โปรแกรม Picasa

วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

หลักการจัดระเบียบบริหารราชการ

  
1.หลักการรวมอำนาจ(Centralization)
2.หลักการแบ่งอำนาจ(Deconcentration)
3.หลักการกระจายอำนาจ(Decentralization)
ความหมายของหลักการรวมอำนาจ
       การจัดวางระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน โดยรวมอำนาจการปกครองไว้ให้แก่หน่วยงานบริหารราชการส่วนกลาง และมีเจ้าหน้าที่ของหน่วยการบริหารราชการส่วนกลาง โดยให้ขึ้นต่อกันตามลำดับชั้นการบังคับบัญชาตลอดทั่วทั้งประเทศ และรักษาไว้ซึ่งเอกภาพในการปกครอง  รวมทั้งความมั่นคงปลอดภัยของประเทศเป็นสำคัญ
ลักษณะสำคัญของหลักการรวมอำนาจ
-มีการรวมกำลังทหารและกำลังตำรวจให้ขึ้นต่อส่วนกลาง
-มีการรวมอำนาจในการวินิจฉัยสั่งการไว้ในส่วนกลาง
-การลำดับชั้นการบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ลดหลั่นกันไป
ความหมายของหลักการแบ่งอำนาจ
       หลักการบริหารราชการที่ส่วนกลางได้จัดแบ่งและมอบอำนาจวินิจฉัยสั่งการบางส่วนไปให้แก่เจ้าหน้าที่หน่วยการบริหารราชการส่วนกลางที่เป็นตัวแทนซึ่งได้ส่งออกไปประจำอยู่ในเขตปกครองส่วนภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ
ลักษณะสำคัญของการแบ่งอำนาจ
-ต้องมีรัฐบาลซึ่งเป็นการบริหารราชการ การแบ่งอำนาจเป็นกระบวนการหนึ่งของการรวมอำนาจปกครอง
-มีหน้าที่ซึ่งเป็นตัวแทนของส่วนกลางส่งออกไปปฏิบัติหน้าที่
-ส่วนกลางแบ่งและมอบอำนาจในการบริหารราชการงานบางส่วนบางเรื่องโดยแบ่งมอบไปให้เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นตัวแทนของส่วนกลาง  ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ตามเขตการปกครองท้องที่ต่าง ๆ มิได้ตัดอำนาจจากส่วนกลางอย่างเด็ดขาด
ความหมายของหลักการกระจายอำนาจ
       เป็นวิธีที่รัฐมอบอำนาจปกครองบางส่วนให้แก่องค์การอื่นที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยการบริหารราชการส่วนกลางไปจัดทำบริการสาธารณะบางอย่างโดยมีอิสระตามสมควร
ลักษณะสำคัญของหลักการกระจายอำนาจ
-มีการจัดตั้งองค์การขึ้นเป็นนิติบุคคลเพิ่มขึ้นจากส่วนกลาง
-การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น
-มีอำนาจอิสระในการปกครองตนเองได้ตามสมควร (Autonomy)
-มีงบประมาณและรายได้เป็นของท้องถิ่น
-มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่เป็นของท้องถิ่นของตนเอง

วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

        นับแต่ปีพุทธศักราช  ๒๔๗๕ ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  จากระบอบสมบูรณายาสิทธิราชย์ มาเป็น ระบอบประชาธิปไตย  มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ  ซึ่งนับแต่ห้วงเวลาดังกล่าว จวบจนกระทั่งปัจจุบันประเทศไทยได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาแล้ว ถึง ๑๖ ฉบับ  โดยฉบับล่าสุดประกาศใช้เมื่อวันที่  ๑๑ ตุลาคม  ๒๕๔๐
       ในอดีตที่ผ่านมา  นับแต่ที่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรก เป็นต้นมาประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายหลายด้าน  ส่วนรัฐธรรมนูญก็ได้มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะบ้านเมือง มาจนสามารถที่จะยึดถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริง  เช่น  รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
        อย่างไรก็แล้วแต่  ประเทศไทยมีปัญหาที่หมักหมมสะสมมานาน และยังไม่สามารถขจัดให้หมดสิ้นไปอย่างเด็ดขาดได้  คือ ปัญหาการใช้อำนาจรัฐของเจ้าหน้าที่รัฐโดยมิชอบ เพื่อผลประโยชน์ของตนและพวกพ้อง  นำไปสู่การทุจริตในที่สุด  ก่อให้เกิดผลเสียอย่างมากมายต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวม   รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐  จึงได้พยายามแก้ปัญหาและอุดช่องว่างของกฎหมายเพื่อป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นให้ลดน้อยลง โดยได้มีบัญญัติไว้ใน  หมวด ๑๐ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ  มาตรา  ๒๙๑–๓๑๑  เป็นผลให้มาตราการเดิมที่ใช้ในการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐซึ่งไม่มีประสิทธิภาพต้องเปลี่ยนแปลงปรับปรุงใหม่ และเกิดมาตราการใหม่ๆ ขึ้นมาแก้ไขปัญหา อีกทั้งเป็นผลให้องค์กรที่ใช้ในการควบคุมตรวจสอบมีประสิทธิภาพมากขึ้น  โดยมีรูปแบบการตรวจสอบดังนี้ คือ  การแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน  จัดตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)เพื่อเป็นองค์กรตรวจสอบ  การลงคะแนนเสียงของ ส.ส. และ ส.ว. การเข้าชื่อถอดถอนออกจากตำแหน่งของประชาชน  การดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก่อให้เกิดศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองขึ้น 


ที่มา; e-learning.mfu.ac.th/mflu/1604101/chapter2/group5.doc

 

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

17-20 พฤษภาทมิฬ ลำดับเหตุการณ์ความรุนแรงทั้ง 4 วัน



       เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เกิดจากการหลงอำนาจผิดยุคผิดสมัยของ นายทหารกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งประกอบด้วย
พล.อ.สุจินดา คราประยูร
พล.อ.สุนทร์ คงสมพงษ์
พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล
พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี ฯลฯ
       ได้ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2534โค่นอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งแล้วตรารัฐธรรมนูญการปกครอง(ชั่วคราว)ขึ้นโดยเสนอตั้ง นาย อนันท์ ปันยารชุน เป็นนายรัฐมนตรี ขัดตาทัพ รสช.ตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้นมาด้วยอำนาจเผด็จการ ทำการคลอดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 "ฉบับหมกเม็ด" เตรียมสืบทอดอำนาจให้ตนเอง เพาะเชื้อเผด็จการขึ้นมาเต็มรูปแบบอีกครั้ง โดยกำหนดว่า
       นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง (ไม่ต้องเป็น ส.ส.)
ให้ข้าราชการดำรงตำแหน่งได้ (ควบตำแหน่งได้)
แต่งตั้งนายทหารในกลุ่มเครือญาติคนสนิทขึ้นมาคุมกองทัพ
การผนึกอำนาจทางการเมืองและการทหารเป็นศูนย์อำนาจ
       เมื่อกระแสประชาชนคัดค้าน "สุจินดา" ก็ยอมรับปากจะไม่รับตำแหน่งผู้นำ แต่ในที่สุด "สุจินดา" ก็ยอมเสียสัตย์แก่ตนเองและสาธารณะชนยอม "เสียสัตย์" เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 โดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง จนนำไปสู่การประท้วงคัดค้านของประชาชนนับแสนคนบนถนนราชดำเนิน และหัวเมืองใหญ่ๆทั่วประเทศและถูก 3 หัวโจ๊กเผด็จการดังกล่าว ใช้กำลังปราบปรามประชาชนและนิสิตนักศึกษาอย่างนองเลือดโหดร้ายทารุณ สร้างรอยด่างพร้อยให้กับประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยอีกตำนานหนึ่ง




เหตุการณ์วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๕วันปะทะ
       ช่วงเช้าถึงเที่ยง เจ้าหน้าที่สมาพันธ์ประชาธิปไตยได้มารวมตัวอยู่ที่บริเวณสนามหลวงเพื่อเตรียมการชุมนุมที่จะขึ้นในตอนเย็น เช่น เรื่องอาหาร โปสเตอร์ เต็นท์อำนวยการ รวมทั้งสุขาชั่วคราวโดยใช้ถังน้ำมันผ่าครึ่งเป็นโถ มีผ้าพลาสติกกั้นเป็นห้องไว้ ตั้งชื่อว่า "สุขาเพื่อผู้รักประชาธิปไตย"
ราวเที่ยง มีประชาชนกว่า 5,000 คนทยอยมาที่สนามหลวงทั้ง ๆ ที่เวทียังไม่เริ่มตั้ง มีการขายเทปวีดีโอคำปราศรัยการชุมนุมเมื่อวันที่ 6-11 พ.ค. ที่ผ่านมา รวมทั้งเสื้อยืด สติกเกอร์ต่อต้าน พล.อ.สุจินดา และเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งขายดีมาก
       นายประพันธ์ศักดิ์ กมลเพชร และผู้อดอาหารประท้วงคนอื่น ๆ ได้ย้ายมาที่เต็นท์ข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วน ร.ต. ฉลาด วรฉัตร ซึ่งยังคงปักหลักอดอาหารประท้วงที่หน้าทำเนียบรัฐบาลได้ขอถอนตัวจากคณะกรรมการบริหารสมาพันธ์ประชาธิปไตย
ด้วยเหตุผลว่าไม่อาจเข้าร่วมประชุมได้ เนื่องจากร่างกายของตนอยู่ในสภาพที่อ่อนล้าการกระทำครั้งนี้ไม่ใช่ความแตกแยก แต่เพราะตนเหลือเวลาน้อยเต็มที่แล้ว
       บ่ายโมง เจ้าหน้าที่สมาพันธ์ฯ เริ่มตั้งเวทีขึ้นโดยหันหน้าไปทางวัดพระแก้ว บนเวทีขึงผ้าสีขาวมีข้อความว่า " สมาพันธ์ประชาธิปไตย สุจินดาออกไปประชาธิปไตยคืนมา"
จากประชาชนประมาณ 3 หมื่นคนในเวลาบ่างสามโมง ได้เพิ่มขึ้นเป็น 3 แสนคนเมื่อถึงเวลาทุ่มครึ่ง การจราจรโดยรอบสนามหลวงติดขัดเพราะมีผู้คนเดินทางมาทุกสารทิศ มีรายงานว่านายทหารตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 1,000 คนได้ปะปนอยู่ในที่ชุมนุม
       สมาพันธ์ประชาธิปไตยแจกธงกระดาษสีขาวมีข้อความว่า "ประชาธิปไตยต้องได้มาโดยสันติวิธี" และ "พร้อมใจยืนหยัดเพื่อประชาธิปไตย" แก่ประชาชน เพื่อใช้โบกระหว่างฟังการปราศรัย
แอ๊ด คาราบาว ขึ้นร้องเพลงบนเวที ตัวแทนสมาพันธ์ประชาธิปไตยทยอยขึ้นปราศรัย บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีการตะโกนคำขวัญขับไล่ พล.อ. สุจินดาตลอดเวลา ธงสีขาวสะบัดพรึบทั่วท้องสนามหลวงเมื่อคำพูดถึงใจ
       สองทุ่มเศษ พล.ต. จำลองตั้งเวทีปราศรัยย่อยขึ้นอีกแห่งหนึ่งเพื่อตรึงคนไว้ เนื่องจากเสียงจากเวทีใหญ่ได้ยินไม่ทั่วถึง จนถึงขณะนี้คาดว่ามีประชาชนกว่า 3 แสนคนแล้ว
นายพงษ์ศักดิ์ เปล่งแสง รองประธานกลุ่มรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ซึ่งมีองค์กรในสังกัดกว่า 200 องค์กร มีสมาชิกราว 3 หมื่นคน กล่าวปราศรัยต่อที่ชุมนุมว่า หากเกิดเหตุแรงจากการปราบปรามของรัฐบาล พนักงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดของตนพร้อมจะหยุดงาน
       นายวีระ มุสิกพงศ์ พรรคความหวังใหม่ ขึ้นปราศรัยกล่าวเสียดสีถึงการที่รัฐบาลสั่งห้ามไม่ให้นำสุขาเคลื่อนที่มาบริการ ว่านอกจากจะปิดกั้นข่าวสารปิดหูปิดตาประชาชนแล้ว ยังปิดกั้นประชาชนด้วย
หนังสือพิมพ์ประมาณว่ามีผู้ร่วมชุมนุมเกือบ 5 แสนคน นับเป็นการชุมนุมครั้งยิ่งใหญ่ของพลังประชาธิปไตย ทว่าไม่มีสถานีโทรศัพท์ช่องใดรายงานข่าวการชุมนุนนี้




เคลื่อนขบวนสู่ทำเนียบ
       พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อธิบดีกรมตำรวจเปิดเผยว่าได้จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ประมาณ 4,000-5,000 นาย ทั้งในและนอกเครื่องแบบ โดยประสานกับกองกำลังรักษาพระนครตลอดเวลา
       ผู้บัญชาการกองกำกับรักษาพระนคร ได้สั่งการให้หน่วยขึ้นตรง (นขต.) กองกำลังรักษาพระนคร ปฏิบัติการตามแผนไพรีพินาศ / 33 ขั้นที่ 2 และปฏิบัติตามคำสั่งยุทธการที่ 1/35 โดยให้ทุกหน่วยเข้าที่รวมพลขั้นต้นใกล้พื้นที่ปฏิบัติการตามสี่แยกสะพานและสถานที่สำคัญให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 19.00 น.
สำหรับกองกำลังทหารบกและกองกำลังตำรวจ ให้รับผิดชอบสกัดบริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ สะพานสมมติอมรมารค สะพานระพีพัฒนลาภ สะพานเหล็ก และสะพานภาณพันธ์
       เวลาหกโมงเย็น ทหารในสังกัดกองกำลังรักษาพระนครเตรียมพร้อมในที่ตั้งประมาณ 2,000 นาย บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ มีรถดับเพลิงจำนวน 10 คัน และรถพยาบาลหนึ่งคัน
เวลาทุ่มเศษ ทหารช่างจาก ช.พัน 1 รอ. พร้อมด้วยรถยีเอ็มซีสองคัน บรรทุกรั้วลวดหนามมาจอดเตรียมพร้อมอยู่หน้ากระทรวงคมนาคม
       ราวสามทุ่ม คณะกรรมการสมาพันธ์ฯ ซึ่งประกอบด้วย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ น.พ.เหวง โตจิราการ ขึ้นไปบนเวที
พล.ต. จำลองได้นำประชาชนกล่าวปฏิญาณอย่างพร้อมเพรียงกันต่อหน้าพระแก้วมรกตและพระบรมมหาราชวังว่า จะเคารพเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จะต่อสู้กับเผด็จการ และให้มีประชาธิปไตยที่นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง โดยยึดมั่นในหลักการอหิงสาสันติวิธี
       น.พ. เหวงประกาศให้ประชาชนเดินไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอคำตอบจาก พล.อ. สุจินดา ประชาชนจึงทยอยเดินออกจากท้องสนามหลวงไปตามถนนราชดำเนินกลาง โดยมีขบวนของ พล.ต. จำลองเป็นผู้นำรายการบนเวทียังดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อดึงคนบางส่วนไว้ให้การเคลื่อนขบวนเป็นไปอย่างต่อเนื่องและไม่วุ่นวาย นางประทีปกล่าวถึงเหตุผลที่ต้องเคลื่อนขบวนว่า เพื่อตอกย้ำเจตนารมณ์อย่างสันติวิธีและขอให้ผู้ร่วมขบวนทุกคนรักษาความสงบ
       ไม่นาน ถนนราชดำเนินกลางก็เต็มไปด้วยฝูงชน ธงเล็กสีขาวโบกไสวตลอดขบวน พร้อมกับเสียงร้องขับไล่ พล.อ. สุจินดาดังเป็นระยะ ๆ การจราจรย่านสนามหลวงเป็นอันพาตไปทันที
ที่สะพานผ่านฟ้าฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจนับพันนายพร้อมโล่หวาย ไม้กระบองตรึงกำลังอยู่โดยมีลวดหนาววางเป็นแนวกั้น รถดับเพลิงและทหารเสริมกำลังอยู่ด้านหลัง


มือที่สาม - การปะทะครั้งแรก
       การปะทะครั้งที่แรกเริ่มต้นขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 21.20-22.00 น. เมื่อฝูงชนกลุ่มแรกที่มาถึงสะพานผ่านฟ้าฯ เผชิญหน้ากับแนวกีดขวางและขอร้องตำรวจให้เปิดทางแต่ไม่สำเร็จ ประชาชนจึงพยายามฝ่าแนวกั้นโดยใช้ไม้กระแทกสิ่งกีดขวาง ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์หุ้มมือและเข้าดึงลวดหนาม บางคนก็ใช้มือเปล่า
       พล.ต.ท. วิโรจน์ เปาอินทร์ รมช. มหาดไทยในขณะนั้น ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงทำการฉีดน้ำสกัดฝูงชนในทันทีที่กลุ่มผู้ชุมนุมรุกล้ำผ่านเข้ามาแต่เนื่องจากน้ำที่ฉีกออกมานั้นแรงทั้งยังเป็นน้ำครำเน่าเหม็น ส่งผลให้ผู้ชุมนุมบางรายถึงกับเสียหลักและเกิดอารมณ์ฉุนเฉียว ประชาชนจึงตอบโต้ด้วยการขว้างปาขวดน้ำและก้อนหินเข้าใส่เจ้าหน้าที่
       ต่อมา ฝูงชนกลุ่มหนึ่งบุกยึดรถดับเพลิงจำนวนแปดคันที่กำลังฉีดน้ำใส่กลุ่มชน แล้วฉีดน้ำกลับใส่เจ้าหน้าที่ ทำให้ตำรวจต้องถอยร่นไป แต่ในที่สุดกำลังตำรวจนับพันนายก็บุกตะลุยเข้าชิงรถดับเพลิงคืนได้ โดยใช้กระบองรุมกระหน่ำตีกลุ่มผู้ยึดรถ การปะทะระหว่างฝูงชนกับตำรวจที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ และหน้ากรมโยธาธิการกินเวลานานนับชั่วโมง
นอกจากก้อนหินและขวดน้ำแล้ว ยังมีคนใช้ขวดน้ำมันจุดไฟรวมทั้งระเบิดขวดขว้างใส่เจ้าหน้าที่ ทำให้เกิดเสียงดังเป็นระยะ ๆ ทางฝ่ายตำรวจใช้กระบองเข้าทุบตีประชาชน รถยนต์ รถจักรยานยนต์ (ผู้จัดการฉบับพิเศษ 2535) ผู้สื่อข่าวและช่างภาพหลายคนโดยทุบตี ถูกยึดฟิล์ม กล้อง และอุปกรณ์ต่าง ๆ ไป มีผู้บาดเจ็บเลือดอาบรวมถึงถูกทุบตีจนเสียชีวิตหลายราย
       ในช่วงเวลาเดียวกัน โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจออกข่าวว่า พล.ต. จำลองได้นำประชาชนเคลื่อนย้ายจากท้องสนามหลวงเพื่อมุ่งสู่พระตำหนักจิตรลดาฯผู้ชุมนุมได้ขว้างปาเจ้าหน้าที่จนได้รับบาดเจ็บ รัฐบาลออกแถลงการณ์ให้ประชาชนที่มาชุมนุมกลับที่พักโดยด่วน
       เวลา 22.15 น. ตำรวจนำรั้วลวดหนามมาตั้งขวางไว้ตามเดิม ผู้บาดเจ็บถอยมารวมกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่เพิ่งเคลื่อนขบวนมาถึงสะพานผ่านฟ้าฯ พล.ต. จำลองได้กล่าวขอให้ประชาชนอยู่ในความสงบและนั่งลงต่อสู้โดยสันติวิธี ประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในความสงบ แต่มีบางส่วนที่ยังคงขว้างปาขวดน้ำใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ชายฉกรรจ์กลุ่มหน้าสุดประมาณ 20 คน พยายามประสานมือกันเพื่อดึงประชาชนให้นั่งลง
ยึดสถานีตำรวจดับเพลิงภูเขาทอง
       เวลา 23.00 น. ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ กลับสู่ความสงบ กลุ่มผู้ชุมนุนด้านกรมโยธาธิการกลับใช้ความรุนแรงและยั่วยุเจ้าหน้าที่ตำรวจจนเกิดการปะทะ มีการขว้างปาด้วยระเบิดเพลิงประทัด ในที่สุดก็มีการยึดสถานีตำรวจดับเพลิงภูเขาทอง
นำรถดับเพลิงออกมา ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการปะทะในบริเวณดังกล่าวให้สัมภาษณ์ว่า มีบุคคลกลุ่มหนึ่งนำขวดบรรจุน้ำมันก๊าดมาเตรียมไว้ที่บริเวณสถานีตำรวจดับเพลิงภูเขาทอง และกระทำการยั่วยุให้เกิดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับประชาชนบริเวณนั้นจนตำรวจต้องถอนกำลัง




เผาสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง
       ในช่วงเวลาเดียวกัน สถานการณ์ทางสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งมีสภาพไม่ต่างกับสถานีตำรวจดับเพลิงภูเขาทองเท่าใดนัก เพราะมีบุคคลกลุ่มหนึ่งเจตนาก่อความรุนแรงขึ้น โดยการขว้างปาสิ่งของต่าง ๆ เข้าไปในสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งลงมือเผาและทุบรถยนต์ ซึ่งเป็นภาพที่ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณสะพานผ้านฟ้าฯก่อนที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งจะถูกเผาเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ภายในอาคารเริ่มทยอยกันออกไปทางด้านหลังกองกำกับการ หลังจากตำรวจออกไป กลุ่มบุคคลเหล่านี้ได้เข้าไปในสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งเพี่อเผาและฉกฉวยทรัพย์สิน
       ผู้บุกรุกสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งเป็นกลุ่มชายฉกรรจ์ ตัดผมรองทรง บางคนศีรษะเกรียนร่วมกับกลุ่มวัยรุ่นอายุประมาณ 17-18 ปี มีข้อสังเกตว่า กลุ่มคนเหล่านี้มีการเตรียมการในการเผาทำลายอาคารไว้พร้อมพรัก เพราะมีผู้ชุมนุมบางคนพยายามเข้าไปห้ามแต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการขว้างปาถุงใส่น้ำมันจำนวนหลายถุงที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวเตรียมมาได้ นอกจากนี้ยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ เพราะแม้แต่ประตูห้องขังก็ได้เปิดให้ผู้ต้องขังหนีออกมาก่อนแล้ว กลุ่มผู้บุกรุกทำงานด้วยความคล่องแคล่ว รู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน ราวกับได้เตรียมการมาอย่างรอบคอบ
       ตลอดเวลาที่เกิดความวุ่นวายบนถนนราชดำเนินนอก ประชาชนนับแสนตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าฯ ถึงสี่แยกคอกวัว ซึ่ง พล.ต. จำลอง คุมสถานการณ์ไว้ได้ ยังคงนั่งชุมนุมอย่างสงบ
พล.ต. จำลอง ได้ประกาศต่อที่ชุมนุมว่า ไม่ขอรับผิดชอบต่อการก่อจลาจลทั้งหมดเพราะเป็นฝีมือของมือที่สามที่หวังสร้างสถานการณ์เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปราบปรามประชาชน


เหตุการณ์วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
       เที่ยงคืนเศษ โทรทัศน์ได้ออกข่าวว่า พล.ต.จำลองได้ปลุกระดมประชาชนทำลายทรัพย์สินของทางราชการ ทางราชการจึงต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาดเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียมากกว่านี้
เวลา 00.30 น. โทรศัศน์ออกประการศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ลงนามโดย พล.อ. สุจินดา และ พล.อ.อ. อนันต์ กลินทะ รมว. มหาดไทย
       เวลา 01.30 น. โทรทัศน์ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย ห้ามชุมนุมมั่วสุมเกิน 10 คนขึ้นไป
ต่อมาเวลาตีสาม โทรทัศน์ได้ประกาศเพิ่มเติมว่า พล.ต. จำลองได้นำการจลาจลเผารถ เผาสถานีตำรวจดับเพลิงภูเขาทอง ยึดสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน ทางราชการจึงต้องเข้าระงับความรุนแรงโดยเร็วที่สุด
       มีข้อน่าสังเกตว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาล ให้เหตุผลที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริง โดยกล่าวหาว่ากลุ่มผู้ชุมนุมที่พยายามรื้อลวดหนามมีเครื่องมือ ได้แก่ กรรไกรตัดเหล็กขนาดใหญ่ ถุงมือ และกระสอบ แต่หากพิจารณาจากภาพถ่ายของผู้สื่อข่าวแล้ว ประชาชนมีเพียงมือเปล่า
ในราวตีสี่เศษ กำลังทหาร 2,000 นายและตำรวจ 1,500 นาย ซึ่งเตรียมพร้อมที่สะพานมัฆวานฯ ก็เคลื่อนกำลังสู่สะพานผ่านฟ้าฯ มีการยิงปืนกราดใส่ฝูงชนบนถนนอย่างไร้เหตุผล มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย
แล้วในท่ามกลางความสงบของผู้ชุมนุมนับแสน เสียงปืนชุดแรกของทหารที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ ก็ดังสนั่นกึกก้องนานราว 15 นาที ลูกกระสุนแหวกอากาศเป็นห่าไฟขึ้นสู่ฟ้าตามวิถีเพื่อขู่ขวัญ ประชาชนที่ตรึงกำลังอยู่บริเวณผ่านฟ้าฯ ภูเขาทอง ป้อมมหากาฬ หลบหนีกันแตกกระเจิง มีเสียงร้องโอดครวญของผู้ได้รับบาดเจ็บเพราะถูกยิง และหลายคนเสียชีวิต
       สิ้นเสียงปืน ผู้ชุมนุมกลับมาผนึกกำลังกันใหม่ตรงสะพานผ่านฟ้าฯ ปรบมือเสียงดังหนักแน่นเรียกขวัญกำลังใจของผู้ชุมนุมให้กลับมากอีกครั้ง
       เกือบรุ่งสาง เสียงปืนชุดที่ 2 ก็ดังกึกก้องไม่แพ้ครั้งแรก ทหารเคลื่อนพลเดินดาหน้าเข้ามาพร้อมรถดับเพลิงฉีดน้ำใส่ฝูงชนจนแตกกลุ่มถอยรุนจากบริเวณสะพาน
เสียงปืนจางลง ผู้ชุมนุมพร้อมใจกันร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีราวกับต้องการขอพึ่งพระบารมีแห่งองค์พระมหากษัตริย์ให้ช่วยพสกนิการที่กำลังถูกทำร้าย ทว่าไม่ทันที่เสียงเพลงจะจบดี เสียงปืนก็ดังสนั่นขึ้นอีกครั้ง หนนี้ไม่มีเสียงตอบโต้จากผู้ชุมนุม
       กำลังทหารเข้ายึดสะพานผ่านฟ้าฯ พร้อมกับเอาลวดหนามกั้นไว้ วิถียิงที่มีทั้งขึ้นฟ้าและระดับบุคคลได้สงหารประชาชนและทำให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย ส่วนลำโพงของเวทีใหญ่ถูกยิงแตกกระจุย
ในช่วงเวลาเดียวกัน โทรทัศน์ประกาศว่ากำลังทหาร ตำรวจ ได้เข้ากราดล้างผู้ก่อความไม่สงบแล้ว




แผนไพรีพินาศ - แผนสังหารผู้บริสุทธิ์
       แผนไพรีพินาศ/ 33 ขั้นที่ 3 ระบุว่า หากปฏิบัติการในขั้นที่ 2 (ขั้นป้องกัน) ไม่สำเร็จ และสถานการณ์ทวีความรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมได้จำเป็นต้องใช้กำลังเข้าระงับยับยั้งและยุติภัยคุกคาม เพื่อสถาปนาความสงบเรียบร้อยให้กลับคืนมาก(รายงานของกองทัพบกต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของรัฐบาล)
       มีข้อน่าสังเกตว่า ในช่วงเวลา 23.00 น. ขณะเกิดการปะทะกันบริเวณกรมโยธาธิการ นายตำรวจรักษาการณ์ที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งได้ขอกำลังทหารมาช่วยตั้งแต่เที่ยงคืนก่อนมีการเผาสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง แต่กำลังทหารกลับมาถึงเวลา 04.00 น. หลังจากที่สถานีตำรวจนนครบาลนางเลิ้งถูกเผาไปเรียบร้อยแล้ว
       ถ้าพิจารณาตามแผนไพรีพินาศแล้วกล่าวได้ว่าการสลายการชุมนุมเป็นไปตามขั้นตอนที่วางไว้และเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งอาจตกเป็นเหยื่อของการเผาสถานีตำรวจ
เพราะนายตำรวจประจำสถานีนครบาลได้ขอกำลังจากโรงเรียนนายร้อย จปร. (เก่า) ตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนแต่เป็นเพราะเหตุใด กำลังทหารจึงมาถึงล่าช้าทั้ง ๆ ที่ระยะทางห่างกันเพียงไม่ถึงหนึ่งกิโลเมตร




จับจำลอง - สลายม๊อบ
       หกโมงเช้า พล.ต. ฐิติพงษ์ เจนนุวัตร ผู้บัญชาการกองพล 1 กับตัวแทนทหารอีกหนึ่งคนเปิดเจรจากับตัวแทนฝ่ายชุมนุม คือ นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ส.ส. พรรคพลังธรรม ที่จุดกึ่งกลางระหว่างทหารกับประชาชน โดยฝ่ายทหารขอให้ไปชุมนุมที่สนามหลวง
เจ็ดโมงเช้า พล.ต จำลองโทรศัพท์ติดต่อกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรี เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและขอความช่วยเหลือ
        สิบโมงเช้า ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.สุจินดาชี้แจงกับคณะรัฐมนตรีถึงสถานการณ์และเหตุผลที่ประกาศภาวะฉุกเฉินแม่ไม่ได้พูดถึงการใช้กำลังอาวุธเข้าทำร้ายประชาชน
เตรียมสลายการชุมนุม
ที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ หลังจากทหารได้ใช้อาวุธปราบปรามผู้ชุมนุมเมื่อตอนเช้ามืด ในตอนสาย บรรยากาศการชุมนุมกลับสู่ความสงบอีกครั้งหนึ่ง ผู้ชุมนุมได้มอบดอกไม้ให้แก่ทหารและตำรวจปรามจราจล
       12.30 น. กองกำลังรักษาพระนครวางแผนสลายการชุมนุม (จากรายงานของกองทัพบกต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของรัฐบาล)
       13.00 น. ทหารตั้งกำลังปิดกั้นบริเวณสะพานพระปิ่นเกล้า ท่าพระจันทร์ สีแยกคอกวัว และวางลวดหนามขวางถนนราชดำเนินตรงบริเวณหน้ากรมประชาสัมพันธ์ ประชาชนที่ต้องการเข้าร่วมชุมนุมถูกสกัดไว้ไม่ให้เข้า ในขณะที่ผู้ชุมนุมภายในเหลืออยู่เพียง 2 หมื่นคน
       14.00 น. พล.อ. สุจินดาออกแถลงการณ์ทางโทรทัศน์กล่าวหา พล.ต. จำลองและบุคคลบางคนว่าเป็นภัยต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นผู้ยุยงปลุกปั่นให้การชุมนุมเกิดความรุนแรงจนทำร้ายเจ้าหน้าที่และทำลายสถานที่ราชการ จึงต้องใช้กำลังทหารตำรวจเข้าปราบปรามขั้นเด็ดขาดเพื่อยุติความเสียหาย
       15.00 น. กองกำลังรักษาพระนครก็สั่งการให้สลายการชุมนุมจากสะพานผ่านฟ้าฯ ถึงกรมประชาสัมพันธ์ โดยให้เหตุผลว่า
 "ในขณะนั้นมีผู้ชุมนุมเพิ่มขึ้นจำนวนมากกองกำลังรักษาพระนครได้พิจารณาเห็นว่า หากการชุมนุมในจุดังกล่าวดำเนินต่อไปจนถึงเวลาค่ำเหตุรุนแรงก็คงจะเกิดขึ้นอีกเหมือนกับที่เกิดขึ้นในคืนที่ผ่านมาแล้ว (17 พ.ค. 35 ) จึงจำเป็นต้องสลายการชุมนุม"


สังหารโหด ใบไม้ร่วงกลางนาคร
       บ่ายสามโมง บนถนนราชดำเนินขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาพพักผ่อนหลบแดดร้อน เสียงปืนก็ดังสนั่นราวฟ้าถล่มทหารเดินดาหน้าเข้าล้อมกรอบกลุ่มผู้ชุมนุมจากทุกทิศ
โดยมีรถหุ้มเกราะเคลื่อนตามมาข้างหลัง ผู้คนนับหมื่นแตกกระเจิงวิ่งหนีหลบไปตามซอกเล็กซอกน้อย ส่วนที่เหลือราว 3,000 คนหมอบราบลงกับพื้น ได้ยินเสียงหวีดร้องและเสียงร้องให้สะอึกสะอื้นท่ามกลางเสียงปืนรัวกระหน่ำผู้ที่หลบรอดมาได้เล่าว่า ทหารนอกจากยิงปืนขึ้นฟ้าแล้ว ยังยิงกราดใส่ผู้ชุมนุมด้วย และมีกองกำลังบางส่วนใช้กระบองเข้าทุบตีผู้ชุมนุมที่นอนหมอบกับพื้นอย่างไม่ยั้งมือ
      "อย่าทำร้ายประชาชน จับผมไปคนเดียว" พล.ต. จำลองพยายามเปล่งเสียงพร้อมกับชูมือแสดงตัวขณะที่หมอบราบอยู่กับฝูงชน สารวัตรทหารร่างยักษ์สองนายตรงเข้าจับกุมใส่กุญแจมือแล้วนำตัวขึ้นรถออกไปจากที่ชุมนุมกำลังทหารเข้ายึดพื้นที่ถนนราชดำเนินตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าฯ ถึงสี่แยกคอกวัวไว้ได้อย่างสิ้นเชิงผู้ชายถูกสั่งให้ถอดเสื้อนอกคว่ำหน้า สองมือไพล่หลังมัดไว้ด้วยเสื้อ ส่วนผู้หญิงนอนคว่ำหน้า หลายคนร่างสั่นสะทกหวาดผวา น้ำตาอาบใบหน้ารถ ยี เอ็ม ซี 10 คันและรถบัส 3 คน นำผู้ชุมนุมไปกักขังที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน ประมาณว่ามีผู้ถูกจับนับพันคน
       15.45 น. ข่าวด่วนพิเศษทางโทรทัศน์ประกาศว่า กองกำลังรักษาพระนครได้สลายกลุ่มก่อการจลาจลเรียบร้อยแล้วโดยไม่เสียเดือดเนื้อการเข้าสลาบม๊อบครั้งนี้ใช้กำลังทหารสามกองพัน ร่วมกับตำรวจตระเวนชายแดนในชุดปราบจราจลอีกหนึ่งกองพัน ประมาณ 2,000 คน พร้อมรถเกราะติดปืนกลสี่คัน ภายหลังการสลายม๊อบกำลังทหารยังหนุนเข้ามาไม่ขาดสาย ประมาณว่ามีกำลังทหารทั้งหมดไม่ต่ำกว่าหนึ่งกองพลกับอีกห้ากองพันหรือประมาณ 6,000-7,000 คน
       เสียงปืนรัวเป็นชุด ๆ ยังดังอยู่ตลอดถนนราชดำเนินเพื่อสลายฝูงชนที่ยังเหลืออยู่ตามซอกเล็กซอกน้อย และปรามไม่ให้คนนอกเข้ามาภายในบริเวณ ส่วนตามแนวสกัดของทหารโดยรอบถนนราชดำเนินยังมีฝูงชนจับกลุ่มตะโกนด่าทหารและขับไล่ พล.อ. สุจินดา
       สี่โมงครึ่ง มีการยิงปืนใหม่กราดไปทางป้อมมหากาฬ ใส่กลุ่มคนที่หลบตามซอกหลืบ มีคนล้มกองกับพื้นในบริเวณนั้นมากมาย
       ห้าโมงเศษ กำลังทหารได้กราดยิงติดต่อกันเป็นเวลานานอีกครั้งทั่วทั้งถนนราชดำเนิน ตั้งแต่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปจนถึงสะพานผ่านฟ้า
หลังจาก พล.ต. จำลองถูกจับ ประชาชนยังคงไม่สลายการชุมนุม แต่กลับทวีจำนวนมากขึ้นและถอยร่นไปตั้งหลักอยู่บริเวณกรมประชาสัมพันธ์โรงแรมรัตนโกสินทร์ และบริเวณใกล้เคียง ทางด้านหน้ากรมประชาสัมพันธ์มีกำลังของกองทัพบกจำนวนหนึ่งกองพันอยู่ในแนวที่ 1 หน้าแนวรั้วลวดหนาม แนวที่ 2 เป็นกำลังของทหารอากาศจำนวนหนึ่งกองพัน และแนวที่ 3 เป็นกำลังของกองทัพบกอีกสองกองพัน
       หกโมงเย็น ประชาชนจากที่ต่าง ๆ ราว 5 หมื่นคนได้กลับมารวมตัวกันที่บริเวณหน้ากรมประชาสัมพันธ์ทอดยาวไปถึงกระทรวงยุติธรรมหน้าขบวนถือธงชาติโบกสะบัด ทั้งอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชินีนาถ มายืนประจันหน้ากับแนวรั้วลวดหนามและแถวทหาร
เสียงปืนดังรัวถี่ยิบนานนับสิบนาที ฝูงชนหมอบราบกับพื้น บ้างส่งเสียงโห่ บ้างเคาะขวดพลาสติกกับพื้นดังสนั่น สิ้นเสียงปืนปรากฏว่าชายหนุ่มคนหนึ่งถูกยิงที่คอทรุดฮวบกับพื้น และชายชราคนหนึ่งถูกยิงตรงท้ายทอย กระสุนทะละหน้าผากมันสมองไหลนอง ประชาชนยืนมุงดูด้วยความโกรธแค้น เสียงตะโกนแช่งดา พล.อ. สุจินดา ดังกึกก้องทั่วบริเวณ
       ทุ่มครึ่ง รถบรรทุกน้ำรถเสบียงของทหารพยายามฝ่าฝูงชนเข้าไปส่งเสบียง ฝูงชนจึงเข้ายึดและจุดไฟเผา กลุ่มผู้ชุมนุมพยายามต่อต้านการปราบปรามโดยใช้อาวุธและเครื่องกีดขวางที่หาได้ในบริเวณนั้น
เช่น ขวดน้ำพลาสติก กระถางต้นไม้แผงกั้นจราจร ตลอดจนรถประจำทาง รถน้ำมัน มีการยึดรถเมล์ 11 คน วัยรุ่นกล้าตายขึ้นยืนโบกธงเบียดเสียดกันบนหลังคารถ ร้องเพลงปลุกใจสลับกับตะโกนขับไล่ พล.อ. สุจินดา
       พรรคฝ่ายค้านที่พรรคออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลยุติการใช้กำลังรุนแรงกับประชาชนทันทีโดยไม่มีข้อแม้ และพรรคฝ่ายค้านจะยื่นญัตติให้รัฐบาลชี้แจงกรณีใช้ความรุนแรงกับประชาชน ทั้งจะเสนอให้มีการตรวจสอบเหตุการณ์อย่างละเอียดเพราะมีเรื่องน่าสังเกตหลายประการส่วนทางรัฐบาลออกประกาศจับแกนนำเจ็ดคน คือ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล น.พ. เหวง โตจิราการ น.พ. สันต์ หัตถีรัตน์ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ น.ส. จิตราวดี วรฉัตร และนายวีระ มุสิกพงศ์




เผาและเผา
       เพื่อนฝูงที่ล้มตายต่อหน้า คนเจ็บที่นอนพะงาบ ๆ อยู่กับพื้น กลิ่นคาวเลือด ควันปืน เสียงร่ำให้หวีดร้อง การต่อสู้ของคนมือเปล่าถูกตอบแทนด้วยอาวุธหนักยิ่งกว่าในสงคราม ความอัดอั้นคับแค้นปะทุออกมาอย่างสุดกลั้น รถยนต์หลายคันในบริเวณนั้นถูกเข็นออกมากลางถนน กระหน่ำตีด้วยไม้กระทืบและพลิกคว่ำให้สาแก่ใจ มีแต่ความรู้สึกต้องการทำลาย จนกว่าจะหมดเรี่ยวแรงหรือความคับแค้นที่มีต่อสิ่งเลวร้ายทั้งหลายทั้งปวงที่ได้รับอุบัติขึ้น
       ความพยายามเผากรมประชาสัมพันธ์เกิดขึ้นสองช่วงเวลาคือ ช่วงแรกเวลา 22.00 - 23.00 น. เริ่มจากการทุบกระจกกรมประชาสัมพันธ์โดยใช้ขวดบรรจุน้ำมัน เศษผ้า เศษกระดาษ โยนเข้าไปข้างในตึก ทำให้ไฟลูกไหม้โต๊ะทำงานของเจ้าหน้าที่กรมประชาสัมพันธ์ ผู้ชุมนุมพยายามช่วยกันดับไฟได้ทัน
แต่เพลิงได้ลุกไหม้ขึ้นอีกครั้งในช่วงเวลาตีสามหลังจากการปราบปรามช่วงสี่ทุ่ม มีผู้นำรถเมล์และรถน้ำมันเข้ามาในบริเวณอาคาร ไฟได้ลุกไหม้ขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุ และไม่มีใครสามารถดับได้ทัน
ทางด้านกองสลากถูกเผาในช่วงเวลาประมาณสี่ทุ่มเศษ และกรมสรรพากรเผาเมื่อเวลา 12.00 น. ของวันที่ 19 พฤษภาคม โดยกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวน 200-300 คนรวมทั้งม๊อบจักรยานยนต์ประมาณ 50 คัน ได้เริ่มเผาตั้งแต่ชั้นล่างจนกระทั่งกลุ่มควันได้กระจายออกมาจนถึงด้านนอกและลุกไหม้จนทั่วอาคารในที่สุด
เพลิงลุกโซนในราตรีอันมืดมิด ถนนราชดำเนินเงียบวังเวง มีเพียงเสียงเปลวไฟปะทุ กับเสียงปืนที่ดังเป็นระยะ ๆ ตลอดคืน
       มีข้อน่าสังเกตว่า กรมประชาสัมพันธ์ที่มีเค้าว่าจะถูกเผาตั้งแต่สี่ทุ่มของคืนวันที่ 18 พฤษภาคม แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจดับเพลิงกลับได้รับคำสั่งให้เข้าดับไฟเมื่อเวลาประมาณ 01.00 น. ของวันที่ 19 พฤษภาคม
       เจ้าหน้าที่กรมประชาสัมพันธ์ที่อยู่ในเหตุการณ์กล่าวว่า เห็นรถดับเพลิงสามคันแรกมาถึงที่เกิดเหตุเมื่อเวลาประมาณตีสี่สิบนาที (รายงานการให้ข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการวิสามัญ) จึงมีผู้ตั้งคำถามว่า เหตุใดคำสั่งให้ดับเพลิงจึงล่าช้ากว่าเวลาเกิดเหตุนานจนกระทั่งสถานที่ราชการถูกไฟเผาจนหมด
หรือประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอีกครั้งเมื่อรัฐต้องการสร้างความชอบธรรมในการปราบปรามประชาชนด้วยเหตุผลทำลายทรัพย์สินราชการ !
       สามทุ่มครึ่ง ทหารที่ยืนตรึงกำลังชั้นนอกสุดได้รับคำสั่งให้ติดดาบปลายปืน บรรยากาศตึงเครียดขึ้นทันที
      สี่ทุ่มเศษ ขณะที่รถเมล์คันใหม่ที่เพิ่งยึดมาได้กำลังเคลื่อนที่เข้าเทียบติดรั้วลวดหนาม ทหารก็กระหน่ำปืนกลขึ้นชุดใหม่อย่างต่อเนื่อง ฝูงชนหมอบราบกับพื้น บ้างตะเกียกตะกายคลานหลบจากแนวหน้ากระสุนแหวกอากาศเป็นแสงไฟแลบแปลบปลาบ วัยรุ่นบนหลังคารถถูกยิงร่วงกราว ไม่เว้นแม้แต่คนที่กำลังถือธงหรือชูพระบรมฉายาลักษณะห่ากระสุนส่วนหนึ่งเด็ดชีวิตประชาชนบนหลังคาอาคารกองสลากฯ โดยไม่ทันรู้ตัวแล้วเกินกว่าใครจะคาดคิด คนขับรถเคนตายคนหนึ่งก็ตะบึงรถเมล์พุ่งพังรั้วลวดหนามเข้าหาแนวทหาร ห่ากระสุนถล่มเข้าใส่รถเมล์เสียงดังหูดับตับไหม้จนกระทั่งพรุนไปทั้งคันรถและจอดแน่นิ่งพร้อมกับร่างคนขับหลังพวงมาลัยความกล้าหาญและความตายของเขาปลุกจิตใจของคนที่เหลือ รถเมล์อีกหลายคันถูกเข็นให้เคลื่อนเข้าใส่ทหาร ห่ากระสุนชุดใหม่คำรามก้องแต่ไม่อาจหยุดยั้งฝูงชนที่กำลังบ้าคลั่งได้อีกต่อไป รถเมล์ยังคงรุกคืบหน้าเข้าไปเรื่อย ๆแถวทหารทั้งระดมยิงและถอยร่นไปตั้งหลักห่างออกไป ชายคนหนึ่งขึ้นไปยืนโบกธงชาติอย่างไม่เกรงกลัวอยู่บนหลังคารถกระสุนไม่ทราบจำนวนถีบร่างเขาร่วงสู่พื้นเสียชีวิตไปทันที
       สิ้นเสียงปืน ซากรถเมล์กลายเป็นเศษเหล็กกลิ่นคาวเลือกโชยคลุ้ง เสียงหวีดร้องสับสน ถนนราชดำเนินเกลื่อนกลาดด้วยศพและผู้บาดเจ็บนับร้อย ๆ เลือดสีแดงอาบพื้นแผ่นดิน
หนึ่งในหลาย ๆ ร่างที่นอนแน่นิ่งจมกองเลือกจักรพันธ์ อมราช ชายหนุ่มวัย 22 ปี ขึ้นไปโบกธงชาติอยู่บนหลังคารถ ถูกยิงเสกหน้า หัวสมองแตกระเบิดด้วยแรงกระสุน ร่างของเขาร่วงหล่นสู่ผืนดิน ผู้คนร่ำไห้กรีดร้องโหยหวนรอบ ๆ เขา"ทหารฆ่าประชาชน ทหารฆ่าประชาชน"
       ในช่วงเวลาสี่ทุ่มเป็นต้นมา หน่วยพยาบาลซึ่งประจำอยู่ที่ภัตตาคารศรแดง มุนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้ย้ายมายังโรงแรมรัตนโกสินทร์เพราะกลุ่มแพทย์ประเมินสถานการณ์ว่า การรวมตัวของประชาชนที่บริเวณหน้ากรมประชาสัมพันธ์มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปะทะกันร่างผู้บาดเจ็บที่โชกด้วยเลือด และศพวีรชนคนแล้วคนเล่า ถูกหามเข้าสู่ห้องล๊อบบี้ของโรงแรมรัตนโกสินทร์ซึ่งกลุ่มแพทย์อาสาได้จัดสถานที่เป็นหน่วยพยาบาลฉุกเฉิน มีแพทย์ประมาณ 40 คน และรถพยาบาลหกคันคอยรับมือกับจำนวนคนเจ็บที่เพิ่มมากขึ้นทุกขณะอาสาสมัครจับมือล้อมวงกั้นเป็นเขตรักษาเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การปฏบัติงานของแพทย์และพยาบาล ศพและคนเจ็บถูกหามเข้ามาเรื่อย ๆ หลายคนมีบาดแผลฉกรรจ์ที่ขา หน้าอก กลิ่นคาวเลือกตลบอบอวล บางคนอยู่ในอาการหวาดกลัว แพทย์ทุกคนพยายามช่วยอย่างเต็มความสามารถ แพทย์คนหนึ่งบอกให้นำแต่เฉพาะคนเจ็บเข้ามาก่อน แต่ก็เสียงตอบกลับมาว่าข้างนอกมีอยู่อีกมากเหลือเกิน ยังเองเข้ามาไม่ได้คนเจ็บถูกทยอยส่งโรงพยาบาลโดยรถพยาบาลเที่ยวแล้วเที่ยวเล่า เสียงไซเรนร้องโหยหวน ทว่ารถพยาบาลที่วิ่งออกไปส่วนใหญ่ไม่สามารถกลับเข้ามารับผู้บาดเจ็บเพราะทหารสกัดไว้ ผู้ชุมนุมจึงนำรถเมล์มาช่วยขนคนเจ็บ ขณะเดียวกันโรงพยาบาลศิริราชก็ได้ประกาศรับบริจาคโลหิตเป็นการด่วนราวเที่ยงคืนข่าวด่วนพิเศษทางโทรทัศน์แถลงปฏิเสธว่า ข่าวทหารยิงประชาชนนั้นไม่เป็นความจริง




เหตุการณ์วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๓๕ มอเตอร์ไซค์พิทักษ์ประชาธิปไตย
       หลังเที่ยงคืน ฝูงชนที่ถนนราชดำเนินเริ่มบางตา แต่ยังรวมกลุ่มกันอยู่เป็นกระจุก ๆ รอบสนามหลวง ตามอาคารและซอกซอยต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็มีรถจักรยานยนต์จับกลุ่มวิ่งไปตามถนนสายต่าง ๆ กลุ่มละ 60 คันบ้าง 70 คันบ้าง รายงานจากบางแหล่งอ้างว่าบางกลุ่มมีรถจักรยานยนต์ถึง 500 คัน
กลุ่มรถจักรยานยนต์เข้าทำลายสัญญาณไฟจราจรตามสี่แยก ป้อมยาม ป้อมตำรวจ ถูกทุบเสียหาย บางแห่งก็ถูกเผา โดยเฉพาะสถานีตำรวจจะเป็นจุดที่กลุ่มรถจักรยานยนต์เล็งเป็นเป้าหมายของการแก้แค้นแทนฝูงชนที่ถูกสังหารบริเวณราชดำเนิน
       เส้นทางของกลุ่มรถจักรยานยนต์นั้นมีตลอดทั่วทั้งกรุง เช่น ถนนพระรามสี่ สะพานขาว เยาวราช ราชวงศ์ สถานีหัวลำโพง ท่าพระ ฯลฯ สร้างความวุ่นวายราวเกิดสงครามกลางเมืองด้วยการปฏิบัติการดั้งหน่วยรบเคลื่อนที่ แต่นอกจากการทำลายข้าวของราชการแล้ว พวกเขายังชักชวนผู้คนตามท้องถนนให้ไปร่วมต่อสู้ที่สนามหลวงด้วย นอกจากนั้นมอเตอร์ไซค์บางคันยังถูกใช้เป็นพาหนะ ช่วยพาผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลได้ทันเวลา เนื่องจากรถพยาบาลถูกทหารปิดกั้นไม่ให้วิ่งผ่าน จากบทบาทเหล่านี้ จึงเกิดศัพท์เรียกกลุ่มนี้ว่า "ขบวนการมอเตอร์ไซค์
       การปฏิบัติการของ "หน่วยไล่ล่า" เริ่มขึ้นตั้งแต่เวลา 22.00 น. ของวันที่ 18 พฤษภาคม ไปจนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม โดยพื้นปฏิบัติการได้กระจายไปทั่วกรุงเทพฯ มีประชาชนผู้บริสุทธิ์ตกเป็นเหยื่อสังเวย "หน่วยไล่ล้า" ครั้งนี้ตั้งแต่ฝั่งพระนครบริเวณสะพานขาว ไปจนถึงฝั่งธนบุรี ตั้งแต่โรงพยาบาลพระปิ่นเกล้า (โรงพยาบาลทหารเรือ ตลาดพลู บุคคโล ไปจนถึงถนนสาธรด้วยความคล่องตัวของรถจักรยานยนต์ ทำให้กำลังตำรวจไม่สามารถจัดการกลุ่มรถจักรยานยนต์พิทักษ์ประชาธิปไตยได้อย่างเด็ดขาดในคืนนั้น และขบวนการมอเตอร์ไซค์ก็ได้พลิกสถานการณ์ให้เห็นว่า การล้อมฆ่าที่กรมประชาสัมพันธ์ไม่อาจหยุดยั้งการต่อสู้ของประชาชนได้เลย


อรุณรุ่งที่ไร้การบันทึก
       เวลา 04.55 น. ของวันที่ 20 พฤษภาคม นายแพทย์คนหนึ่งในโรงเรียนรัตนโกสินทร์ถือโทรโข่งแจ้งว่า กำลังทหารจากศูนย์สงครามพิเศษลพบุรีเคลื่อนประชิดเขามาแล้ว และมีข่าวว่าจะปิดล้อมปราบขั้นสุดท้ายเวลาตีห้า แพทย์ได้แจ้งให้ทุกคนทราบและทำการปรับสภาพหน่วยพยาบาลให้อยู่ทำเลที่ปลอดภัยพร้อมกับเตรียมรับสถานการณ์บุกปราบ โดยให้ทุกคนนอนราบคว่ำหน้ากับพื้นประสานมือหลังศรีษะ นอนนิ่ง ๆ ไม่ส่งเสียงและไม่ต่อสู้
      ราวตีห้า กำลังทหารกว่า 1,000 นายเดินเรียงหน้ากระดานระดมยิงเข้าใส่ฝูงชนตั้งแต่หน้ากรมประชาสัมพันธ์เข้ามา เพื่อหวังเผด็จศึกสลายการชุมนุมให้ได้ก่อนรุ่งสาง ฝูงชนแตกกระจายไปคนละทิศละทาง
บ้างคว่ำจมกองเลือดบ้างคลานตะเกียกตะกายให้พ้นวิถีกระสุน กำลังทหารจากทุก ๆ ด้านโอบล้อมต้อนฝูงชนไม่ให้เล็ดลอดออกไปได้ เสียงหวีดร้องดังระงมไปทั่ว เสียงปืนดังเป็นระยะตามจุดต่าง ๆ
เพียง 30 นาที ฝูงชนถูกต้อนมารวมกันหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ ผู้ชายถอดเสื้อมัดมือไพล่หลัง ส่วนผู้หญิงถูกกันไว้อีกทางใครขัดขืนจะถูกกระทืบไม่เว้นแม้แต่แพทย์อาสาซึ่งสวมชุดเขียวแตกต่างจากคนทั่วไป ห้องพักทุกห้องถูกเข้าตรวจค้น ใครที่ไม่สามารถแสดงหลักฐานการเข้าพักจะถูกต้อนลงมารวมกับคนอื่น ๆ หน้าโรงแรม ทหารเหยียบลงบนร่างนับร้อยที่นอนคว่ำหน้าอยู่แน่นขนัดในห้องล๊อบบี้ พร้อมกับส่งเสียงตะโกนว่า "เหยียบมันเข้าไป ไอ้ตัวแสบพวกนี้เผาบ้านเผาเมือง เอาไว้ทำไม"
       เกือบหกโมงเช้า ประชาชนราว 2,000 กว่าคนนั่งก้มหน้านิ่งในสภาพเชลยศึกสงครามอัดกันอยู่หน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์รถยีเอ็มซี 20 คัน รถบัสทหารสองคัน ขนผู้ต้องหาก่อการจลาจลส่งเรือนจำชั่วคราวที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขนเหตุการณ์ช่วงการเข้าเผด็จศึกครั้งสุดท้ายไม่มีช่างภาพคนใดได้บันทึกภาพ หรือแม้กระทั่งถ่ายภาพวีดีโอ ไม่มีใครรู้ว่าประชาชนถูกสังหารไปอีกกี่มากน้อย หลายเสียงเล่าว่า ศพถูกขนขึ้นรถยีเอ็มซีไป แต่ไม่มีใครทราบว่ารถจะวิ่งไปสู่ที่ใด
       ภาพหลังเหตุการณ์ล้อมปราบ กลุ่มคณาจารย์มหาวิทยาลัยเอกชนห้าสถาบัน ซึ่งได้ร่วมมือกันเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ผู้บาดเจ็บในโรงพยาบาลและผู้อยู่ในเหตุการณ์ช่วงวิกฤต ได้ตั้งข้อสังเกตว่าการปราบปรามประชาชนครั้งนี้มีพฤติการณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาตีห้า (ผู้สื่อข่าวถูกถอนออกมาหมดตั้งแต่เวลาตีหนึ่ง) ซึ่งผู้ร่วมเหตุการณ์เห็นตรงกันทั้งหมดว่า น่าจะเป็นช่วงเวลาที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมากที่สุด เพราะลักษณะการปราบปรามเป็นการปิดล้อมและระดมยิงเข้ามาทุกด้าน(ยกเว้นทางสะพานพระปิ่นเกล้าซึ่งทหารเรือเปิดให้ผู้ชุมนุมวิ่งออกไป) มีผู้ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า มีคนบาดเจ็บและเสียชีวิตขณะที่วิ่งหลบเข้าไปตามตรอกซอกซอยต่าง ๆ ทุกแห่ง




เหตุการณ์วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๓๕ รัฐบาลแถลงข่าว
       ผู้สื่อข่าวต่างประเทศถามนายสมัครว่าเห็นด้วยกับการฆ่าประชาชนหรือไม่ นายสมัครตอบว่าทำไมเวลาจอร์ช บุช ส่งทหารไปแอลเอ 6,500 นาย ไม่เห็นมีใครด่าบุชเลย
ต่อมา พล.อ. สุจินดาได้ออกแถลงข่าวทางโทรทัศน์เสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิด และยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิตเพียง 40 คน บาดเจ็บ 600 คนเท่านั้น


ประกาศเคอร์ฟิว
       เวลาทุ่มครึ่ง ได้มีประกาศห้ามบุคคลในท้องที่ กมม. ออกจากเคหสถานระหว่างเวลา 21.00-04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น แต่ขณะเดียวกันที่รามคำแหง ประชาชนยังคงทยอยมาร่วมชุมนุมกันเกือบแสนคน
      เวลาห้าทุ่มครึ่ง โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจและสถานีวิทยุกระจายเสียงทุกแห่งได้ถ่ายทอดข่าวสำคัญ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.สุจินดา และพล.ต.จำลอง เข้าเผ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท 
      พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเตือนสติและสั่งสอนบุคคลทั้งสอง ทรงชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่จะมีต่อประเทศชาติ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ขอให้บุคคลทั้งสองเป็นตัวแทนฝ่ายต่าง ๆ หันหน้าเข้าหากัน ช่วยกันแก้ปัญหาทำอย่างไรให้ประเทศชาติกลับคืนขึ้นมาภายหลังจากกราบบังคมทูลลาแล้ว พล.อ. สุจินดา และ พล.ต. จำลอง พร้อมด้วยนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี และ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้ร่วมประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นพล.อ.สุจินดา กับ พล.ต. จำลอง ได้ออกแถลงร่วมกันทางโทรทัศน์ โดย พล.อ. สุจินดา แถลงว่าจะปล่อยตัว พล.ต. จำลอง และออกกฎหมาย นิรโทษกรรมให้แก่ผู้ชุมนุม และจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร็ว ส่วน พล.ต. จำลองแถลงว่า ขอให้ผู้ที่ก่อความวุ่นวายยุติการกระทำ
       ผู้ชุมนุมที่รามคำแหงหลังจากได้ชมข่าวสำคัญและการแถลงข่าวของบุคคลทั้งสอง ส่วนใหญ่รู้สึกผิดหวังที่ พล.อ. สุจินดายังไม่ลาออก แต่ที่ชุมนุมก็ได้ตัดสินใจสลายการชุมนุม แต่ยังคงอยู่รวมกันในมหาวิทยาลัยรามคำแหงจนกว่าจะถึงเวลาตีสี่ ซึ่งพ้นเวลาเคอร์ฟิวแล้ว จึงค่อยทยอยกันกลับบ้าน
มีความเป็นไปได้สูงมากกว่า ถ้าเหตุการณ์การชุมนุมที่รามคำแหงยังไม่ยุติการนองเลือดคงเกิดขึ้นอีกครั้งแน่นอน เห็นได้จากรายงานที่กองทัพบกเสนอต่อคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของรัฐบาล (ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาวิปโยค) กล่าวว่า"การที่เจ้าหน้าที่ใช้ความนุ่มนวลต่อผู้ชุมนุม เช่น การเจรจาทำความเข้าใจการใช้น้ำฉีด การใช้แนวตำรวจแนวทหารประกอบอาวุธโดยมิได้บรรจุกระสุนปืนตามมาตรการขั้นเบา ไม่น่าจะได้ผลเพราะกลุ่มผู้ก่อการจราจลไม่ยำเกรง หากการดำเนินการของกลุ่มผู้ก่อการจลาจลที่รวมอยู่กับประชาชนยังคงอยู่ จะต้องเกิดความไม่ปลอดภัยทั้งแก่เจ้าหน้าที่และประชาชน ผู้ก่อการจลาจลเหล่านี้สมควรจะต้องถูกสลายและควบคุมตัวถ้าจำเป็น เพื่อหยุดก่อความวุ่นวายที่เกิดขึ้น"

