศษ ทหารช่างจาก ช.พัน 1 รอ. พร้อมด้วยรถยีเอ็มซีสองคัน บรรทุกรั้วลวดหนามมาจอดเตรียมพร้อมอยู่หน้ากระทรวงคมนาคม
       ราวสามทุ่ม คณะกรรมการสมาพันธ์ฯ ซึ่งประกอบด้วย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ น.พ.เหวง โตจิราการ ขึ้นไปบนเวที
พล.ต. จำลองได้นำประชาชนกล่าวปฏิญาณอย่างพร้อมเพรียงกันต่อหน้าพระแก้วมรกตและพระบรมมหาราชวังว่า จะเคารพเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จะต่อสู้กับเผด็จการ และให้มีประชาธิปไตยที่นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง โดยยึดมั่นในหลักการอหิงสาสันติวิธี
       น.พ. เหวงประกาศให้ประชาชนเดินไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอคำตอบจาก พล.อ. สุจินดา ประชาชนจึงทยอยเดินออกจากท้องสนามหลวงไปตามถนนราชดำเนินกลาง โดยมีขบวนของ พล.ต. จำลองเป็นผู้นำรายการบนเวทียังดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อดึงคนบางส่วนไว้ให้การเคลื่อนขบวนเป็นไปอย่างต่อเนื่องและไม่วุ่นวาย นางประทีปกล่าวถึงเหตุผลที่ต้องเคลื่อนขบวนว่า เพื่อตอกย้ำเจตนารมณ์อย่างสันติวิธีและขอให้ผู้ร่วมขบวนทุกคนรักษาความสงบ
       ไม่นาน ถนนราชดำเนินกลางก็เต็มไปด้วยฝูงชน ธงเล็กสีขาวโบกไสวตลอดขบวน พร้อมกับเสียงร้องขับไล่ พล.อ. สุจินดาดังเป็นระยะ ๆ การจราจรย่านสนามหลวงเป็นอันพาตไปทันที
ที่สะพานผ่านฟ้าฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจนับพันนายพร้อมโล่หวาย ไม้กระบองตรึงกำลังอยู่โดยมีลวดหนาววางเป็นแนวกั้น รถดับเพลิงและทหารเสริมกำลังอยู่ด้านหลัง


มือที่สาม - การปะทะครั้งแรก
       การปะทะครั้งที่แรกเริ่มต้นขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 21.20-22.00 น. เมื่อฝูงชนกลุ่มแรกที่มาถึงสะพานผ่านฟ้าฯ เผชิญหน้ากับแนวกีดขวางและขอร้องตำรวจให้เปิดทางแต่ไม่สำเร็จ ประชาชนจึงพยายามฝ่าแนวกั้นโดยใช้ไม้กระแทกสิ่งกีดขวาง ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์หุ้มมือและเข้าดึงลวดหนาม บางคนก็ใช้มือเปล่า
       พล.ต.ท. วิโรจน์ เปาอินทร์ รมช. มหาดไทยในขณะนั้น ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงทำการฉีดน้ำสกัดฝูงชนในทันทีที่กลุ่มผู้ชุมนุมรุกล้ำผ่านเข้ามาแต่เนื่องจากน้ำที่ฉีกออกมานั้นแรงทั้งยังเป็นน้ำครำเน่าเหม็น ส่งผลให้ผู้ชุมนุมบางรายถึงกับเสียหลักและเกิดอารมณ์ฉุนเฉียว ประชาชนจึงตอบโต้ด้วยการขว้างปาขวดน้ำและก้อนหินเข้าใส่เจ้าหน้าที่
       ต่อมา ฝูงชนกลุ่มหนึ่งบุกยึดรถดับเพลิงจำนวนแปดคันที่กำลังฉีดน้ำใส่กลุ่มชน แล้วฉีดน้ำกลับใส่เจ้าหน้าที่ ทำให้ตำรวจต้องถอยร่นไป แต่ในที่สุดกำลังตำรวจนับพันนายก็บุกตะลุยเข้าชิงรถดับเพลิงคืนได้ โดยใช้กระบองรุมกระหน่ำตีกลุ่มผู้ยึดรถ การปะทะระหว่างฝูงชนกับตำรวจที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ และหน้ากรมโยธาธิการกินเวลานานนับชั่วโมง
นอกจากก้อนหินและขวดน้ำแล้ว ยังมีคนใช้ขวดน้ำมันจุดไฟรวมทั้งระเบิดขวดขว้างใส่เจ้าหน้าที่ ทำให้เกิดเสียงดังเป็นระยะ ๆ ทางฝ่ายตำรวจใช้กระบองเข้าทุบตีประชาชน รถยนต์ รถจักรยานยนต์ (ผู้จัดการฉบับพิเศษ 2535) ผู้สื่อข่าวและช่างภาพหลายคนโดยทุบตี ถูกยึดฟิล์ม กล้อง และอุปกรณ์ต่าง ๆ ไป มีผู้บาดเจ็บเลือดอาบรวมถึงถูกทุบตีจนเสียชีวิตหลายราย
       ในช่วงเวลาเดียวกัน โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจออกข่าวว่า พล.ต. จำลองได้นำประชาชนเคลื่อนย้ายจากท้องสนามหลวงเพื่อมุ่งสู่พระตำหนักจิตรลดาฯผู้ชุมนุมได้ขว้างปาเจ้าหน้าที่จนได้รับบาดเจ็บ รัฐบาลออกแถลงการณ์ให้ประชาชนที่มาชุมนุมกลับที่พักโดยด่วน
       เวลา 22.15 น. ตำรวจนำรั้วลวดหนามมาตั้งขวางไว้ตามเดิม ผู้บาดเจ็บถอยมารวมกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่เพิ่งเคลื่อนขบวนมาถึงสะพานผ่านฟ้าฯ พล.ต. จำลองได้กล่าวขอให้ประชาชนอยู่ในความสงบและนั่งลงต่อสู้โดยสันติวิธี ประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในความสงบ แต่มีบางส่วนที่ยังคงขว้างปาขวดน้ำใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ชายฉกรรจ์กลุ่มหน้าสุดประมาณ 20 คน พยายามประสานมือกันเพื่อดึงประชาชนให้นั่งลง
ยึดสถานีตำรวจดับเพลิงภูเขาทอง
       เวลา 23.00 น. ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ กลับสู่ความสงบ กลุ่มผู้ชุมนุนด้านกรมโยธาธิการกลับใช้ความรุนแรงและยั่วยุเจ้าหน้าที่ตำรวจจนเกิดการปะทะ มีการขว้างปาด้วยระเบิดเพลิงประทัด ในที่สุดก็มีการยึดสถานีตำรวจดับเพลิงภูเขาทอง
นำรถดับเพลิงออกมา ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการปะทะในบริเวณดังกล่าวให้สัมภาษณ์ว่า มีบุคคลกลุ่มหนึ่งนำขวดบรรจุน้ำมันก๊าดมาเตรียมไว้ที่บริเวณสถานีตำรวจดับเพลิงภูเขาทอง และกระทำการยั่วยุให้เกิดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับประชาชนบริเวณนั้นจนตำรวจต้องถอนกำลัง




เผาสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง
       ในช่วงเวลาเดียวกัน สถานการณ์ทางสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งมีสภาพไม่ต่างกับสถานีตำรวจดับเพลิงภูเขาทองเท่าใดนัก เพราะมีบุคคลกลุ่มหนึ่งเจตนาก่อความรุนแรงขึ้น โดยการขว้างปาสิ่งของต่าง ๆ เข้าไปในสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งลงมือเผาและทุบรถยนต์ ซึ่งเป็นภาพที่ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณสะพานผ้านฟ้าฯก่อนที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งจะถูกเผาเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ภายในอาคารเริ่มทยอยกันออกไปทางด้านหลังกองกำกับการ หลังจากตำรวจออกไป กลุ่มบุคคลเหล่านี้ได้เข้าไปในสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งเพี่อเผาและฉกฉวยทรัพย์สิน
       ผู้บุกรุกสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งเป็นกลุ่มชายฉกรรจ์ ตัดผมรองทรง บางคนศีรษะเกรียนร่วมกับกลุ่มวัยรุ่นอายุประมาณ 17-18 ปี มีข้อสังเกตว่า กลุ่มคนเหล่านี้มีการเตรียมการในการเผาทำลายอาคารไว้พร้อมพรัก เพราะมีผู้ชุมนุมบางคนพยายามเข้าไปห้ามแต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการขว้างปาถุงใส่น้ำมันจำนวนหลายถุงที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวเตรียมมาได้ นอกจากนี้ยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ เพราะแม้แต่ประตูห้องขังก็ได้เปิดให้ผู้ต้องขังหนีออกมาก่อนแล้ว กลุ่มผู้บุกรุกทำงานด้วยความคล่องแคล่ว รู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน ราวกับได้เตรียมการมาอย่างรอบคอบ
       ตลอดเวลาที่เกิดความวุ่นวายบนถนนราชดำเนินนอก ประชาชนนับแสนตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าฯ ถึงสี่แยกคอกวัว ซึ่ง พล.ต. จำลอง คุมสถานการณ์ไว้ได้ ยังคงนั่งชุมนุมอย่างสงบ
พล.ต. จำลอง ได้ประกาศต่อที่ชุมนุมว่า ไม่ขอรับผิดชอบต่อการก่อจลาจลทั้งหมดเพราะเป็นฝีมือของมือที่สามที่หวังสร้างสถานการณ์เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปราบปรามประชาชน


เหตุการณ์วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
       เที่ยงคืนเศษ โทรทัศน์ได้ออกข่าวว่า พล.ต.จำลองได้ปลุกระดมประชาชนทำลายทรัพย์สินของทางราชการ ทางราชการจึงต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาดเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียมากกว่านี้
เวลา 00.30 น. โทรศัศน์ออกประการศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ลงนามโดย พล.อ. สุจินดา และ พล.อ.อ. อนันต์ กลินทะ รมว. มหาดไทย
       เวลา 01.30 น. โทรทัศน์ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย ห้ามชุมนุมมั่วสุมเกิน 10 คนขึ้นไป
ต่อมาเวลาตีสาม โทรทัศน์ได้ประกาศเพิ่มเติมว่า พล.ต. จำลองได้นำการจลาจลเผารถ เผาสถานีตำรวจดับเพลิงภูเขาทอง ยึดสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน ทางราชการจึงต้องเข้าระงับความรุนแรงโดยเร็วที่สุด
       มีข้อน่าสังเกตว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาล ให้เหตุผลที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริง โดยกล่าวหาว่ากลุ่มผู้ชุมนุมที่พยายามรื้อลวดหนามมีเครื่องมือ ได้แก่ กรรไกรตัดเหล็กขนาดใหญ่ ถุงมือ และกระสอบ แต่หากพิจารณาจากภาพถ่ายของผู้สื่อข่าวแล้ว ประชาชนมีเพียงมือเปล่า
