การเลือกตั้งส.ส. 3 กรกฎาคม 2554
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2554 เป็นการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดให้มีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 9ตั้งแต่เวลา08.00-15.00น. ตามความในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2554 ซึ่งให้ยุบสภาผู้แทนราษฎรเสียตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2554 โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2554 กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 500 คน โดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 375 คน และสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจำนวน 125 คน ส.ส. แบบแบ่งเขตในครั้งนี้มีรูปแบบการลงคะแนนเป็นแบบ "เขตเดียวเบอร์เดียว" หรือผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง สามารถเลือกผู้สมัครได้เพียงคนเดียว ขณะที่การเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อปี พ.ศ. 2550 นั้นเป็นแบบ "เขตเดียวสามเบอร์" หรือผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง สามารถเลือกผู้สมัครได้จำนวน 1-3 คน ตามขนาดของการแบ่งเขตพื้นที่ ปฏิทินเลือกตั้ง
วันที่ 19-23 พ.ค. 54 รับสมัครแบบบัญชีรายชื่อ
วันที่ 24-28 พ.ค. 54 รับสมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
วันที่ 12 มิ.ย. 54 วันสุดท้ายประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
วันที่ 2 มิ.ย. 54 วันสุดท้ายลงทะเบียนใช้สิทธินอกเขตจังหวัด
วันที่ 13-17 มิ.ย. 54 ลงทะเบียนใช้สิทธิล่วงหน้าในเขตเลือกตั้ง
วันที่ 17-26 มิ.ย. 54 ลงคะแนนนอกราชอาณาจักร
วันที่ 22 มิ.ย. 54 วันสุดท้ายเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อ
วันที่ 26 มิ.ย. 54 วันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัด และในเขตเลือกตั้ง
วันที่ 25 มิ.ย. 54 วันสุดท้ายแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้ง 7 วัน
วันที่ 10 ก.ค. 54 วันสุดท้ายแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งหลังวันเลือกตั้ง 7 วัน
3 ก.ค. 54 วันเลือกตั้ง ส.ส.
ขั้นตอนการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส.ส.
1 ตรวจสอบรายชื่อและลำดับที่จากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ประกาศไว้หน้าหน่วยเลือกตั้ง หรือ จากหนังสือแจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ส่งไปยังเจ้าบ้าน
2 ยื่นบัตรประชาชน และลงลายมือชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
3 ลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือขวาบนต้นขั้วบัตรเลือกตั้งพร้อมรับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือ บัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต และบัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ
4 เข้าคูหาลงคะแนน ทำเครื่องหมายกากบาท (x) ลงในช่องทำเครื่องหมาย
- บัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต เลือกผู้สมัครได้เพียงคนเดียว
- บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ เลือกพรรคการเมืองได้เพียง พรรคเดียว
- หากไม่ต้องการเลือกใครหรือพรรคการเมืองใดให้ทำเครื่องหมายกากบาท (x) ในช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน
5 พับบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 บัตรให้เรียบร้อยและใส่บัตรทีละบัตรลงใน หีบบัตรเลือกตั้งแต่ละประเภทด้วยตนเอง
ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
1 ผู้มีสัญชาติไทย (ถ้าแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
2 มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคม ของปีที่มีการเลือกตั้ง
3 มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง
4 ไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้
* เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
* อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
* ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
* วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
ก่อนตัดสินใจกากบาท x ลงคะแนน จะพิจารณาอย่างไร
ส.ส.แบบแบ่งเขต เลือกคนที่รัก คนเดียวในดวงใจ ควรมีลักษณะ เช่น
1 เป็นคนดี มีความสามารถ มีประวัติส่วนตัว และผลงานที่ผ่านมาดีเป็นที่ยอมรับ กล้าต่อสู้เพื่อความถูกต้องชอบธรรม
2 มีคุณธรรม และความเสียสละไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น
3 มีความรู้ความสามารถ คือรู้ปัญหา รู้หน้าที่ และมีแนวคิด หรือข้อเสนอในการแก้ปัญหาอย่างชัดเจน มีความเป็นไปได้
4 มีวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย คือ มีเหตุผล ไม่ถือความคิดของตนเป็นใหญ่ เคารพมติเสียงส่วนใหญ่ รับฟังความเห็นของเสียงส่วนน้อย
5 มีการหาเสียงหรือแนะนำตัวอย่างสร้างสรรค์โดยไม่ฝ่าฝืนหรือหลีกเลี่ยงกฎกติกาการเลือกตั้ง
ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เลือกพรรคที่ชอบ พรรคเดียวที่เราวางใจพรรคการเมืองที่ดี ควรมีลักษณะ เช่น
1 มีนโยบายเพื่อประโยชน์ส่วนร่วมของประชาชน และมีแนวทางปฏิบัติให้เป็นจริงได้
2 ระบบบริหารของพรรคยึดหลักการประชาธิปไตย
3 มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
4 ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้
5 เป็นพรรคที่รวมคนทุกกลุ่มในสังคมเป็นสมาชิกไม่ใช่ยึดติดเพียง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
การแจ้งเหตุที่ทำให้ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
1 มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
2 เจ็บป่วย พิการ สูงอายุ ไม่สามารถไปใช้สิทธิได้
3 พิการ หรือสูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
4 เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
5 มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กม.
6 มีเหตุสุดวิสัยอื่นที่ กกต.กำหนด
วิธีการแจ้งเหตุ ระหว่างก่อนวันเลือกตั้ง 7 วัน จนถึงหลังวันเลือกตั้ง 7 วัน
1 กรอกแบบฟอร์มหนังสือแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ (ส.ส. 28) โดยระบุหมายเลขประจำตัวประชาชน และที่อยู่ตามหลักฐานทะเบียนบ้าน
2 แนบหลักฐานเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
3 ยื่นต่อนายทะเบียนอำเภอและนายทะเบียนท้องถิ่นที่มีชื่ออยู่ใน ทะเบียนบ้าน ได้ 3 วิธีการ คือ
(1) ยื่นด้วยตนเอง
(2) มอบหมายบุคคลอื่นไปยื่นแทน
(3) ส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน
ไม่ไปเลือกตั้ง ไม่แจ้งเหตุ เสียสิทธิ 3 ประการ
1 เสียสิทธิการยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.
2 เสียสิทธิการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส., ส.ว., สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น และสิทธิได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว.
3 เสียสิทธิการสมัครรับเลือกเป็นกำนัน และผู้ใหญ่บ้าน
สิทธิทั้ง 3 ประการ จะได้กลับคืนมาเมื่อไปใช้สิทธิการเลือกตั้งอย่างใดอย่างหนึ่ง ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งระดับชาติหรือท้องถิ่น
ใบเหลือง ใบแดง คืออะไร
เพื่อให้เข้าใจง่าย จึงขอเปรียบเทียบกับกีฬาฟุตบอล เมื่อกรรมการให้ “ใบเหลือง”นักฟุตบอล แปลว่านักฟุตบอลคนนั้นเล่นผิดกติกา แต่ยังไม่ถึงกับไล่ออกจากสนามยังให้เล่นต่อไปได้
ถ้าให้ “ใบแดง” แปลว่า นักฟุตบอลคนนั้นทำผิดกติกาอย่างร้ายแรง ต้องไล่ออกจากสนาม กฎหมายเลือกตั้งทุกประเภทก็กำหนดกติกาการเลือกตั้งไว้คล้ายๆ กับกติกากีฬาฟุตบอล ดังนี้
การให้ใบเหลือง แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใด หมายความว่า กกต. เห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งเกิดขึ้น เช่น การซื้อสิทธิ- ขายเสียง การแจกเงิน สิ่งของ เป็นต้น โดยเป็นการทุจริตที่แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานที่เชื่อได้ว่าผู้สมัครได้เป็นคนกระทำด้วยตนเองหรือเป็นผู้รู้เห็นการกระทำนั้น แต่ก็เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตดังกล่าว กกต. จึงลงโทษด้วยการสั่งให้เลือกตั้งใหม่ โดยผู้สมัครที่ได้ใบเหลืองยังคงเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งต่อไปได้
การให้ใบแดง แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง หมายความว่า กกต. เห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งเกิดขึ้นเช่นเดียวกับกรณีการให้ใบเหลือง แต่ต่างกันตรงที่ว่าผู้สมัครเป็นผู้กระทำหรือมีส่วนรู้เห็นการทุจริตนั้น จึงมีผลต้องถูก เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 1 ปี และหากผู้นั้นได้รับคะแนนเสียงอยู่ในเกณฑ์ที่ จะได้รับการเลือกตั้ง ก็จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่แทน โดยผู้ถูกเพิกถอนสิทธินั้น จะไม่มีสิทธิลงสมัคร ทั้งยังถูกดำเนินคดีอาญา และต้องชดใช้ค่าเสียหายในการเลือกตั้งใหม่ด้วย
ข้อห้ามกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง
1 ห้ามซื้อเสียง หรือจัดเตรียมการซื้อเสียง
2 ห้ามรับเงินและประโยชน์อื่นใด เพื่อลงคะแนนเลือกตั้ง
3 ห้ามหาเสียงและห้ามขายหรือจัดเลี้ยงสุรา ตั้งแต่ 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้งจนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง
4 ห้ามนายจ้างขัดขวางการไปใช้สิทธิของลูกจ้าง
5 ห้ามขัดขวางหรือหน่วงเหนียวมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไป ณ ที่เลือกตั้ง
6 ห้ามจัดยานพาหนะ (ยกเว้นหน่วยงานรัฐ) ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปเลือกตั้งโดยไม่ต้องเสียค่าโดยสาร
7 ห้ามฉีกบัตรเลือกตั้ง หรือทำให้บัตรเลือกตั้งชำรุดอย่างจงใจ
8 ห้ามถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ตนเองได้ลงคะแนนแล้วด้วยเครื่องมือหรืออุปกรณ์ใด
9 ห้ามเล่นการพนันขันต่อใดๆ เกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง
10 ห้ามเผยแพร่หรือเผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง(โพลล์) ในระหว่าง 7 วัน ก่อนวันเลือกตั้งจนถึงเวลาปิดการลงคะแนนเลือกตั้ง (เวลา 15.00 น.)
อ้างอิงแหล่งที่มา;http://guideubon.com/news/view.php?t=75&s_id=93&d_id=93
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น