โปรแกรม Picasa

วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

หลักคิดในการพัฒนาชุมชน 2

      
หลักคิดในการพัฒนาชุมชน

       ๑. การปรับตัวในปัจจุบัน
ในความเป็นจริงของชีวิตไม่ว่าเราจะเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ (พ.ศ. ๒๕๔๐) หรือไม่ก็ตาม เราต้องปรับตัวอยู่เสมอ ชีวิตจึงจะดำรงอยู่ได้ และดำรงอยู่อย่างมีความสุข สภาพสังคมโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว เพราะความเจริญก้าว หน้าทางเทคโนโลยี สภาพสังคมไทยก็ปรับตัวและเปลี่ยนแปลงเร็วตามไปด้วย เราไม่ปรับตัวเองก็ไม่ได้แล้ว จะอยู่ลำบาก กับสภาพสังคมไทยในปัจจุบันเราจะปรับตัวเองกันอย่างไรบ้าง
       ๑.๑ ผู้จัดการชุมชนหรือสังคม หมายถึง ภาคการเมืองการปกครองซึ่งเป็นผู้นำสังคม ภาคราชการ องค์กรต่าง ๆ จะคิดเหมือนเดิมและจะทำอย่างเดิมต่อไปอีกไม่ได้ กล่าวคือ ภาคการเมืองการปกครอง ต้องคิดในเชิงสร้างสรรค์ พัฒนาคุณภาพ ขีดความสามารถ มีความจริงใจ ซื่อสัตย์สุจริต โดยเอาผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ดูประชาชนให้ออก และรู้จักรับฟังประชาชน ภาคราชการ จะต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างจากแนวตั้ง(Vertical) มาเป็นโครง สร้างแบบแนวนอนหรือแนวราบ (Horizontal) เพราะโครงสร้างแนวตั้งไม่ทันกับงานและสังคมที่ซับซ้อนในปัจจุบัน จะต้องเปลี่ยนจากระบบรวมศูนย์อำนาจ (Centralization) เพราะรวมศูนย์อำนาจทำให้การตัดสินใจช้าและห่างไกลข้อมูลข้อเท็จจริง และจะต้องเปลี่ยนจากการสั่งการ คิดแทนประชาชน มาเป็นการส่งเสริม สนับสนุน และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ให้โอกาสประชาชนได้เรียนรู้และพัฒนาตนเอง ราชการควรทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการ (Facilitator) ให้ประชาชนเป็นผู้แสดง (Actor) องค์กรต่าง ๆ ก็ควรจะเล่นบทเดียวกันกับราชการ และจัดโครงสร้างในลักษณะอย่างเดียวกัน
       ๑.๒ บริบทอันหลากหลาย เช่น ระบบเศรษฐกิจ การศึกษา การขนส่ง การสื่อสาร การสาธารณสุข และสวัสดิการสังคม เป็นต้น นอกจากต้องมีความเสมอภาคทั่ว ถึง และเท่าเทียม ในเรื่องของโอกาสแล้ว ต้องมีคุณภาพด้วย ระบบเศรษฐกิจ ควรเป็นเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง บนรากฐานศักยภาพแต่ละชุมชน ผลิตเพื่อบริโภคเองเป็นหลัก เหลือจึงจำหน่ายจ่ายแจก การศึกษา เน้นคุณภาพ คิดเป็น มีทักษะปฏิบัติได้จริง ทั้งทักษะอาชีพและทักษะชีวิต มีจิตวิญญาณของการเรียนรู้และพัฒนาตนเองตลอดชีวิต และมีความเสมอภาค มีความเท่าเทียมในโอกาส การขนส่ง ทุกชุมชนมีโอกาสเข้าถึง สะดวก รวดเร็ว ราคาถูก เพียงพอ เน้นระบบขนส่งมวลชน เพื่อลดความสูญเสียและฟุ่มเฟือยโดยใช่เหตุ การสื่อสาร ซึ่งไม่เพียงการสื่อสารส่วนบุคคลเท่านั้น การสื่อสารมวลชน ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งหลาย ไม่เพียงเป็นแค่สื่อที่ทั่วถึง ควรให้ความสำคัญกับคุณธรรม จริยธรรมของสื่อ มุ่งยกระดับคุณภาพประชาชนด้วย การสาธารณสุข ที่เน้นการป้องกันและสร้างสุขภาพ นำการซ่อมสุขภาพ มีการบริการที่สะดวก รวดเร็ว และมีคุณภาพ สวัสดิการสังคม มีการกระจายรูปแบบให้หลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่เพียงเรื่องของการเจ็บป่วย เรื่องการประกันชีวิตการประกันภัย เรื่องการฌาปนกิจ หรืออื่นใดที่มีอยู่ในสังคมไทยขณะนี้เท่านั้น อาจมีรูปแบบใหม่ที่จูงใจให้คนประพฤติดีทำคุณ ประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ บทบาทหน้าที่ของสถาบันศาสนาควรจริงจัง เข้มข้น และเป็นเชิงรุกมากกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ มุ่งสั่งสอนปลูกฝังค่านิยมที่เหมาะสม คุณธรรม จริยธรรม เป็นหลักมากกว่าให้ความสำคัญกับเรื่องพิธีกรรม
       ๑.๓ เนื้อหาของชุมชนหรือสังคม หลัก ๆ ของเรื่องนี้ คือ วัฒนธรรม ศักยภาพ ของชุมชนหรือสังคม และสิ่งที่สร้างหรือเพิ่มเข้าไปให้เป็นชีวิตในชุมชนหรือสังคม หรือวัฒนธรรมใหม่ ศักยภาพใหม่ จะต้องปรับและพัฒนาให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ในรูปแบบที่กลมกลืนเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ไม่ใช่ลักษณะการทิ้งของเก่าเอาของใหม่ ต้องปรับเนื้อหาใหม่ให้เข้ากับเนื้อหาเดิม
       ๑.๔ ประชาชนและชุมชน เวลานี้ประชาชนและชุมชนก็ต้องปรับตัวเองด้วย และเป็นโอกาสที่จะปรับตัวเองได้ เพราะทุกฝ่ายเริ่มเห็นความสำคัญและพุ่งเป้าการพัฒนาไปที่ประชาชนและชุมชน อะไรบ้างที่ประชาชนและชุมชนจะต้องปรับตัว
       ๑.๔.๑ การเรียนรู้ นอกจากการเรียนรู้บทเรียนในอดีตแล้ว ประชาชนและชุมชนต้องเรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเอง คือ จะต้องเพิ่มทักษะและความสามารถให้ตนเอง โดยเฉพาะทักษะและความสามารถในอาชีพ ขณะนี้ ภาคราชการ องค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ก็กำลังส่งเสริมสนับสนุนช่วยเหลืออยู่ ถ้านิ่งเฉยโอกาสจะผ่านเลยไป ผู้ที่อยู่ในวัยศึกษาหาความรู้ยิ่งจำเป็นจะต้องฉกฉวยโอกาสให้มาก
       ๑.๔.๒ ทัศนคติและค่านิยม มีทัศนคติและค่านิยมหลายอย่างที่ประชาชนและชุมชนจะต้องปรับเปลี่ยนในเวลานี้ เช่น ทัศนคติและค่านิยมเรื่องอาชีพ ที่คิดว่าอาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่ไม่มีเกียรติ อาชีพบริการเป็นอาชีพที่ต่ำต้อย เป็นต้น ต้องเป็นข้าราชการ ต้องทำงานธุรกิจ จึงจะมีเกียรติ มีหน้ามีตาในสังคม ต้องเข้าใจใหม่ อาชีพทุกอาชีพที่สุจริต มีเกียรติด้วยกันทั้งนั้น ถ้าพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าให้มากขึ้นและมากขึ้น ความสำเร็จในอาชีพนั่นแหละ คือเกียรติยศที่ผู้คนในสังคมจะยกย่อง ความสำคัญไม่ใช่อยู่ที่อาชีพ แต่อยู่ที่ผลสำเร็จของการพัฒนาอาชีพ
       ๑.๔.๓ ความคิดพึ่งตนเองเป็นหลัก ไม่ว่าเป้าหมายจะเป็นอย่างไร การคิดพึ่งคนอื่นมากกว่าตนเองเป็นความล้มเหลวตั้งแต่แรก ชุมชนอ่อนแอและประชาชนยากจน เต็มไปด้วยปัญหาชีวิต ก็เพราะความคิดแบบนี้ ลองพิจารณากรณีวัดในชุมชนเป็นตัวอย่าง ไม่ว่าจะสร้างจะทำอะไร กรมการศาสนาไม่มาสร้างให้ ไม่บอกให้พัฒนาหรือทำอะไร ชุมชนคิดเอง ทำเอง ทั้งสิ้น และก็ทำได้ เจริญก้าวหน้าไปตามกำลังความสามารถของแต่ละชุมชน เป็นลำดับ บางวัดพระผิดเพี้ยนออกนอกรีต ชุมชนก็เข้ามาจัดการกันเอง และวัดก็อยู่คู่สังคมไทยมาจนทุกวันนี้
       ๑.๔.๔ เป้าหมายชีวิตหรือเป้าหมายชุมชน สังคมพัฒนาแล้ว การมีสุขภาพที่ดีเป็นเป้าหมายสูงสุด สังคมด้อยพัฒนายังวัดกันด้วยอำนาจ ความร่ำรวย และเกียรติยศ สำหรับชุมชนเป้าหมายสูงสุด คือ ชุมชนเข้มแข็ง ประชาชนและชุมชนต้องปรับเปลี่ยนเป้าหมายชีวิตให้ถูกทิศทาง
       ๑.๔.๕ การจัดการ จะต้องมองตนเอง (ทั้งประชาชนและชุมชน) ในเชิง บูรณาการทั้งหมด (Holistic) และมองให้ครบถ้วน มนุษย์มีความสัมพันธ์ทั้งร่างกายและจิตใจ อวัยวะทุกส่วนถ้าเกิดเหตุที่ใดก็จะกระทบทั้งหมด และมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันทั้งระบบจะแยกส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้ เกิดเหตุที่ส่วนใดก็กระทบกระเทือนกันทั้งระบบ การจัดการจึงต้องจัดการให้ดีทุกภาคส่วนและทุกระบบ และประชาชนหรือชุมชนจะต้องจัดการด้วยตนเองเป็นหลัก ไม่ติดความคิดพึ่งพิงดัง กล่าวมาแล้ว
       ๒. หลักคิดในอนาคต หลักคิดในอนาคตนี้สำหรับทุกฝ่ายและทุกภาคส่วน กล่าวคือ
       ๒.๑ เป้าหมายของการพัฒนา ต้องถือเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางหรือเป็นตัวตั้งในการพัฒนาเป็นองค์รวมอย่างสมดุลและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มนุษย์เป็นหลักของชุมชน สังคม และ ประเทศชาติ มนุษย์จะเป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศชาติต่อ เนื่องต่อไป มนุษย์อ่อนแอ ชุมชน สังคม ประเทศชาติ ก็อ่อนแอ มนุษย์เข้มเข็ง ชุมชน สังคม ประเทศชาติ ก็เข้มแข็ง มนุษย์เป็นอย่างไร ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ก็เป็นอย่างนั้น
       ๒.๒ ในระดับหน่วยทางสังคมที่กว้างขึ้น ต้องถือเอาชุมชนเป็นเป้าหมายของการพัฒนา และทำให้จุดเริ่มต้นของการพัฒนา “ระเบิดจากข้างใน” ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การระเบิดจากข้างในเป็นความต้องการของสมาชิกในชุมชน มันจะมีจิตวิญญาณของความมุ่งมั่น ร่วมไม้ร่วมมือสานต่อจนสำเร็จลุล่วง และ ยั่งยืนต่อไป มันเป็นพลังอย่างที่ชาวจีนเปรียบเปรยว่าเป็น “กำลังภายใน” พลังที่รุนแรงต่อเนื่องไม่ขาดสายเหนือพลังธรรมดา คือ ออกมาจาก “ใจ” ไม่ใช่เพียงออกมาจาก “กาย” เท่านั้น และฐานของการพัฒนาก็คือศักยภาพที่มีอยู่ในชุมชนนั่นเองเป็นหลัก ลองจินตนาการว่า “ถ้าทุกชุมชนเหมือนดอกไม้ในทุ่งประเทศไทย ถ้าดอกไม้ทุกดอกเบ่งบานสดสวยทั่วทุ่งประเทศไทย สังคมไทยเราจะเป็นอย่างไร” นอกจากนี้การเอาชุมชนเป็นฐานหรือเป็นเป้าหมายการพัฒนา จะไม่เกิดปรากฏการณ์ “กระจุก” ของผู้คน ณ เมืองใดเมืองหนึ่ง จะลดทอนปัญหาที่เกิดจากการกระจุกตัวของผู้คนอีกมากมาย แต่จะเกิดปรากฏการณ์ “กระจาย” ความเจริญของบ้านเมืองแทน
      ๒.๓ กระบวนการทำงานในชุมชน ยึดหลัก “กระบวนการมีส่วนร่วม” (Participation) ระดับของการมีส่วนร่วม มีดังนี้
๑. Manipulation - การมีส่วนร่วมแบบมีผู้กำกับอยู่เบื้องหลัง (ไม่มีอิสระ)
๒. Consultation - การมีส่วนร่วมแบบปรึกษาหารือ
๓. Consensus Building - การมีส่วนร่วมเพื่อให้การรับรอง
๔. Decision Making - การมีส่วนร่วมเพื่อการตัดสินใจ
๕. Risk Sharing - การมีส่วนร่วมที่ต้องรับผิดชอบในผลของการตัดสินใจ
๖. Partnerships - การมีส่วนร่วมแบบคนที่เท่าเทียมกัน
๗. Self Reliance - การมีส่วนร่วมที่ประชาชนพึ่งพาตนเอง
ในระดับที่ ๑ จะเป็นการมีส่วนร่วมที่น้อยที่สุด และเรียงลำดับไปหามากที่สุด คือ ระดับที่ ๗ ยิ่งสมาชิกในชุมชนมีส่วนร่วมมากเท่าไร การทำงาน ก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้นเท่านั้น
       ๒.๔ การทำงานเป็นทีมทุกภาคส่วน (Team Work) ในอดีตเราเชื่อการทำงานแบบ “อัศวินขี่ม้าขาว” ในยุคที่สังคมไม่ซับซ้อน ผู้คนยังด้อยความรู้ ความคิด และความสามารถ “อัศวินขี่ม้าขาว” ย่อมเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับคนสมัยนั้น แต่ในยุคที่สังคมซับซ้อนมากขึ้น ผู้คนมีความรู้ ความคิด และความสามารถมากขึ้น “อัศวินขี่ม้าขาว” ย่อมไม่ได้ผล เพราะจะไม่มี “อัศวิน” ที่แท้จริง มนุษย์มีข้อจำกัด ไม่มีใครเก่งไปทุกเรื่อง และไม่มีใครทำงานคนเดียวได้โดยเฉพาะในภาวะที่ซับซ้อน ยิ่งซับซ้อนมากก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ที่ “ข้าจะมาคนเดียว และเก่งคนเดียว” ทางเลือกจึงต้องมีทีมทำงาน (Team Work) คือ รวบรวมความเก่งและโดดเด่นของแต่ละคน หลาย ๆ คน เก่งคนละด้านคนละอย่างจะทำให้มีพลังในการทำงาน ทีมทำงานจึงต้องเป็นรูปแบบการทำงานในอนาคต ยิ่งสร้างทีมในฝันได้ (Dream Team) ยิ่งจะเป็นผลดีมาก
       ๒.๕ การทำงานที่เป็นพหุภาคีอย่างบูรณาการและเป็นเครือข่าย คือ ต้องทำงานร่วมกันในหลายภาคส่วน และเป็นแบบบูรณาการ ทั้งในแต่ละภาคส่วนและในพหุภาคี จริงอยู่เป็นการทำงานที่ยากเพราะมีความซับซ้อน จึงต้องอาศัยทีมงาน (Team Work) ดังที่กล่าวแล้วในหัวข้อก่อน การประสานงานจึงมีความสำคัญมากในการทำงานเป็นทีม ซึ่งปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีซึ่งเอื้อให้สามารถทำงานเป็นทีมได้อย่างดี นอกจากนี้ก็ต้องสร้างความเป็นเครือข่ายให้เกิดขึ้น ให้เป็นโครงสร้างที่สำคัญในอนาคต
       ๒.๖ หลักการทำงานของ Deming
       W. Edwards Deming (๑๙๐๐ – ๑๙๙๓) นักวิชาการชาวอเมริกัน ได้เสนอหลัก การทำงานเป็นวงจรต่อเนื่องไว้ คือ เริ่มจากการวางแผนงาน (Plan) ก่อนการปฏิบัติ (Do) เมื่อปฏิบัติแล้วก็ต้องตรวจสอบผล หรือ ประเมินผล การปฏิบัติ ว่า เป็นไปตามแผน บรรลุวัตถุประสงค์ของแผนงานหรือไม่ จากนั้นก็นำผลการตรวจสอบหรือประเมินไปใช้ หรือปรับปรุง ปรับเปลี่ยน แผนงานใหม่ หรือเพื่อการวางแผนใหม่ในครั้งต่อไปก็ได้ การทำงานในอนาคตต้องไม่ใช่คิดไปทำไป แต่จะต้องมีการวางแผน โดยการมีส่วนร่วม คิดให้ครบ(รอบ) และดำเนินการทุกขั้นตอนตามทฤษฎีวงจรของ Deming (Deming’s cycle) ทุกขั้นตอนเน้นกระบวนการมีส่วนร่วม (Participation) คือ ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำ ร่วมตรวจสอบ (ประเมิน) ร่วมรับผิดชอบ (รับทั้งผิด และชอบ) ของผลการกระทำ
       ๒.๗ การวิเคราะห์องค์กร ในการวิเคราะห์องค์กรนี้ ถ้าเป็นชุมชน ชุมชนก็เปรียบเสมือนองค์กร ๆ หนึ่ง เพราะฉะนั้นก็ใช้หลักการเดียวกันนี้วิเคราะห์ได้ กล่าว คือ
       ๒.๗.๑ ใช้กระบวนการ F.S.C. (Future Search Conference) (กระบวนการค้นหาอนาคตร่วมกัน) ค้นหาอดีต ซึ่งเป็นรากเหง้า (ซึ่งเป็นความภูมิใจ ความประทับใจ ความรู้สึกผูกพัน ฯลฯ) เพื่อทำความเข้าใจปัจจุบัน (รู้เหตุ รู้ผล ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น หรือสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ อธิบายได้ จึงเป็นการรู้จักตัวตนขององค์กรหรือชุมชนของตนเอง) และใช้เป็นรากฐานในการวาดหวังอนาคตร่วมกัน กระบวนการค้นอนาคตร่วมกัน (F.S.C. = Future Search Conference)
อนาคต ปัจจุบัน อดีต ทบทวน รู้ / เข้าใจ คาดหวัง, วาดหวัง
       ๒.๗.๒ ผนวกการวิเคราะห์องค์กรหรือชุมชนด้วยหลักการ SWOT. (S = Strengths – จุดแข็ง / W = Weaknesses – จุดอ่อน /O = Opportunities – โอกาส /T = Threat – ภาวะคุกคาม) จุดแข็ง จุดอ่อน เป็นปัจจัยภายในองค์กร ส่วนโอกาสและภาวะคุกคามเป็นปัจจัยภายนอกองค์กร การวิเคราะห์นี้เป็นการวิเคราะห์ร่วมกันของสมาชิกในองค์กร เมื่อได้ผล ทราบจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และภัยคุกคามแล้ว ประเด็นที่เป็นจุดแข็งและโอกาสควรเป็นประเด็นที่เลือกเพื่อทำแผนงาน โครงการ เพื่อพัฒนาองค์กรก่อน เป็นแผนงานโครงการในเชิงรุก ความสำเร็จของแผนงาน โครงการ เป็นไปได้สูง ประเด็นที่เป็นจุดแข็งแต่มีภาวะคุกคาม มีโอกาสประสบความสำเร็จครึ่งต่อครึ่ง เป็นภาวะเสี่ยง ประเด็นที่เป็นจุดอ่อนแต่มีโอกาส เป็นประเด็นที่เราต้องปรับปรุงตัวเองหรือพัฒนาตัว เอง ประเด็นที่เป็นจุดอ่อนและมีภาวะคุกคาม เป็นประเด็นที่เราควรป้องกันและถอนตัว ไม่ทำแผนโครงการนั้น หรือทำ แต่ทำลักษณะป้องกันตัวเองหรือประคับประคองตัวเอง
       ๒.๗.๓ การวางแผนในการทำงาน องค์กร หรือชุมชน ในอนาคตจะ ต้องมีแผนงานที่เป็นแผนแม่บทของตนเอง การพัฒนาในอนาคต ไม่ควรมีลักษณะ “บะหมี่สำเร็จรูป” แต่ละชุมชนพัฒนาบนฐานศักยภาพของตนเอง เป็นเอกลักษณ์เฉพาะชุมชนนั้น ๆ จริงอยู่แนวทางหลักอาจเป็นแนวทางเดียวกัน แต่รายละเอียดจะไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นแต่ละชุมชนจะต้องออกแบบชุมชนของตนเอง จะพัฒนาไปในรูปแบบไหน อย่างไร อย่างต่อเนื่อง ๓ ปี ๕ ปี ๑๐ ปี..........ยิ่งมองไกลเท่าไร ก็ยิ่งพัฒนาได้ดีเท่านั้น เพราะเป็นความต่อเนื่อง บางเรื่องต้องใช้เวลาจึงจะเป็นรูปธรรม การได้มาซึ่งแผน ก็ได้มาจากการวิเคราะห์ (ในข้อที่ ๒.๗.๑ และ ๒.๗.๒) แล้วข้างต้น ซึ่งต้องเอามาจัดสร้างวิสัยทัศน์ พันธกิจ วัตถุประสงค์ กลยุทธ์ต่าง ๆ .....จนถึงขั้นตอนสุดท้าย การวัดผลประเมินผล
       ๒.๘ บทบาทของบริบทชุมชน การพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับบริบท หรือ บริบทไม่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนา เป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ประการหนึ่ง เพราะจะเกิดความไม่สมดุลขึ้น อาจทำให้การพัฒนาไม่ต่อเนื่องได้ บริบทชุมชน ได้แก่ ทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน สมาชิกของชุมชน ผู้นำชุมชน วัฒนธรรมชุมชน สภาพทางภูมิศาสตร์ ฯลฯ เป็นต้น บริบทชุมชนมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาชุมชน
       ๒.๙ การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) การพัฒนาที่ยั่งยืนต้อง “ระเบิดจากข้างใน” ไม่ใช่ปัจจัยภายนอกไปกำหนดกรอบและทิศทางการพัฒนา บริบทภายนอกเป็นเพียงปัจจัยเสริม สนับสนุนและช่วยเหลือเท่านั้น ประการสำคัญอีกประการหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ต้องทำให้มนุษย์กับธรรมชาติได้เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ทุกสิ่งทุกอย่างสมดุล เป็นไปตามวิถีธรรมชาติ การพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ได้ปฏิเสธเทคโนโลยี แต่เทคโนโลยีจะต้องไม่ทำลายธรรมชาติ จึงจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน



ที่มา; http://www.franchisecb.com/content-%CB%C5%D1%A1%A4%D4%B4%E3%B9%A1%D2%C3%BE%D1%B2%B9%D2%AA%D8%C1%AA%B9-4-105-2528-1.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น