ในราวตีสี่เศษ กำลังทหาร 2,000 นายและตำรวจ 1,500 นาย ซึ่งเตรียมพร้อมที่สะพานมัฆวานฯ ก็เคลื่อนกำลังสู่สะพานผ่านฟ้าฯ มีการยิงปืนกราดใส่ฝูงชนบนถนนอย่างไร้เหตุผล มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย
แล้วในท่ามกลางความสงบของผู้ชุมนุมนับแสน เสียงปืนชุดแรกของทหารที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ ก็ดังสนั่นกึกก้องนานราว 15 นาที ลูกกระสุนแหวกอากาศเป็นห่าไฟขึ้นสู่ฟ้าตามวิถีเพื่อขู่ขวัญ ประชาชนที่ตรึงกำลังอยู่บริเวณผ่านฟ้าฯ ภูเขาทอง ป้อมมหากาฬ หลบหนีกันแตกกระเจิง มีเสียงร้องโอดครวญของผู้ได้รับบาดเจ็บเพราะถูกยิง และหลายคนเสียชีวิต
       สิ้นเสียงปืน ผู้ชุมนุมกลับมาผนึกกำลังกันใหม่ตรงสะพานผ่านฟ้าฯ ปรบมือเสียงดังหนักแน่นเรียกขวัญกำลังใจของผู้ชุมนุมให้กลับมากอีกครั้ง
       เกือบรุ่งสาง เสียงปืนชุดที่ 2 ก็ดังกึกก้องไม่แพ้ครั้งแรก ทหารเคลื่อนพลเดินดาหน้าเข้ามาพร้อมรถดับเพลิงฉีดน้ำใส่ฝูงชนจนแตกกลุ่มถอยรุนจากบริเวณสะพาน
เสียงปืนจางลง ผู้ชุมนุมพร้อมใจกันร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีราวกับต้องการขอพึ่งพระบารมีแห่งองค์พระมหากษัตริย์ให้ช่วยพสกนิการที่กำลังถูกทำร้าย ทว่าไม่ทันที่เสียงเพลงจะจบดี เสียงปืนก็ดังสนั่นขึ้นอีกครั้ง หนนี้ไม่มีเสียงตอบโต้จากผู้ชุมนุม
       กำลังทหารเข้ายึดสะพานผ่านฟ้าฯ พร้อมกับเอาลวดหนามกั้นไว้ วิถียิงที่มีทั้งขึ้นฟ้าและระดับบุคคลได้สงหารประชาชนและทำให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย ส่วนลำโพงของเวทีใหญ่ถูกยิงแตกกระจุย
ในช่วงเวลาเดียวกัน โทรทัศน์ประกาศว่ากำลังทหาร ตำรวจ ได้เข้ากราดล้างผู้ก่อความไม่สงบแล้ว




แผนไพรีพินาศ - แผนสังหารผู้บริสุทธิ์
       แผนไพรีพินาศ/ 33 ขั้นที่ 3 ระบุว่า หากปฏิบัติการในขั้นที่ 2 (ขั้นป้องกัน) ไม่สำเร็จ และสถานการณ์ทวีความรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมได้จำเป็นต้องใช้กำลังเข้าระงับยับยั้งและยุติภัยคุกคาม เพื่อสถาปนาความสงบเรียบร้อยให้กลับคืนมาก(รายงานของกองทัพบกต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของรัฐบาล)
       มีข้อน่าสังเกตว่า ในช่วงเวลา 23.00 น. ขณะเกิดการปะทะกันบริเวณกรมโยธาธิการ นายตำรวจรักษาการณ์ที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งได้ขอกำลังทหารมาช่วยตั้งแต่เที่ยงคืนก่อนมีการเผาสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง แต่กำลังทหารกลับมาถึงเวลา 04.00 น. หลังจากที่สถานีตำรวจนนครบาลนางเลิ้งถูกเผาไปเรียบร้อยแล้ว
       ถ้าพิจารณาตามแผนไพรีพินาศแล้วกล่าวได้ว่าการสลายการชุมนุมเป็นไปตามขั้นตอนที่วางไว้และเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งอาจตกเป็นเหยื่อของการเผาสถานีตำรวจ
เพราะนายตำรวจประจำสถานีนครบาลได้ขอกำลังจากโรงเรียนนายร้อย จปร. (เก่า) ตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนแต่เป็นเพราะเหตุใด กำลังทหารจึงมาถึงล่าช้าทั้ง ๆ ที่ระยะทางห่างกันเพียงไม่ถึงหนึ่งกิโลเมตร




จับจำลอง - สลายม๊อบ
       หกโมงเช้า พล.ต. ฐิติพงษ์ เจนนุวัตร ผู้บัญชาการกองพล 1 กับตัวแทนทหารอีกหนึ่งคนเปิดเจรจากับตัวแทนฝ่ายชุมนุม คือ นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ส.ส. พรรคพลังธรรม ที่จุดกึ่งกลางระหว่างทหารกับประชาชน โดยฝ่ายทหารขอให้ไปชุมนุมที่สนามหลวง
เจ็ดโมงเช้า พล.ต จำลองโทรศัพท์ติดต่อกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรี เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและขอความช่วยเหลือ
        สิบโมงเช้า ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.สุจินดาชี้แจงกับคณะรัฐมนตรีถึงสถานการณ์และเหตุผลที่ประกาศภาวะฉุกเฉินแม่ไม่ได้พูดถึงการใช้กำลังอาวุธเข้าทำร้ายประชาชน
เตรียมสลายการชุมนุม
ที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ หลังจากทหารได้ใช้อาวุธปราบปรามผู้ชุมนุมเมื่อตอนเช้ามืด ในตอนสาย บรรยากาศการชุมนุมกลับสู่ความสงบอีกครั้งหนึ่ง ผู้ชุมนุมได้มอบดอกไม้ให้แก่ทหารและตำรวจปรามจราจล
       12.30 น. กองกำลังรักษาพระนครวางแผนสลายการชุมนุม (จากรายงานของกองทัพบกต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของรัฐบาล)
       13.00 น. ทหารตั้งกำลังปิดกั้นบริเวณสะพานพระปิ่นเกล้า ท่าพระจันทร์ สีแยกคอกวัว และวางลวดหนามขวางถนนราชดำเนินตรงบริเวณหน้ากรมประชาสัมพันธ์ ประชาชนที่ต้องการเข้าร่วมชุมนุมถูกสกัดไว้ไม่ให้เข้า ในขณะที่ผู้ชุมนุมภายในเหลืออยู่เพียง 2 หมื่นคน
       14.00 น. พล.อ. สุจินดาออกแถลงการณ์ทางโทรทัศน์กล่าวหา พล.ต. จำลองและบุคคลบางคนว่าเป็นภัยต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นผู้ยุยงปลุกปั่นให้การชุมนุมเกิดความรุนแรงจนทำร้ายเจ้าหน้าที่และทำลายสถานที่ราชการ จึงต้องใช้กำลังทหารตำรวจเข้าปราบปรามขั้นเด็ดขาดเพื่อยุติความเสียหาย
       15.00 น. กองกำลังรักษาพระนครก็สั่งการให้สลายการชุมนุมจากสะพานผ่านฟ้าฯ ถึงกรมประชาสัมพันธ์ โดยให้เหตุผลว่า
 "ในขณะนั้นมีผู้ชุมนุมเพิ่มขึ้นจำนวนมากกองกำลังรักษาพระนครได้พิจารณาเห็นว่า หากการชุมนุมในจุดังกล่าวดำเนินต่อไปจนถึงเวลาค่ำเหตุรุนแรงก็คงจะเกิดขึ้นอีกเหมือนกับที่เกิดขึ้นในคืนที่ผ่านมาแล้ว (17 พ.ค. 35 ) จึงจำเป็นต้องสลายการชุมนุม"


สังหารโหด ใบไม้ร่วงกลางนาคร
       บ่ายสามโมง บนถนนราชดำเนินขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาพพักผ่อนหลบแดดร้อน เสียงปืนก็ดังสนั่นราวฟ้าถล่มทหารเดินดาหน้าเข้าล้อมกรอบกลุ่มผู้ชุมนุมจากทุกทิศ
โดยมีรถหุ้มเกราะเคลื่อนตามมาข้างหลัง ผู้คนนับหมื่นแตกกระเจิงวิ่งหนีหลบไปตามซอกเล็กซอกน้อย ส่วนที่เหลือราว 3,000 คนหมอบราบลงกับพื้น ได้ยินเสียงหวีดร้องและเสียงร้องให้สะอึกสะอื้นท่ามกลางเสียงปืนรัวกระหน่ำผู้ที่หลบรอดมาได้เล่าว่า ทหารนอกจากยิงปืนขึ้นฟ้าแล้ว ยังยิงกราดใส่ผู้ชุมนุมด้วย และมีกองกำลังบางส่วนใช้กระบองเข้าทุบตีผู้ชุมนุมที่นอนหมอบกับพื้นอย่างไม่ยั้งมือ
      "อย่าทำร้ายประชาชน จับผมไปคนเดียว" พล.ต. จำลองพยายามเปล่งเสียงพร้อมกับชูมือแสดงตัวขณะที่หมอบราบอยู่กับฝูงชน สารวัตรทหารร่างยักษ์สองนายตรงเข้าจับกุมใส่กุญแจมือแล้วนำตัวขึ้นรถออกไปจากที่ชุมนุมกำลังทหารเข้ายึดพื้นที่ถนนราชดำเนินตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าฯ ถึงสี่แยกคอกวัวไว้ได้อย่างสิ้นเชิงผู้ชายถูกสั่งให้ถอดเสื้อนอกคว่ำหน้า สองมือไพล่หลังมัดไว้ด้วยเสื้อ ส่วนผู้หญิงนอนคว่ำหน้า หลายคนร่างสั่นสะทกหวาดผวา น้ำตาอาบใบหน้ารถ ยี เอ็ม ซี 10 คันและรถบัส 3 คน นำผู้ชุมนุมไปกักขังที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน ประมาณว่ามีผู้ถูกจับนับพันคน
       15.45 น. ข่าวด่วนพิเศษทางโทรทัศน์ประกาศว่า กองกำลังรักษาพระนครได้สลายกลุ่มก่อการจลาจลเรียบร้อยแล้วโดยไม่เสียเดือดเนื้อการเข้าสลาบม๊อบครั้งนี้ใช้กำลังทหารสามกองพัน ร่วมกับตำรวจตระเวนชายแดนในชุดปราบจราจลอีกหนึ่งกองพัน ประมาณ 2,000 คน พร้อมรถเกราะติดปืนกลสี่คัน ภายหลังการสลายม๊อบกำลังทหารยังหนุนเข้ามาไม่ขาดสาย ประมาณว่ามีกำลังทหารทั้งหมดไม่ต่ำกว่าหนึ่งกองพลกับอีกห้ากองพันหรือประมาณ 6,000-7,000 คน
       เสียงปืนรัวเป็นชุด ๆ ยังดังอยู่ตลอดถนนราชดำเนินเพื่อสลายฝูงชนที่ยังเหลืออยู่ตามซอกเล็กซอกน้อย และปรามไม่ให้คนนอกเข้ามาภายในบริเวณ ส่วนตามแนวสกัดของทหารโดยรอบถนนราชดำเนินยังมีฝูงชนจับกลุ่มตะโกนด่าทหารและขับไล่ พล.อ. สุจินดา
       สี่โมงครึ่ง มีการยิงปืนใหม่กราดไปทางป้อมมหากาฬ ใส่กลุ่มคนที่หลบตามซอกหลืบ มีคนล้มกองกับพื้นในบริเวณนั้นมากมาย
       ห้าโมงเศษ กำลังทหารได้กราดยิงติดต่อกันเป็นเวลานานอีกครั้งทั่วทั้งถนนราชดำเนิน ตั้งแต่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปจนถึงสะพานผ่านฟ้า
หลังจาก พล.ต. จำลองถูกจับ ประชาชนยังคงไม่สลายการชุมนุม แต่กลับทวีจำนวนมากขึ้นและถอยร่นไปตั้งหลักอยู่บริเวณกรมประชาสัมพันธ์โรงแรมรัตนโกสินทร์ และบริเวณใกล้เคียง ทางด้านหน้ากรมประชาสัมพันธ์มีกำลังของกองทัพบกจำนวนหนึ่งกองพันอยู่ในแนวที่ 1 หน้าแนวรั้วลวดหนาม แนวที่ 2 เป็นกำลังของทหารอากาศจำนวนหนึ่งกองพัน และแนวที่ 3 เป็นกำลังของกองทัพบกอีกสองกองพัน
       หกโมงเย็น ประชาชนจากที่ต่าง ๆ ราว 5 หมื่นคนได้กลับมารวมตัวกันที่บริเวณหน้ากรมประชาสัมพันธ์ทอดยาวไปถึงกระทรวงยุติธรรมหน้าขบวนถือธงชาติโบกสะบัด ทั้งอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชินีนาถ มายืนประจันหน้ากับแนวรั้วลวดหนามและแถวทหาร
เสียงปืนดังรัวถี่ยิบนานนับสิบนาที ฝูงชนหมอบราบกับพื้น บ้างส่งเสียงโห่ บ้างเคาะขวดพลาสติกกับพื้นดังสนั่น สิ้นเสียงปืนปรากฏว่าชายหนุ่มคนหนึ่งถูกยิงที่คอทรุดฮวบกับพื้น และชายชราคนหนึ่งถูกยิงตรงท้ายทอย กระสุนทะละหน้าผากมันสมองไหลนอง ประชาชนยืนมุงดูด้วยความโกรธแค้น เสียงตะโกนแช่งดา พล.อ. สุจินดา ดังกึกก้องทั่วบริเวณ
       ทุ่มครึ่ง รถบรรทุกน้ำรถเสบียงของทหารพยายามฝ่าฝูงชนเข้าไปส่งเสบียง ฝูงชนจึงเข้ายึดและจุดไฟเผา กลุ่มผู้ชุมนุมพยายามต่อต้านการปราบปรามโดยใช้อาวุธและเครื่องกีดขวางที่หาได้ในบริเวณนั้น
เช่น ขวดน้ำพลาสติก กระถางต้นไม้แผงกั้นจราจร ตลอดจนรถประจำทาง รถน้ำมัน มีการยึดรถเมล์ 11 คน วัยรุ่นกล้าตายขึ้นยืนโบกธงเบียดเสียดกันบนหลังคารถ ร้องเพลงปลุกใจสลับกับตะโกนขับไล่ พล.อ. สุจินดา
       พรรคฝ่ายค้านที่พรรคออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลยุติการใช้กำลังรุนแรงกับประชาชนทันทีโดยไม่มีข้อแม้ และพรรคฝ่ายค้านจะยื่นญัตติให้รัฐบาลชี้แจงกรณีใช้ความรุนแรงกับประชาชน ทั้งจะเสนอให้มีการตรวจสอบเหตุการณ์อย่างละเอียดเพราะมีเรื่องน่าสังเกตหลายประการส่วนทางรัฐบาลออกประกาศจับแกนนำเจ็ดคน คือ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล น.พ. เหวง โตจิราการ น.พ. สันต์ หัตถีรัตน์ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ น.ส. จิตราวดี วรฉัตร และนายวีระ มุสิกพงศ์




เผาและเผา
       เพื่อนฝูงที่ล้มตายต่อหน้า คนเจ็บที่นอนพะงาบ ๆ อยู่กับพื้น กลิ่นคาวเลือด ควันปืน เสียงร่ำให้หวีดร้อง การต่อสู้ของคนมือเปล่าถูกตอบแทนด้วยอาวุธหนักยิ่งกว่าในสงคราม ความอัดอั้นคับแค้นปะทุออกมาอย่างสุดกลั้น รถยนต์หลายคันในบริเวณนั้นถูกเข็นออกมากลางถนน กระหน่ำตีด้วยไม้กระทืบและพลิกคว่ำให้สาแก่ใจ มีแต่ความรู้สึกต้องการทำลาย จนกว่าจะหมดเรี่ยวแรงหรือความคับแค้นที่มีต่อสิ่งเลวร้ายทั้งหลายทั้งปวงที่ได้รับอุบัติขึ้น
       ความพยายามเผากรมประชาสัมพันธ์เกิดขึ้นสองช่วงเวลาคือ ช่วงแรกเวลา 22.00 - 23.00 น. เริ่มจากการทุบกระจกกรมประชาสัมพันธ์โดยใช้ขวดบรรจุน้ำมัน เศษผ้า เศษกระดาษ โยนเข้าไปข้างในตึก ทำให้ไฟลูกไหม้โต๊ะทำงานของเจ้าหน้าที่กรมประชาสัมพันธ์ ผู้ชุมนุมพยายามช่วยกันดับไฟได้ทัน
แต่เพลิงได้ลุกไหม้ขึ้นอีกครั้งในช่วงเวลาตีสามหลังจากการปราบปรามช่วงสี่ทุ่ม มีผู้นำรถเมล์และรถน้ำมันเข้ามาในบริเวณอาคาร ไฟได้ลุกไหม้ขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุ และไม่มีใครสามารถดับได้ทัน
ทางด้านกองสลากถูกเผาในช่วงเวลาประมาณสี่ทุ่มเศษ และกรมสรรพากรเผาเมื่อเวลา 12.00 น. ของวันที่ 19 พฤษภาคม โดยกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวน 200-300 คนรวมทั้งม๊อบจักรยานยนต์ประมาณ 50 คัน ได้เริ่มเผาตั้งแต่ชั้นล่างจนกระทั่งกลุ่มควันได้กระจายออกมาจนถึงด้านนอกและลุกไหม้จนทั่วอาคารในที่สุด
เพลิงลุกโซนในราตรีอันมืดมิด ถนนราชดำเนินเงียบวังเวง มีเพียงเสียงเปลวไฟปะทุ กับเสียงปืนที่ดังเป็นระยะ ๆ ตลอดคืน
       มีข้อน่าสังเกตว่า กรมประชาสัมพันธ์ที่มีเค้าว่าจะถูกเผาตั้งแต่สี่ทุ่มของคืนวันที่ 18 พฤษภาคม แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจดับเพลิงกลับได้รับคำสั่งให้เข้าดับไฟเมื่อเวลาประมาณ 01.00 น. ของวันที่ 19 พฤษภาคม
       เจ้าหน้าที่กรมประชาสัมพันธ์ที่อยู่ในเหตุการณ์กล่าวว่า เห็นรถดับเพลิงสามคันแรกมาถึงที่เกิดเหตุเมื่อเวลาประมาณตีสี่สิบนาที (รายงานการให้ข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการวิสามัญ) จึงมีผู้ตั้งคำถามว่า เหตุใดคำสั่งให้ดับเพลิงจึงล่าช้ากว่าเวลาเกิดเหตุนานจนกระทั่งสถานที่ราชการถูกไฟเผาจนหมด
หรือประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอีกครั้งเมื่อรัฐต้องการสร้างความชอบธรรมในการปราบปรามประชาชนด้วยเหตุผลทำลายทรัพย์สินราชการ !
       สามทุ่มครึ่ง ทหารที่ยืนตรึงกำลังชั้นนอกสุดได้รับคำสั่งให้ติดดาบปลายปืน บรรยากาศตึงเครียดขึ้นทันที
      สี่ทุ่มเศษ ขณะที่รถเมล์คันใหม่ที่เพิ่งยึดมาได้กำลังเคลื่อนที่เข้าเทียบติดรั้วลวดหนาม ทหารก็กระหน่ำปืนกลขึ้นชุดใหม่อย่างต่อเนื่อง ฝูงชนหมอบราบกับพื้น บ้างตะเกียกตะกายคลานหลบจากแนวหน้ากระสุนแหวกอากาศเป็นแสงไฟแลบแปลบปลาบ วัยรุ่นบนหลังคารถถูกยิงร่วงกราว ไม่เว้นแม้แต่คนที่กำลังถือธงหรือชูพระบรมฉายาลักษณะห่ากระสุนส่วนหนึ่งเด็ดชีวิตประชาชนบนหลังคาอาคารกองสลากฯ โดยไม่ทันรู้ตัวแล้วเกินกว่าใครจะคาดคิด คนขับรถเคนตายคนหนึ่งก็ตะบึงรถเมล์พุ่งพังรั้วลวดหนามเข้าหาแนวทหาร ห่ากระสุนถล่มเข้าใส่รถเมล์เสียงดังหูดับตับไหม้จนกระทั่งพรุนไปทั้งคันรถและจอดแน่นิ่งพร้อมกับร่างคนขับหลังพวงมาลัยความกล้าหาญและความตายของเขาปลุกจิตใจของคนที่เหลือ รถเมล์อีกหลายคันถูกเข็นให้เคลื่อนเข้าใส่ทหาร ห่ากระสุนชุดใหม่คำรามก้องแต่ไม่อาจหยุดยั้งฝูงชนที่กำลังบ้าคลั่งได้อีกต่อไป รถเมล์ยังคงรุกคืบหน้าเข้าไปเรื่อย ๆแถวทหารทั้งระดมยิงและถอยร่นไปตั้งหลักห่างออกไป ชายคนหนึ่งขึ้นไปยืนโบกธงชาติอย่างไม่เกรงกลัวอยู่บนหลังคารถกระสุนไม่ทราบจำนวนถีบร่างเขาร่วงสู่พื้นเสียชีวิตไปทันที
       สิ้นเสียงปืน ซากรถเมล์กลายเป็นเศษเหล็กกลิ่นคาวเลือกโชยคลุ้ง เสียงหวีดร้องสับสน ถนนราชดำเนินเกลื่อนกลาดด้วยศพและผู้บาดเจ็บนับร้อย ๆ เลือดสีแดงอาบพื้นแผ่นดิน
หนึ่งในหลาย ๆ ร่างที่นอนแน่นิ่งจมกองเลือกจักรพันธ์ อมราช ชายหนุ่มวัย 22 ปี ขึ้นไปโบกธงชาติอยู่บนหลังคารถ ถูกยิงเสกหน้า หัวสมองแตกระเบิดด้วยแรงกระสุน ร่างของเขาร่วงหล่นสู่ผืนดิน ผู้คนร่ำไห้กรีดร้องโหยหวนรอบ ๆ เขา"ทหารฆ่าประชาชน ทหารฆ่าประชาชน"
       ในช่วงเวลาสี่ทุ่มเป็นต้นมา หน่วยพยาบาลซึ่งประจำอยู่ที่ภัตตาคารศรแดง มุนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้ย้ายมายังโรงแรมรัตนโกสินทร์เพราะกลุ่มแพทย์ประเมินสถานการณ์ว่า การรวมตัวของประชาชนที่บริเวณหน้ากรมประชาสัมพันธ์มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปะทะกันร่างผู้บาดเจ็บที่โชกด้วยเลือด และศพวีรชนคนแล้วคนเล่า ถูกหามเข้าสู่ห้องล๊อบบี้ของโรงแรมรัตนโกสินทร์ซึ่งกลุ่มแพทย์อาสาได้จัดสถานที่เป็นหน่วยพยาบาลฉุกเฉิน มีแพทย์ประมาณ 40 คน และรถพยาบาลหกคันคอยรับมือกับจำนวนคนเจ็บที่เพิ่มมากขึ้นทุกขณะอาสาสมัครจับมือล้อมวงกั้นเป็นเขตรักษาเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การปฏบัติงานของแพทย์และพยาบาล ศพและคนเจ็บถูกหามเข้ามาเรื่อย ๆ หลายคนมีบาดแผลฉกรรจ์ที่ขา หน้าอก กลิ่นคาวเลือกตลบอบอวล บางคนอยู่ในอาการหวาดกลัว แพทย์ทุกคนพยายามช่วยอย่างเต็มความสามารถ แพทย์คนหนึ่งบอกให้นำแต่เฉพาะคนเจ็บเข้ามาก่อน แต่ก็เสียงตอบกลับมาว่าข้างนอกมีอยู่อีกมากเหลือเกิน ยังเองเข้ามาไม่ได้คนเจ็บถูกทยอยส่งโรงพยาบาลโดยรถพยาบาลเที่ยวแล้วเที่ยวเล่า เสียงไซเรนร้องโหยหวน ทว่ารถพยาบาลที่วิ่งออกไปส่วนใหญ่ไม่สามารถกลับเข้ามารับผู้บาดเจ็บเพราะทหารสกัดไว้ ผู้ชุมนุมจึงนำรถเมล์มาช่วยขนคนเจ็บ ขณะเดียวกันโรงพยาบาลศิริราชก็ได้ประกาศรับบริจาคโลหิตเป็นการด่วนราวเที่ยงคืนข่าวด่วนพิเศษทางโทรทัศน์แถลงปฏิเสธว่า ข่าวทหารยิงประชาชนนั้นไม่เป็นความจริง




เหตุการณ์วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๓๕ มอเตอร์ไซค์พิทักษ์ประชาธิปไตย
       หลังเที่ยงคืน ฝูงชนที่ถนนราชดำเนินเริ่มบางตา แต่ยังรวมกลุ่มกันอยู่เป็นกระจุก ๆ รอบสนามหลวง ตามอาคารและซอกซอยต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็มีรถจักรยานยนต์จับกลุ่มวิ่งไปตามถนนสายต่าง ๆ กลุ่มละ 60 คันบ้าง 70 คันบ้าง รายงานจากบางแหล่งอ้างว่าบางกลุ่มมีรถจักรยานยนต์ถึง 500 คัน
กลุ่มรถจักรยานยนต์เข้าทำลายสัญญาณไฟจราจรตามสี่แยก ป้อมยาม ป้อมตำรวจ ถูกทุบเสียหาย บางแห่งก็ถูกเผา โดยเฉพาะสถานีตำรวจจะเป็นจุดที่กลุ่มรถจักรยานยนต์เล็งเป็นเป้าหมายของการแก้แค้นแทนฝูงชนที่ถูกสังหารบริเวณราชดำเนิน
       เส้นทางของกลุ่มรถจักรยานยนต์นั้นมีตลอดทั่วทั้งกรุง เช่น ถนนพระรามสี่ สะพานขาว เยาวราช ราชวงศ์ สถานีหัวลำโพง ท่าพระ ฯลฯ สร้างความวุ่นวายราวเกิดสงครามกลางเมืองด้วยการปฏิบัติการดั้งหน่วยรบเคลื่อนที่ แต่นอกจากการทำลายข้าวของราชการแล้ว พวกเขายังชักชวนผู้คนตามท้องถนนให้ไปร่วมต่อสู้ที่สนามหลวงด้วย นอกจากนั้นมอเตอร์ไซค์บางคันยังถูกใช้เป็นพาหนะ ช่วยพาผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลได้ทันเวลา เนื่องจากรถพยาบาลถูกทหารปิดกั้นไม่ให้วิ่งผ่าน จากบทบาทเหล่านี้ จึงเกิดศัพท์เรียกกลุ่มนี้ว่า "ขบวนการมอเตอร์ไซค์
       การปฏิบัติการของ "หน่วยไล่ล่า" เริ่มขึ้นตั้งแต่เวลา 22.00 น. ของวันที่ 18 พฤษภาคม ไปจนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม โดยพื้นปฏิบัติการได้กระจายไปทั่วกรุงเทพฯ มีประชาชนผู้บริสุทธิ์ตกเป็นเหยื่อสังเวย "หน่วยไล่ล้า" ครั้งนี้ตั้งแต่ฝั่งพระนครบริเวณสะพานขาว ไปจนถึงฝั่งธนบุรี ตั้งแต่โรงพยาบาลพระปิ่นเกล้า (โรงพยาบาลทหารเรือ ตลาดพลู บุคคโล ไปจนถึงถนนสาธรด้วยความคล่องตัวของรถจักรยานยนต์ ทำให้กำลังตำรวจไม่สามารถจัดการกลุ่มรถจักรยานยนต์พิทักษ์ประชาธิปไตยได้อย่างเด็ดขาดในคืนนั้น และขบวนการมอเตอร์ไซค์ก็ได้พลิกสถานการณ์ให้เห็นว่า การล้อมฆ่าที่กรมประชาสัมพันธ์ไม่อาจหยุดยั้งการต่อสู้ของประชาชนได้เลย


อรุณรุ่งที่ไร้การบันทึก
       เวลา 04.55 น. ของวันที่ 20 พฤษภาคม นายแพทย์คนหนึ่งในโรงเรียนรัตนโกสินทร์ถือโทรโข่งแจ้งว่า กำลังทหารจากศูนย์สงครามพิเศษลพบุรีเคลื่อนประชิดเขามาแล้ว และมีข่าวว่าจะปิดล้อมปราบขั้นสุดท้ายเวลาตีห้า แพทย์ได้แจ้งให้ทุกคนทราบและทำการปรับสภาพหน่วยพยาบาลให้อยู่ทำเลที่ปลอดภัยพร้อมกับเตรียมรับสถานการณ์บุกปราบ โดยให้ทุกคนนอนราบคว่ำหน้ากับพื้นประสานมือหลังศรีษะ นอนนิ่ง ๆ ไม่ส่งเสียงและไม่ต่อสู้
      ราวตีห้า กำลังทหารกว่า 1,000 นายเดินเรียงหน้ากระดานระดมยิงเข้าใส่ฝูงชนตั้งแต่หน้ากรมประชาสัมพันธ์เข้ามา เพื่อหวังเผด็จศึกสลายการชุมนุมให้ได้ก่อนรุ่งสาง ฝูงชนแตกกระจายไปคนละทิศละทาง
บ้างคว่ำจมกองเลือดบ้างคลานตะเกียกตะกายให้พ้นวิถีกระสุน กำลังทหารจากทุก ๆ ด้านโอบล้อมต้อนฝูงชนไม่ให้เล็ดลอดออกไปได้ เสียงหวีดร้องดังระงมไปทั่ว เสียงปืนดังเป็นระยะตามจุดต่าง ๆ
เพียง 30 นาที ฝูงชนถูกต้อนมารวมกันหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ ผู้ชายถอดเสื้อมัดมือไพล่หลัง ส่วนผู้หญิงถูกกันไว้อีกทางใครขัดขืนจะถูกกระทืบไม่เว้นแม้แต่แพทย์อาสาซึ่งสวมชุดเขียวแตกต่างจากคนทั่วไป ห้องพักทุกห้องถูกเข้าตรวจค้น ใครที่ไม่สามารถแสดงหลักฐานการเข้าพักจะถูกต้อนลงมารวมกับคนอื่น ๆ หน้าโรงแรม ทหารเหยียบลงบนร่างนับร้อยที่นอนคว่ำหน้าอยู่แน่นขนัดในห้องล๊อบบี้ พร้อมกับส่งเสียงตะโกนว่า "เหยียบมันเข้าไป ไอ้ตัวแสบพวกนี้เผาบ้านเผาเมือง เอาไว้ทำไม"
       เกือบหกโมงเช้า ประชาชนราว 2,000 กว่าคนนั่งก้มหน้านิ่งในสภาพเชลยศึกสงครามอัดกันอยู่หน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์รถยีเอ็มซี 20 คัน รถบัสทหารสองคัน ขนผู้ต้องหาก่อการจลาจลส่งเรือนจำชั่วคราวที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขนเหตุการณ์ช่วงการเข้าเผด็จศึกครั้งสุดท้ายไม่มีช่างภาพคนใดได้บันทึกภาพ หรือแม้กระทั่งถ่ายภาพวีดีโอ ไม่มีใครรู้ว่าประชาชนถูกสังหารไปอีกกี่มากน้อย หลายเสียงเล่าว่า ศพถูกขนขึ้นรถยีเอ็มซีไป แต่ไม่มีใครทราบว่ารถจะวิ่งไปสู่ที่ใด
       ภาพหลังเหตุการณ์ล้อมปราบ กลุ่มคณาจารย์มหาวิทยาลัยเอกชนห้าสถาบัน ซึ่งได้ร่วมมือกันเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ผู้บาดเจ็บในโรงพยาบาลและผู้อยู่ในเหตุการณ์ช่วงวิกฤต ได้ตั้งข้อสังเกตว่าการปราบปรามประชาชนครั้งนี้มีพฤติการณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาตีห้า (ผู้สื่อข่าวถูกถอนออกมาหมดตั้งแต่เวลาตีหนึ่ง) ซึ่งผู้ร่วมเหตุการณ์เห็นตรงกันทั้งหมดว่า น่าจะเป็นช่วงเวลาที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมากที่สุด เพราะลักษณะการปราบปรามเป็นการปิดล้อมและระดมยิงเข้ามาทุกด้าน(ยกเว้นทางสะพานพระปิ่นเกล้าซึ่งทหารเรือเปิดให้ผู้ชุมนุมวิ่งออกไป) มีผู้ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า มีคนบาดเจ็บและเสียชีวิตขณะที่วิ่งหลบเข้าไปตามตรอกซอกซอยต่าง ๆ ทุกแห่ง




เหตุการณ์วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๓๕ รัฐบาลแถลงข่าว
       ผู้สื่อข่าวต่างประเทศถามนายสมัครว่าเห็นด้วยกับการฆ่าประชาชนหรือไม่ นายสมัครตอบว่าทำไมเวลาจอร์ช บุช ส่งทหารไปแอลเอ 6,500 นาย ไม่เห็นมีใครด่าบุชเลย
ต่อมา พล.อ. สุจินดาได้ออกแถลงข่าวทางโทรทัศน์เสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิด และยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิตเพียง 40 คน บาดเจ็บ 600 คนเท่านั้น


ประกาศเคอร์ฟิว
       เวลาทุ่มครึ่ง ได้มีประกาศห้ามบุคคลในท้องที่ กมม. ออกจากเคหสถานระหว่างเวลา 21.00-04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น แต่ขณะเดียวกันที่รามคำแหง ประชาชนยังคงทยอยมาร่วมชุมนุมกันเกือบแสนคน
      เวลาห้าทุ่มครึ่ง โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจและสถานีวิทยุกระจายเสียงทุกแห่งได้ถ่ายทอดข่าวสำคัญ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.สุจินดา และพล.ต.จำลอง เข้าเผ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท 
      พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเตือนสติและสั่งสอนบุคคลทั้งสอง ทรงชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่จะมีต่อประเทศชาติ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ขอให้บุคคลทั้งสองเป็นตัวแทนฝ่ายต่าง ๆ หันหน้าเข้าหากัน ช่วยกันแก้ปัญหาทำอย่างไรให้ประเทศชาติกลับคืนขึ้นมาภายหลังจากกราบบังคมทูลลาแล้ว พล.อ. สุจินดา และ พล.ต. จำลอง พร้อมด้วยนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี และ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้ร่วมประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นพล.อ.สุจินดา กับ พล.ต. จำลอง ได้ออกแถลงร่วมกันทางโทรทัศน์ โดย พล.อ. สุจินดา แถลงว่าจะปล่อยตัว พล.ต. จำลอง และออกกฎหมาย นิรโทษกรรมให้แก่ผู้ชุมนุม และจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร็ว ส่วน พล.ต. จำลองแถลงว่า ขอให้ผู้ที่ก่อความวุ่นวายยุติการกระทำ
       ผู้ชุมนุมที่รามคำแหงหลังจากได้ชมข่าวสำคัญและการแถลงข่าวของบุคคลทั้งสอง ส่วนใหญ่รู้สึกผิดหวังที่ พล.อ. สุจินดายังไม่ลาออก แต่ที่ชุมนุมก็ได้ตัดสินใจสลายการชุมนุม แต่ยังคงอยู่รวมกันในมหาวิทยาลัยรามคำแหงจนกว่าจะถึงเวลาตีสี่ ซึ่งพ้นเวลาเคอร์ฟิวแล้ว จึงค่อยทยอยกันกลับบ้าน
มีความเป็นไปได้สูงมากกว่า ถ้าเหตุการณ์การชุมนุมที่รามคำแหงยังไม่ยุติการนองเลือดคงเกิดขึ้นอีกครั้งแน่นอน เห็นได้จากรายงานที่กองทัพบกเสนอต่อคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของรัฐบาล (ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาวิปโยค) กล่าวว่า"การที่เจ้าหน้าที่ใช้ความนุ่มนวลต่อผู้ชุมนุม เช่น การเจรจาทำความเข้าใจการใช้น้ำฉีด การใช้แนวตำรวจแนวทหารประกอบอาวุธโดยมิได้บรรจุกระสุนปืนตามมาตรการขั้นเบา ไม่น่าจะได้ผลเพราะกลุ่มผู้ก่อการจราจลไม่ยำเกรง หากการดำเนินการของกลุ่มผู้ก่อการจลาจลที่รวมอยู่กับประชาชนยังคงอยู่ จะต้องเกิดความไม่ปลอดภัยทั้งแก่เจ้าหน้าที่และประชาชน ผู้ก่อการจลาจลเหล่านี้สมควรจะต้องถูกสลายและควบคุมตัวถ้าจำเป็น เพื่อหยุดก่อความวุ่นวายที่เกิดขึ้น"

ที่มา; http://www.oknation.net/blog/print.php?id=38110