ความหมายของ “ชุมชน” (Community)
“ชุมชน” เป็นกลุ่มบุคคลที่อาศัยอยู่ตามท้องถิ่นต่าง ๆ อาจเป็นหมู่บ้าน ละแวก หรือย่าน ที่มีวิถีชีวิตเกี่ยวพันกัน มีความเชื่อในระบบคุณค่าบางอย่างสอดคล้องกัน มีการติดต่อสื่อสาร มีความเอื้ออาทร มีการจัดการ มีการเรียนรู้และมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน หรือกลุ่มบุคคลอันเนื่องมา จากการประกอบอาชีพร่วมกัน หรือ การประกอบกิจกรรมร่วมกัน หรือ การมีวัฒนธรรม หรือ ความสนใจร่วมกัน
ความหมายของ “การพัฒนา” (Development)
“การพัฒนา” คือ การทำให้ดีขึ้น ให้เจริญขึ้น เป็นการเพิ่มคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ การพัฒนาอาจพัฒนาจากสิ่งที่มีอยู่เดิม หรือ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ก็ได้
ความหมายของ “การพัฒนาชุมชน” (Community Development)
“การพัฒนาชุมชน” เป็นการทำให้กลุ่มคนดีขึ้น เจริญขึ้น ในทุก ๆ ด้าน เช่น ด้านเศรษฐกิจ สังคม การปกครอง วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ความสำคัญของการพัฒนาชุมชน
เป้าหมายของการพัฒนาชุมชน คือ “คน” ซึ่งเป็นกลุ่มอันหลากหลาย กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ เป็นหมู่บ้าน เป็นชุมชนเมือง เป้นกลุ่มอาชีพ เป็นกลุ่มกิจกรรม ฯลฯ กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้เป็นรากฐานสำคัญของประเทศ เราเห็นพ้องกันว่าการพัฒนาคน เป็นแนวทางการพัฒนาประเทศที่ถูกต้อง การพัฒนาคนจึงเป็นเป้าหมายของ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๔๐ – ๒๕๔๔) และต่อใน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๙(พ.ศ. ๒๕๔๕ – ๒๕๔๙) รากฐานของประเทศดีขึ้น เจริญขึ้นในทุก ๆ ด้าน ประเทศชาติก็ดีขึ้น เจริญขึ้น เป็นสังคมพัฒนา สังคมพัฒนาดี สมาชิกในสังคมย่อมได้รับผลพวงของการพัฒนา ทุกอย่างมันเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน การเล็งเป้าการพัฒนาไปที่คน ก็คือการเล็งเป้าไปที่ชุมชน จึงเป็นภารกิจของทุกคนที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องร่วมมือกันพัฒนาอย่างจริงจัง รวมทั้งต้องพัฒนาคนเองด้วย เหมือนตนเองเป็นชุมชนหนึ่ง องค์กรทั้งหลายก็ต้องพัฒนาตนเองเช่นเดียวกัน เพราะองค์กรก็มีความเป็นชุมชนด้วย ถ้าเราจินตนาการว่าคนเหมือนเซล (cell) ของประเทศ (ร่างกาย) เซลทุกเซลได้รับการเอาใจใส่ดูแลให้ดี ทำให้พัฒนา ประเทศชาติหรือสังคมไทยเราจะเป็นอย่างไร ลองจินตนาการต่อไป เพราะฉะนั้น เป้าหมายของประเทศ หรือสังคม จึงต้องพัฒนาคนหรือชุมชน
หลักคิดการพัฒนาในอดีต
จะขอย้อนทบทวนหลักคิดของการพัฒนาในอดีต ตั้งแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๐๔) เป็นต้นมา เพื่อให้เห็นภาพเส้นทางการพัฒนาประเทศไทยในช่วงเกือบ ๕ ทศวรรษที่ผ่านมา ว่า เราหลงทิศหลงทางกันอย่างไรหรือไม่ เราใช้เวลานานพอสมควร ผลลัพธ์คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปหรือไม่เพียงไร
แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๐๔ – ๒๕๐๙) ในชื่อแผนมีเฉพาะคำว่า “เศรษฐกิจ” ไม่มีคำว่า “สังคม” เพราะแผนมุ่งเน้นการพัฒนาเฉพาะเศรษฐกิจ เป็นยุคสมัย “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ” แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๑๐ – ๒๕๑๔) เพิ่มคำว่า “สังคม” ไว้ในแผน เพราะเห็นว่าในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑ ได้ละเลยเรื่องสังคม ทำให้สังคมมีปัญหา
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๑๕ – ๒๕๑๙) เป็นการพัฒนาต่อเนื่องจากแผนที่ ๒ ผลการพัฒนาเริ่มมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ (ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการพัฒนาที่ไม่คุ้มค่า)
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๐ – ๒๕๒๔) หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ แต่ในทางปฏิบัติยังไม่บังเกิดผล
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๒๕ – ๒๕๒๙) เป็นแผนต่อเนื่องจากแผนที่ ๔ เพื่อให้ภาคปฏิบัติบรรลุเป้าหมาย
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๓๐ – ๒๕๓๔) เป็นแผนขยายผลแผนที่ ๕ ในทางปฏิบัติ เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจมาก ละเลยเรื่องของสังคม ปัญหาสังคมเริ่มส่งผลรุนแรงและสลับซับซ้อนมากขึ้น ด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ก็มีการทำลายสิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรธรรมชาติไม่คุ้มค่ามากขึ้น (ข้อมูลป่าไม้เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒ พื้นที่ป่าของไทยซึ่งมีอยู่ ๑๐๙.๕ ล้านไร่ หรือร้อยละ ๓๔ ของพื้นที่ประเทศไทยทั้งหมด เหลือไม่ถึง ๙๐ ล้านไร่ หรือไม่ถึงร้อยละ ๒๘ ของพื้นที่ทั้งหมด)
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๓๕ – ๒๕๓๙) ได้ปรับแผนโดยเน้นให้เกิดความสมดุลในทุกด้าน และยึดหลักการพัฒนาแบบยั่งยืน แต่ในทางปฏิบัติไม่บรรลุวัตถุประสงค์ และเกิดภาวะ “ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา” (มีความเจริญทางด้านวัตถุแต่ด้านจิตใจตกต่ำ)
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๔๐ – ๒๕๔๔) เป็นแผนเน้นการพัฒนา “คน” แต่ในทางปฏิบัติต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ (รัฐบาลในสมัยนั้น – รัฐบาลของ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ประกาศลดค่าเงินบาทเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๐ และเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหลายครั้ง เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ)
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๔๕ – ๒๕๔๙) เป็นแผนต่อเนื่องจากแผน ๘ เน้นการปฏิรูปทุกระบบ พลิกวิกฤติเป็นโอกาส เน้นชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก ขณะนี้เข้าสู่ปีที่ ๓ ต้องรอประเมินผลเมื่อสิ้นสุดแผนว่าผลการพัฒนาจะเป็นอย่างไร ในขณะนี้จะเห็นการปฏิรูปหลาย ๆ ระบบ เช่น การเมือง ราชการ เศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย สุขภาพ การศึกษา ทั้งหมดเป้าหมายอยู่ที่คน และเพื่อคน
ผลผลิต (Output) และผลลัพธ์ (Outcome) ของการพัฒนาในอดีต
๑. คน หรือประชาชน ช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑ – ๗ เป็นเวลากว่า ๓๐ ปี ที่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจ แม้จะให้ความสำคัญทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติในช่วงหลัง ๆ แต่จุดเน้นในทางปฏิบัติก็ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้มีผลต่อพฤติกรรม และค่านิยมของประชาชน กล่าวคือ มีพฤติกรรมเลียนแบบตะวันตก ทอด ทิ้งเอกลักษณ์ที่ดีงามของไทยหลายอย่าง และมีค่านิยมให้ความสำคัญกับวัตถุมากกว่าจิตใจ นี่คือผลผลิตที่เป็นคนหรือประชาชน และปัจจุบันคนเหล่านี้กำลังอยู่ในวัยที่เป็นหลัก รับผิดชอบต่อสังคมส่วนใหญ่อยู่ เป็นวัยที่ถ่ายทอดหลักคิด (ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรม) และค่านิยมแก่คนรุ่นต่อไป สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมไทยต่อมา (Outcome) คือ สังคมไทยกลายเป็นสังคมตะวันตกมากขึ้นทุกวัน และยังเป็นสังคมตะวันตกที่ยังไม่สมดุล เพราะรากฐานสังคมและวัฒนธรรมเป็นคนละแบบกับตะวันตก สังคมไทยจึงเป็นสังคมที่มีความขัดแย้งในตัวเองสูง ทำให้ยากยิ่งต่อการจัดการและพัฒนา
๒. เศรษฐกิจ ช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ – ๗ การพัฒนาเศรษฐกิจเน้นโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และบริบททางสังคมและกฎหมาย เพื่อสร้างบรรยากาศการลงทุนและเพิ่มผลผลิต เน้นภาคอุตสาหกรรมมากกว่าเกษตรกรรม ถ้าเป็นเกษตรกรรมก็เน้นการเพิ่มผลผลิตเกษตรเชิงเดี่ยว ทำมาก ๆ จะได้ผลผลิตมาก ๆ การเมืองและราชการเป็นผู้ชี้นำภาคการเกษตร โดยอาศัยหลักคิดการเกษตรแบบตะวันตกตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงกระบวนการการตลาดซึ่งผู้ชี้นำทั้งหลายมักอายุสั้น (อยู่ในตำแหน่งในช่วงสั้น ๆ เพราะความไม่มั่นคงทางการเมือง ราชการก็ตอบสนองนโยบายภาคการเมือง ซึ่งก็อายุสั้นตามไปด้วย เมื่อเกิดปัญหาประชาชนจึงต้องเผชิญชะตากรรมไปตามลำพัง) เกิดการพัฒนาที่ไม่ต่อเนื่อง ประชาชนล้มลุกคลุกคลานตามไปด้วย กระแสการพัฒนาเศรษฐกิจแบบชี้นำ (จากบนลงล่าง – Top down) ส่งผลให้ประชาชนอ่อนแอ คือ คอยทำตาม ไม่ต้องคิดเอง เพราะทำตามได้รับการสนับสนุนส่งเสริม เมื่อเกิดปัญหาก็เรียกร้องให้มาช่วยแก้ ประชาชนจะไม่คิดพึ่งตนเอง (ข้อเท็จ จริง คือ ทุกอย่างตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงกระบวนการการตลาด ประชาชนไม่มีความรู้ ความเข้าใจ และไม่มีความสามารถในการจัดการ เพราะเป็นเรื่องใหม่สำหรับประชาชน และไม่มีการพัฒนาประชาชนให้มีความรู้ ความเข้าใจ ความสามารถในการจัดการเรื่องดังกล่าว) ผลพวงการพัฒนาทุกวันนี้ นอกจากยิ่งพัฒนาประชาชน (ส่วนใหญ่) ยิ่งยากจนแล้ว ยังทำให้ชุมชนอ่อนแออย่างทั่วถึงด้วย เกิดช่องว่างระหว่างคนจน (คนส่วนใหญ่ของประเทศ) กับคนรวย (คนส่วนน้อยของประเทศ) มากยิ่งขึ้น แต่การประเมินรายได้ประชาชาติ (GDP.) เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเจริญเติบโตสูงมาก (บางปีค่า GDP. สูงถึง ๑๐ เปอร์เซ็นต์) ในทางรูปธรรมที่สังเกตได้ทั่วไปคือความเจริญทางด้านวัตถุ แทบไม่น้อยหน้าประเทศที่พัฒนาแล้ว ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ เป็นช่วงของการปรับตัว เพราะเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ และเริ่มเข้าใจทิศทางการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืนมากขึ้น จึงหันมาเอา “คน” หรือ “ประชาชน” เป็นเป้าหมายของการพัฒนา แต่ยังไม่ส่งผลเป็นรูปธรรมใด ๆ ในช่วงนี้ ประเทศชาติเหมือนคนป่วยที่กำลังรักษาเยียวยาประคับประคองให้มีชีวิตอยู่รอดปลอดภัยต่อไป ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๙ ซึ่งเริ่มมาได้ ๒ ปีเศษ ๆ คนไข้เริ่มแข็งแรงขึ้น แต่ผลพวงยังต้องรอต่อไป (การพัฒนาไม่ใช่การพลิกฝ่ามือ โดยเฉพาะการพัฒนาคน ช่วง ๒๐ ปีแรกของวัยมนุษย์เป็นวัยที่ต้องเตรียมและพัฒนา ช่วง ๒๐ ปีขึ้นไปถึง ๖๐ ปีเป็นวัยที่ต้องรับภาระประเทศชาติบ้านเมืองและสังคม (แต่ก็ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง) หลัง ๖๐ ปีจึงเป็นวัยของการพักผ่อนและคอยกำกับสังคม) ถ้าเดินตามแนวทางนี้ความชัดเจนอย่างเร็วจะปรากฏผลในอีก ๑๐ – ๒๐ ปีข้างหน้า
๓. สังคมในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑ – ๗ ในบทสุดท้ายช่วงแผน ๗ สรุปกันว่า “ประเทศไทยทันสมัยแต่ไม่พัฒนา” กล่าวคือ เป็นสังคมที่มีความเจริญทางด้านวัตถุสูง แต่ทาง ด้านจิตใจไม่พัฒนา ที่เป็นเช่นนั้นเพราะการละเลยการพัฒนาคน ในขณะที่ความเจริญทางด้านวัตถุและเทคโนโลยีตลอดจนวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามามาก การศึกษา การศาสนา และวัฒนธรรมของเราปรับตัวไม่ทัน เพราะไม่ได้รับการเอาใจใส่ และใช้เป็นเครื่องมือสำคัญควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ (วัตถุ) ปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิด ขึ้นจึงมีปัญหามากมายและสลับซับซ้อนยิ่งขึ้นตามกาลเวลา บางเรื่องหนักหนาสาหัสยากแก่การแก้ไข เช่น เรื่องยาเสพติด แม้จะพยายามกันอย่างจริงจังร่วมมือกันทั่วประเทศตั้งแต่ผู้บริหารสูงสุดจนถึงประชาชนระดับรากหญ้า ก็ยังไม่สามารถทำให้หมดสิ้นไปได้ การศึกษา การศาสนา และวัฒนธรรม ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ การปฏิรูปการศึกษา (จนถึง พ.ศ. นี้ – ๒๕๔๗) ยังล้มลุกคลุกคลาน ศาสนาตกแยกกันเป็นฝักฝ่ายกลายเป็นการเมืองในศาสนา หน้าที่หลักยังเป็นที่พึ่งที่หวังของสังคมไม่ได้ วัฒนธรรมเริ่มสูญเสียรากหญ้า เอกลักษณ์ ไม่นำมาเป็นฐานของการพัฒนา คนรุ่นใหม่ไม่เห็นคุณค่าวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงของการพัฒนาประเทศในช่วงที่ผ่านมาทั้งสิ้น ซึ่งยังมีอีกมากมาย เรากำลังปฏิรูปกฎหมายเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาสังคม (มีการจัดระเบียบสังคมทุกรูปแบบ) กำลังปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้เกิดผลการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ – ๙ เน้นการพัฒนาสังคมมากขึ้น เป็นรูปธรรมมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะรัฐบาล พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร เอาจริงเอาจังกับการจัดระเบียบสังคม ความสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ที่จะเกิดขึ้นจากปัญหาสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ อุบัติเหตุ การให้โอกาสแก่คนด้อยโอกาสในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งก็ต้องรอดูผลกันต่อไปเช่นเดียวกัน
๔. การเมือง สภาพการเมืองช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑ – ๗ มีวิวัฒนาการช้ามาก กล่าวคือ รัฐบาลไม่ค่อยมีความมั่นคง โดยเฉพาะรัฐบาลที่ผู้นำไม่ได้มาจากทหาร และรัฐบาลก็ไม่ค่อยมีอำนาจการบริหารจัดการอย่างแท้จริง ต้องคอยเอาใจกลุ่มผลประโยชน์ที่สนับสนุนรัฐบาล โดยเฉพาะเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. ในสภา เป้าหมายการบริหารจึงไม่ได้อยู่ที่ผลประโยชน์ของประชาชน แต่อยู่ที่กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาล ประชาชนตกเป็น เครื่องมือสำหรับอ้างความชอบธรรม นักการเมืองยังเล่นบทบาทไม่สร้างสรรค์และจริง ใจต่อประชาชน การทุจริตคอรัปชั่นยังมีสูง ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายราชการ ผลพวงการพัฒนาเกิดขึ้นกับประชาชนอย่างแท้จริงน้อยมาก แต่กลับเกิดในกลุ่มนักการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ที่สนับสนุนนักการเมืองสูงมาก สถาบันการเมืองการปกครอง ซึ่งเป็นสถาบันซึ่งเปรียบเสมือนเป็นผู้บริหารจัดการ และผู้นำสังคม “เสียศูนย์” เสียแล้วก็ยากที่ผลการพัฒนาจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติโดยรวม ตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ เป็นต้นมา ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ (ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน) ต้องการปฏิรูปประเทศไทยทุกระบบ และสร้างความสมดุลในสังคม พัฒนาการทางการเมืองค่อย ๆ พัฒนาขึ้นเป็นลำดับ มีการคิดและแสดงบทบาทเชิงสร้างสรรค์มากขึ้น รัฐบาลมีความมั่นคงและมีอำนาจในการบริหารจัดการ แสดงภาวะผู้นำได้มากขึ้น เป็นนิมิตหมายที่ดีต่อพัฒนาการทางการเมืองของไทย แม้จะยังติดขัดเนื่องจากเป็นระยะเริ่มแรกของการปฏิรูปการเมือง ก็ยังคาดหวังได้ว่าจะมีพัฒนาการที่ดียิ่งขึ้นต่อไป
๕. สิ่งแวดล้อมความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ เข้าใจว่าสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องไกลตัว ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องใกล้ตัวและเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้คน เช่นเดียวกับเรื่องใกล้ตัวอื่น ๆ อากาศไม่ดีเป็นผลเสียต่อสุขภาพ ปลูกพืชผักไม่ได้ผล หรือได้ผลแต่ไม่ดี อากาศวิปริตฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ไม่เพียงแต่มีผลต่อพืชพันธุ์ธัญญาหาร ยังมีผลต่อแบบแผนการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคมด้วย หลายพื้นที่มีปัญหาเรื่องขยะ น้ำเสีย น้ำท่วม ฝนแล้ง เสียงรบกวน ฝุ่นละออง ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย เพราะความที่เข้าใจว่าเป็นเรื่องไกลตัวจึงให้ความสำคัญน้อย ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่ง ชาติ ก็พึ่งบรรจุไว้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๐ – ๒๕๒๔) แต่ผลการดำเนินงานไม่เห็นเป็นรูปธรรม แม้จะเริ่มเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมจนบรรจุไว้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๔ แต่ก็ยังมีการทำลายสิ่งแวดล้อมกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะป่าไม้ จนมี พ.ร.บ.ปิดป่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒ การพัฒนาที่ยั่งยืนจะต้องไม่ทำลายสิ่ง แวดล้อม การพัฒนาที่ผ่านมายังไม่ได้เอาจริงเอาจังกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมประชาชนจึงได้รับผลกระทบโดยไม่รู้ตัว เมื่อรู้ตัวก็ต้องใช้เวลานานกว่าสิ่งแวดล้อมจะกลับสู่ภาวะที่สมดุล
ที่มา; http://www.franchisecb.com/content-%CB%C5%D1%A1%A4%D4%B4%E3%B9%A1%D2%C3%BE%D1%B2%B9%D2%AA%D8%C1%AA%B9-4-105-2528-1.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น