โปรแกรม Picasa

วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การปกครองสมัยสุโขทัย

       อาณาจักรสุโขทัยเมื่อแรกตั้งเป็นอาณาจักรเล็ก ๆ สมัยที่รุ่งเรืองที่สุดคือสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีอาณาเขตทิศเหนือจรดเมืองลำพูน ทิศตะวันออกเฉียงเหนือจรดเทือกเขาดงพญาเย็นและภูเขาพนมดงรัก ทิศตะวันตกจรดเมืองหงศาวดี ทางใต้จรดแหลมมลายู มีกษัตริย์ปกครองเป็นเอกราชติดต่อกันมา 6 พระองค์อาณาจักรสุโขทัยเสื่อมลงและตกเป็นเมืองขึ้น ของกรุงศรีอยุธยาเมื่อสมัยพญาไสลือไท โดยทำสงครามปราชัยแก่  พระบรมราชาที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 1921  และราชวงศ์พระร่วงยังคงปกครองในฐานะประเทศราชติดต่อกันมาอีก 2 พระองค์ จนสิ้นราชวงศ์ พ.ศ.1981 
       ลักษณะการปกครองของสมัยสุโขทัย เป็นการปกครองแบบบิดาปกครองบุตรหรือการปกครองคนในครอบครัว คือพระมหากษัตริย์เป็นเสมือนพ่อ หรือข้าราชการบริพารเปรียบเสมือนลูกหรือคนในครอบครัวทำการปกครองลดหลั่นกันไปตามลำดับ ศาสตราจารย์  James N. Mosel  ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการปกครองของไทยในสมัยกรุงสุโขทัยไว้ว่า มีลักษณะสำคัญ 2 ประการคือ มีลักษณะเป็นการปกครองแบบพ่อปกครองลูกกับการดำเนินการปกครองแบบหัวเมืองขึ้น 
       สำหรับการปกครองแบบบิดากับบุตรนี้ในปาฐกถาของ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่องลักษณะการปกครองประเทศสยาม  แต่โบราณได้อธิบายไว้ว่าวิธีการปกครองในสมัยสุโขทัยนั้น นับถือพระเจ้าแผ่นดินอย่างบิดาของประชาชนทั้งปวงวิธีการปกครองเอาลักษณะการปกครองสกุลมาเป็นคติ เป็นต้น บิดาปกครองครัวเรือนหลายครัวเรือนรวมกันเป็นบ้านอยู่ในปกครองของพ่อบ้าน ผู้อยู่ในปกครอง เรียกว่า ลูกบ้าน  หลายบ้านรวมกันเป็นเมืองถ้าเป็นเมืองขึ้นอยู่ในความปกครองของพ่อเมือง ถ้าเป็นประเทศราชเจ้าเมืองเป็นขุนหลายเมือง รวมกันเป็นประเทศที่อยู่ในความปกครองของพ่อขุน ข้าราชการในตำแหน่งต่าง ๆ เรียกว่า ลูกขุน
       วิธีการปกครองของไทยเป็นอย่างบิดาปกครองบุตรยังใช้หลักในการปกครองประเทศไทยมาจนเปลี่ยนแปลงการปกครอง คำว่าปกครองแบบ พ่อปกครองลูก นี้มีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อจิตใจของคนไทยเป็นอย่างยิ่ง พระเจ้าแผ่นดินสมัยสุโขทัยตอนต้น ประชาชนมักใช้คำแทนตัวท่านว่า  พ่อขุน จนเมื่ออิทธิพลของขอมเข้ามาแทรกแซงก็ได้เปลี่ยนไปใช้คำว่า พระยา ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับกษัตริย์ ซึ่งเดิมเปรียบเสมือนพ่อกับลูกได้กลายสภาพเป็นข้ากับเจ้าบ่าวกับนายไป
       การปกครองสมัยสุโขทัยระยะแรก เป็นการปกครองแบบพ่อปกครองลูก พระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นเหมือนหัวหน้าครอบครัวใหญ่ที่สุด ทรงปกครองดูแลราษฎรอย่างใกล้ชิดเหมือนพ่อปกครองลูก โดยเฉพาะสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ผู้ใดมีเรื่องเดือดร้อนก็สามารถเข้าเฝ้าถวายฎีการ้องทุกข์ต่อพ่อขุนได้โดยตรง   รูปแบบของการปกครองในสมัยสุโขทัยตอนปลายเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดเจน ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) โดยพระพุทธศาสนาเข้ามามีอิทธิพลอย่างมากในด้านการปกครอง ผู้ปกครองได้นำหลักธรรมทางศาสนามาเป็นแนวทางในการปฏิบัติเรียกว่า ธรรมราชา หรือ ธรรมในการปกครอง

          การปกครองราชธานีและหัวเมืองต่าง ๆ แบ่งออกเป็น
          1. เมืองหลวงหรือราชธานี อาณาจักรสุโขทัยมีกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เมืองหลวงหรือราชธานีเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์เป็นผู้ปกครองดูแลเอง 
          2. หัวเมืองชั้นใน หรือเมืองลูกหลวง ตั้งอยู่รายรอบราชธานีทั้ง 4 ทิศ หัวเมืองชั้นในพ่อขุนจะแต่งตั้งพระญาติวงศ์ใกล้ชิดไปปกครอง
          3. หัวเมืองชั้นนอก หรือ เมืองพระยามหานคร ผู้ปกครองเมืองได้แก่ เจ้านายหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่พ่อขุนโปรดเกล้าฯ ให้ไปปกครองเมืองนั้น ๆ
          4. เมืองประเทศราช เมืองที่อยู่นอกอาณาจักร ชาวเมืองเป็นคนต่างชาติ พ่อขุนจะกำหนดให้เจ้านายของเมืองนั้น ๆ ปกครองกันเอง แต่ต้องถวายเครื่องราชบรรณาการต่อพระเจ้ากรุงสุโขทัยตามกำหนด
 การปกครองระบบบิดากับบุตรนี้พระมหากษัตริย์ในฐานะบิดาทรงมีพระราชอำนาจเด็ดขาด ถ้าได้พิจารณาถ่องแท้แล้วก็จะเห็นว่า ถ้าผู้ปกครองประเทศคือพระมหากษัตริย์ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมให้ความร่มเย็นเป็นสุขแก่ราษฎรเสมือนหนึ่งบุตรประชาชนก็ย่อมจะได้รับความผาสุกแต่ถ้าการปกครองดังกล่าวมีลักษณะเป็นข้ากับเจ้าบ่าวกับนายสวัสดิภาพของประชาชนในสมัยนั้นก็น่าจะไม่มีความหมายอะไร อย่างไรก็ดีการที่จะใช้ระบบการปกครองอย่างใดจึงเหมาะสมนั้นนอกจากขึ้นอยู่กับสภาวการณ์ต่างๆในแต่ละสมัยแล้วการเลือกใช้วิธีการปกครองระบบบิดากับบุตรในสมัยนั้นน่าจะถือเอาการปกครองประเทศเป็นนโยบายสำคัญ

ที่มา; http://nucha.chs.ac.th/1.4.htm

2 ความคิดเห็น: