โปรแกรม Picasa

วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การเมืองภาคประชาชน

การเมืองภาคประชาชน


       ประชาชนคือองค์ประกอบหนึ่งของการเมือง มีความเกี่ยวข้องกับการเมืองในฐานะเจ้าของสิทธิ เมื่อมีการเลือกตั้งประชาชนมีหน้าที่ไปใช้สิทธิของตนเองโดยผ่านการลงคะแนนเพื่อเลือกตัวแทน(สส) ตัวแทนผู้ได้รับฉันทามติให้เป็นผู้ใช้สิทธิแทนประชาชนจะนำเอาสิทธิที่ได้รับมา ไปแสดงออกทางการเมืองนั่นก็คือการบริหารประเทศและปกป้องผลประโยชน์ชาติ
        การเมืองภาคประชาชนคือองค์ประกอบทางการเมือง(จะเรียกว่าองค์ประกอบใหม่ที่เกิดขึ้นก็ได้) ที่กำเนิดขึ้นควบคู่ไปกับการมอบสิทธิแก่ตัวแทน(สส) เพราะการเมืองระบบตัวแทนทำให้ประชาชนรู้สึกว่า ไม่อาจพึ่งพาการเมืองแบบนี้ได้มากนักความจริงการเมืองภาคประชาชนเกิดขึ้นมานานแล้ว เกิดมาพร้อมๆกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 เลยที่เดียว แต่อาจมีภาพที่ไม่ชัดเจนและประชาชนยังไม่ตื่นตัวกันมากนัก ทั้งนี้เป็นเพราะยังเป็นช่วงเริ่มต้นการเปลี่ยนผ่านการเมืองการปกครอง ที่ชัดเจนพอที่จะหยิบยกมากล่าวถึงก็คือเหตุการณ์เดือนตุลาคม ปี16-19 ถัดมาก็เป็นพฤษภาทมิฬ ปี35 และล่าสุดก็คือปรากฏการณ์เหลือง-แดง
        การรวมตัวกันทางการเมืองของภาคประชาชน ถือเป็นการรวมตัวกันเพื่อตรวจสอบการนำสิทธิของประชาชนไปใช้ว่า เป็นไปโดยถือประโยชน์ชาติตามที่ได้ให้พันธสัญญาต่อประชาชนหรือไม่ การรวมตัวกันทางการเมืองของภาคประชาชน ไม่ว่ากลุ่มใดก็ตาม ล้วนก่อรูปก่อร่างขึ้นโดยมีเงื่อนไขทั้งสิ้น หาได้เกิดขึ้นมาลอยๆแล้วเลือนหายไปดั่งสายลมไม่ หากแต่ทุกกลุ่มพลังการเมืองภาคประชาชนล้วนมีปัจจัยในเรื่องผลประโยชน์มาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น ปัจจัยที่ว่านี้มีทั้งปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ ปัจจัยภายในก็ได้แก่ ชั้นสูงหรือชนชั้นนำ ชนชั้นกลาง นักธุรกิจ นักวิชาการ ทหาร ตำรวจ และอื่นๆ ส่วนปัจจัยภายนอกก็ได้แก่ กลุ่มทุนข้ามชาติ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการเมืองไทยพอสมควร นอกจากนั้นยังเป็นกลุ่มองค์กรเอกชนบางแห่งที่ได้รับทุนจากต่างประเทศ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นตัวแปรต่อการเมืองไทย และการเมืองภาคประชาชนทั้งสิ้น
       ช่วงเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองในระยะ3-4 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นยุคการเมืองภาคประชาชนเบ่งบานที่สุด ดังนั้นจึงมีคำถามมากมายพุ่งเป้าไปที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองของภาคประชาชนว่า ความเหมาะสม ความชอบธรรม ของการเมืองภาคประชาชนที่เป็นที่ยอมรับในฐานะเป็นศูนย์กลางของความจริง เกิดขึ้นแล้วหรือยังถ้าคิดว่าเกิดขึ้นแล้ว..อะไรคือหลักฐานเชิงประจักษ์แล้วถ้ายังไม่เกิด..การเมืองภาคประชาชนจะเดินไปในทิศทางไหน วางตนอยู่ตรงจุดใด จึงจะเป็นที่ยอมรับในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการเคลื่อนไหวของข้อเท็จจริง และเป็นไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ชาติ
       อย่างไรก็ดี การเมืองไทยที่อยู่ในสภาพบิดเบี้ยวอย่างในปัจจุบัน การเมืองภาคประชาชนแม้จะยังไม่แจ่มชัดนักในเรื่องของการปกป้องผลประโยชน์ชาติ แต่การเมืองภาคประชาชนก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น เราไม่อาจปล่อยให้นิยามคำว่าผลประโยชน์ชาติเลื่อนลอยอยู่ในมือนักการเมืองเพียงลำพังได้อีกแล้ว
การดำรงอยู่และดำเนินไปของการเมืองภาคประชาชน น่าจะยังเป็นประโยชน์ในแง่ของการเป็นเครื่องมือตรวจสอบ ถ่วงดุล กับนักการเมืองในระบบตัวแทนอย่างในปัจจุบัน ซึ่งมีต้นทุนทางจริยธรรมไม่มากนัก ขณะเดียวกันการเมืองภาคประชาชนยังสามารถถ่วงดุลกับกลไกตลาดเสรีในระบบทุนนิยมสามานย์อย่างในปัจจุบัน

อ้างอิงแหล่งที่มา;http://www.oknation.net/blog/plardeakdee/2010/11/09/entry-1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น