ที่มา; http://www.oknation.net/blog/print.php?id=38110

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519

      
       เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เป็นเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มที่รัฐให้การสนับสนุน ได้เข้าไปล้อมจับกุมและสังหารนักศึกษาและประชาชนภายใน บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งกำลังชุมนุมประท้วงเพื่อขับไล่ให้จอมพลถนอม กิตติขจรออกนอกประเทศ ในเหตุการณ์นี้ ตำรวจตระเวนชายแดนนำโดยค่ายนเรศวรจากหัวหิน, กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ตำรวจ และกลุ่มคนที่ตั้งโดยงบ กอ.รมน. คือ กลุ่มนวพล และ กลุ่มกระทิงแดง ได้ใช้กำลังอย่างรุนแรง ทำให้มีผู้ที่บาดเจ็บ เสียชีวิต และสูญหายเป็นจำนวนมาก
สาเหตุของความขัดแย้ง
       ในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในปี พ.ศ. 2519 มีความพยายามกลับประเทศไทย ของ จอมพลประภาส จารุเสถียร ในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2519 และการกลับประเทศไทยของ จอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2519 หลังจากที่ทั้งสองได้เดินทางออกนอกประเทศหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาหลังจากการกลับมาของจอมพลประภาส ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้ชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องให้จอมพลประภาส เดินทางกลับออกนอกประเทศ จนกระทั่งในที่สุด จอมพลประภาสจึงยินยอมเดินทางออกนอกประเทศในวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2519
ต่อมา จอมพลถนอมได้เดินทางกลับเข้ามาในประเทศอีกในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2519 โดยก่อนหน้านั้นได้แวะที่สิงคโปร์ เพื่อบวชเป็นสามเณรที่วัดไทยในสิงคโปร์ และได้รับอนุญาตให้เข้าอุปสมบทที่วัดบวรนิเวศวิหาร ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยจึงได้ชุมนุมเพื่อขับไล่อีก


รำลึก 6ตุลา 2519 ภาพเหตุการณ์จริง นองเลือด ณ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์





       ในขณะนั้นได้เกิดความแตกแยก ทั้งในพรรคการเมืองและกลุ่มประชาชน ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่สนับสนุนบทบาทของนิสิตนักศึกษา และ กลุ่มที่ต่อต้านนิสิตนักศึกษา ทำให้สถาการณ์มีความรุนแรงมากขึ้น จนกระทั่ง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ประกาศลาออกจากตำแหน่ง แต่พรรคร่วมรัฐบาลซึ่งมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ ก็ตัดสินใจเลือก ม.ร.ว. เสนีย์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยหนึ่ง
       ในวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2519 นายวิชัย เกษศรีพงษา และนายชุมพร ทุมไมย พนักงานการไฟฟ้านครปฐม และสมาชิกแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ถูกซ้อมตายระหว่างออกติดโปสเตอร์ประท้วงต่อต้านพระถนอม และถูกนำศพไปแขวนคอที่ประตูทางเข้าที่จัดสรร บริเวณหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ ต.พระประโทน อ.เมือง จ.นครปฐม แต่ ตำรวจสรุปสำนวนคดีว่าเกิดจากการผิดใจกับคนในที่ทำงาน
ความเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้ขับไล่พระถนอม ทวีความรุนแรงมากขึ้น มหาวิทยาลัยทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดมีการชุมนุมเพื่ออภิปรายโจมตีรัฐบาล ต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอม และให้จัดการจับฆาตกรสังหารโหดฆ่าแขวนคอที่นครปฐม สภาแรงงานแห่งประเทศไทยได้ยื่นคำขาดต่อรัฐบาล ให้จอมพลถนอมออกนอกประเทศภายใน 5 วัน มิฉะนั้นจะหยุดงานทั้งประเทศตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เป็นต้นไป ทั้งนักศึกษา สภาแรงงาน และผู้ต่อต้าน ได้รวมตัวกันประท้วงที่สนามหลวง จากนั้นจึงย้ายเข้าไปชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
       ทางด้านกลุ่มที่ต่อต้านการกระทำของนิสิตนักศึกษา อันประกอบด้วย กลุ่มนวพล (พลโท สำราญ แพทยกุล เป็นแกนนำ รหัส นวพล001 เป็นหนึ่งในองคมนตรี) กลุ่มพิทักษ์ชาติไทย กลุ่มกระทิงแดง และอื่น ๆ ได้ร่วมกันแถลงการณ์กล่าวหาศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย สภาแรงงาน และนักการเมืองบางคนว่า ได้ถือเอากรณีพระถนอม เป็นเงื่อนไขสร้างความไม่สงบในประเทศ
ต่อมากลุ่มเหล่านี้จึงเดินทางเข้ามาชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า สนามเสือป่า ราชตฤณมัยสมาคม และสนามหลวง เพื่อต่อต้านการชุมนุมของนิสิตนักศึกษา กลุ่มเหล่านี้ได้เรียกร้องให้รัฐบาลจับกุม และปลดรัฐมนตรีบางคนที่เชื่อว่าให้การสนับสนุนนิสิตนักศึกษา แต่รัฐบาลก็ยังไม่ได้สั่งการประการใด


การสังหารในวันที่ 6 ตุลาคม
       เวลาเช้ามืดราว 2 นาฬิกา กลุ่มกระทิงแดงทุกจุด รอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เตรียมปฏิบัติการโดยประสานงานกับตำรวจนอกเครื่องแบบ และมีกลุ่มกระทิงแดงเข้าแทรกตัวปะปนกับหมู่นิสิตนักศึกษา กลุ่มนวพลได้เรียกร้องให้รัฐบาลจับกุมนิสิตนักศึกษาเวลาราว 5 นาฬิกา เริ่มมีการยิงตอบโต้จากภายนอกเข้าสู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยถูกล้อมไว้
       เวลา 7 นาฬิกา กลุ่มทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน ลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดง และกลุ่มอันธพาล ได้ใช้รถบัสพุ่งชนประตูมหาวิทยาลัย ทั้งหมดเข้าสู่มหาวิทยาลัยและใช้อาวุธหนักระดมยิง ตำรวจหน่วยคอมมานโด หน่วยปฏิบัติการพิเศษและตำรวจนครบาลจากท้องที่ต่างๆเข้า
ถึงที่เกิดเหตุ เวลา 8 นาฬิกา ตำรวจตระเวนชายแดนพร้อมอาวุธครบมือเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมยิงกระสุนเข้าใส่นักศึกษา
       เวลา 8.30 น. - 10.00 น. นักศึกษาและประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิ่งหนีวิถีกระสุนจากตำรวจตระเวนชายแดนและกลุ่มผู้ก่อเหตุ นักศึกษาบางคนวิ่งหนีออกทางประตูหน้ามหาวิทยาลัย นักศึกษาบางส่วนหนีอออกทางแม่น้ำเจ้าพระยา หลายคนถูกรุมตี รุมกระทืบ บางคนที่ถูกทำร้ายบาดเจ็บถูกนำไปแขวนคอ และถูกผู้คนแสดงท่าทางเยาะเย้ยศพ กลุ่มคนบางกลุ่มลากเอาศพนักศึกษามาเผากลางถนนราชดำเนิน ตรงข้ามพระแม่ธรณีบีบมวยผม โดยใช้ยางรถยนต์ทับและราดด้วยน้ำมันเบนซิน บางส่วนใช้ของแข็งทำอนาจารศพนักศึกษาหญิง
       เวลาราว 11 นาฬิกา เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าเคลียร์พื้นที่ และให้นักศึกษานอนคว่ำหน้ากับพื้นสนามฟุตบอล จากนั้นจึงนำตัวผู้ต้องหาขึ้นรถออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อควบคุมตัวไว้ที่โรงเรียนตำรวจนครบาล บางเขน กลุ่มคนที่มุงดูใช้ก้อนหิน อิฐ ไม้ ขว้างปาผู้ที่อยู่บนรถ
เวลาบ่าย กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน นำโดย พล.ต.ท.เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน และกลุ่มแม่บ้าน นำโดย ทมยันตี ได้บุกเข้าทำเนียบรัฐบาล บางคนได้ถือเชือกเข้าไปโดยจะเข้าไปแขวนคอ 3 รัฐมนตรีของรัฐบาล ได้แก่ นายชวน หลีกภัย, นายดำรง ลัทธิพิพัฒน์, นายสุรินทร์ มาศดิตถ์ เนื่องจากกล่าวหาว่าบุคคลทั้ง 3 เป็นคอมมิวนิสต์ แต่ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ได้ลงไปพบและยืนยันว่าบุคคลทั้ง 3 ไม่ได้มีพฤติกรรมดังกล่าว
       ครั้นถึงเย็นวันนั้น คณะทหารที่เรียกตัวเองว่า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ภายใต้การนำของพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ได้ทำการยึดอำนาจการปกครอง มีผลให้ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ต้องพ้นจากตำแหน่ง และนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่
       หลังจากเหตุการณ์นี้ มีการพิจารณาคดีในศาลยืดยาวถึง 3 ปี โดยแกนนำนักศึกษา 19 คนถูกคุมขังตีตรวนโดยตลอด แต่ฝ่ายผู้เข้าล้อมปราบไม่มีผู้ใดได้รับการลงโทษ มีผู้เข้าฟังการพิจารณาคดีจำนวนมาก รวมถึงกลุ่มสิทธิมนุษยชนจากประเทศต่างๆ จนเมื่อ 3 ปีผ่านไป ได้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ทำให้ผู้มีส่วนรับผิดชอบในเหตุการณ์นี้ ไม่ต้องถูกสอบสวนลงโทษแต่อย่างใด


บุคคลที่เสียชีวิตหรือสูญหายในเหตุการณ์
       ฝ่ายนักศึกษาและประชาชน เสียชีวิตอย่างน้อย 41 ราย ในจำนวนนี้ เป็นศพถูกเผา ระบุรายละเอียดแยกชายหญิงไม่ได้ จำนวน 4 ราย (หนึ่งในนั้น คือ จารุพงษ์ ทองสินธุ์ กรรมการ อมธ. และสนนท. ซึ่งเป็นระดับแกนนำผู้ชุมนุมเพียงคนเดียวที่เสียชีวิต ผู้เสียชีวิตที่เหลือเป็นผู้เข้าร่วมชุมนุมเท่านั้น และแกนนำที่รอดชีวิตส่วนใหญ่ถูกจับรวม 18 คน และนำตัวขึ้นศาลทหารข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขนอยู่ 3 ปี จึงได้รับการปล่อยตัวเมื่อมีการรัฐประหารเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจากนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็น พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ส่วนแกนนำที่รอดจากการถูกจับกุมขึ้นศาลทหารได้ส่วนใหญ่ก็หลบหนีเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย


เหตุการณ์ภายหลัง
       ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศ และไม่กลับประเทศไทยจนตลอดชีวิต
       นายสมัคร สุนทรเวช ผู้จัดรายการสถานีวิทยุยานเกราะ ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร (คณะรัฐมนตรีคณะที่ 39 ของไทย) โดยดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ถึง 19 ตุลาคม พ.ศ. 2520
       ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อดีตผู้นำเสรีไทยในสหรัฐอเมริกา หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และนายกรัฐมนตรี 4 สมัย ต้องลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคในปี พ.ศ. 2522 และยุติบทบาททางการเมืองไปทั้งหมด
ดร.สรรพสิริ วิริยศิริ ผู้อำนวยการช่อง 9 อสมท. ถูกปลดออกจากตำแหน่ง หลังแพร่ภาพเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ต่อสาธารณะ
       นายสุรินทร์ มาศดิตถ์ หนึ่งในรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ต้องยุติบทบาททางการเมืองทั้งหมด และภายหลังเหตุการณ์ได้บวชเป็นพระ และเขียนจดหมายขึ้นมาฉบับหนึ่ง ชี้แจงถึงเหตุการณ์ทั้งหมด
       หนังสือพิมพ์ทุกฉบับในประเทศไทย ถูกคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ห้ามตีพิมพ์เผยแพร่เป็นเวลา 3 วัน (6 - 8 ตุลาคม พ.ศ. 2516) หลังจากนั้นตลอดรัฐบาลธานินทร์ มีการสั่งปิดหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุผล "โจมตีรัฐบาล" ในขณะที่หนังสือพิมพ์ที่ไม่โจมตีรัฐบาล เช่น ไทยรัฐ และ บางกอกโพสต์ (Bangkok Post) สามารถดำเนินกิจการอย่างราบรื่น
11 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ปิดหนังสือพิมพ์ ดาวดารายุคสยาม รายวัน
10 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ปิดหนังสือพิมพ์รายวันและรายสัปดาห์ ไม่มีกำหนด รวม 13 ฉบับ (ปิดตาย) 29     ตุลาคม พ.ศ. 2519 ปิดหนังสือพิมพ์ ชาวไทย รายวัน 7 วัน ด้วยเหตุผล ลงข่าวเรื่อง ปลัดชลอ วนภูติ   โกงอายุราชการ
14 มกราคม พ.ศ. 2520 ปิด เสียงปวงชน 3 วัน ด้วยเหตุผล พาดหัวข่าวไม่ตรงกับความจริง
18 มกราคม พ.ศ. 2520 ปิด ปฏิญญา รายปักษ์ ไม่มีกำหนดเพราะตีพิมพ์ข้อความอันมีลักษณะโฆษณาชวนเชื่อให้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์
20 มกราคม พ.ศ. 2520 ปิด แนวหน้าแห่งยุค เดลินิวส์ ด้วยเหตุผล ตีพิมพ์ข้อความที่ทำให้ต่างชาติอาจเข้าใจรัฐบาลไทยผิด
26 มกราคม พ.ศ. 2520 ปิด เดลิเมล์รายวัน ด้วยเหตุผล ตีพิมพ์โดยไม่ได้รับอนุญาตเรื่องจากใบอนุญาตขาดการต่ออายุไปแล้ว
27 มกราคม พ.ศ. 2520 ปิด ดาวดารายุคสยาม ด้วยเหตุผล ตีพิมพ์ข้อความเป็นเท็จ
15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 ปิด บ้านเมือง 7 วัน ด้วยเหตุผล ตีพิมพ์ข้อความที่มีลักษณะกล่าวร้ายเสียดสีรัฐบาลไทย
18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 ปิด เด่นสยามรายวัน ไม่มีกำหนด ด้วยเหตุผล วิจารณ์การปิดเดลินิวส์
31 มีนาคม พ.ศ. 2520 ปิด ชาวไทย ไม่มีกำหนด ด้วยเหตุผล เขียนข้อความบิดเบือนความเป็นจริง
10 เมษายน พ.ศ. 2520 ปิด เดลิไทม์ ไม่มีกำหนด
12 เมษายน พ.ศ. 2520 ปิด บางกอกเดลิไทม์ ไม่มีกำหนด
15 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 ปิด บูรพาไทม์ ยุคชาวสยาม ไม่มีกำหนด ด้วยเหตุผล กล่าวร้ายรัฐบาล กรณีใช้ ม.21 ประหารชีวิต พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ
25 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 ยึดหนังสือ "เลือดล้างเลือด"
2 มิถุนายน พ.ศ. 2520 ปิด สยามรัฐ 7 วัน
2 กรกฎาคม พ.ศ. 2520 ปิด เสียงปวงชน ไม่มีกำหนด
2 กรกฎาคม พ.ศ. 2520 ปิด ยุคใหม่รายวัน ไม่มีกำหนด ที่ราชบุรี
8 สิงหาคม พ.ศ. 2520 ปิด หลังเมืองสมัย ไทยเดลี่ 7 วัน จากการลงบทความ "รัฐบาลแบบไหน"
13 สิงหาคม พ.ศ. 2520 เสียงปวงชน ถูกสั่งปิด จากบทความเรื่อง 'อธิปไตยของชาติ'
มีการขอพระราชทานอภัยโทษ ให้แก่ ผู้อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ซึ่งครอบคลุมถึงผู้ก่อเหตุจลาจล และสังหารนักศึกษา ตำรวจ กลุ่มกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน และกลุ่มนวพล ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ ได้รับกระเช้าเยี่ยมพระราชทาน
แกนนำนักศึกษาบางคนที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ถูกจับกุมคุมขังเป็นเวลา 3 ปีโดยไม่ได้รับการพิจารณาคดี
พ.ศ. 2542 จอมพลถนอม กิตติขจร ถูกเสนอชื่อจากกองทัพ ให้เป็น นายทหารพิเศษรักษาพระองค์
พ.ศ. 2544 อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ก่อตั้งสำเร็จบนที่ดินเช่าของ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บริเวณใกล้เคียงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เลขที่ 14/16 ถนนราชดำเนิน ใช้เวลา 27 ปีนับตั้งแต่มีการเสนอให้สร้างใน ปี พ.ศ. 2517

ที่มา; http://webboard.mthai.com/5/2008-02-22/370609.html

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516

       เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 หรือ วันมหาวิปโยค เป็นเหตุการณ์ที่นักศึกษาและประชาชนในประเทศไทย มากกว่า 5 แสนคน ได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลเผด็จการ จอมพลถนอม กิตติขจร






สาเหตุเหตุการณ์เริ่มมาจากการที่จอมพลถนอม กิตติขจร ทำการรัฐประหารตัวเองในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 โดยนักศึกษาและประชาชนมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจตนเองจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งในขณะนั้นจอมพลถนอมจะต้องเกษียณอายุราชการเนื่องจากอายุครบ 60 ปี อีกทั้งจอมพลประภาส จารุเสถียร บุคคลสำคัญในรัฐบาล ก็มิได้รับการยอมรับเหมือนจอมพลถนอม แต่กลับต่ออายุราชการให้ตนเอง ประกอบกับข่าวคราวเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นในวงราชการต่าง ๆ สร้างความไม่พอใจอย่างมากแก่ประชาชน
       29 เมษายน พ.ศ. 2516 เฮลิคอปเตอร์ทหารหมายเลข ทบ.6102 เกิดอุบัติเหตุตกที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม มีดาราหญิงชื่อดังในขณะนั้นคือ เมตตา รุ่งรัตน์ โดยสารไปด้วย มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 6 คน ในซากเฮลิคอปเตอร์นั้นพบซากสัตว์เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นซากกระทิง ที่ทางผู้ที่ใช้ล่ามาจากทุ่งใหญ่นเรศวรซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวน สร้างกระแสไม่พอใจในหมู่นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นปลายเดือนพฤษภาคมและต้นเดือนมิถุนายน นิสิตนักศึกษากลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติฯ 4 มหาวิทยาลัยได้ออกหนังสือชื่อ บันทึกลับจากทุ่งใหญ่ เปิดโปงเกี่ยวกับกรณีนี้ ผลการตอบรับออกมาดีมาก จนขยายผลโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงกลุ่มหนึ่งออกหนังสือชื่อ มหาวิทยาลัยที่ไม่มีคำตอบ เป็นผลให้ ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ อธิการบดีสั่งลบชื่อนักศึกษาแกนนำ 9 คนออก ซึ่งทำให้เกิดการประท้วงจนนำไปสู่การชุมนุมในวันที่ 21 และ 22 มิถุนายน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ท้ายสุด ดร.ศักดิ์ ต้องยอมคืนสถานะนักศึกษาทั้ง 9 คน และดร.ศักดิ์ ก็ได้ลาออกไปเพื่อแสดงความรับผิดชอบ




เริ่มต้นเหตุการณ์
       6 ตุลาคม มีบุคคลร่วมลงชื่อ 100 คน เพื่อเรียกร้องขอรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบด้วยบุคคลหลากหลายอาชีพ หลายวงการ เช่น นักวิชาการ นักการเมือง นักคิด นักเขียน นิสิต นักศึกษา เป็นต้น จากนั้น นักศึกษา 13 คน นำโดย นายธีรยุทธ บุญมี ได้เดินแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญตามสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพ ฯ โดยอ้างถึงใจความในพระราชหัตถ์เลขาของรัชกาลที่ 7 ที่ส่งถึงรัฐบาลถึงสาเหตุที่ทรงสละราชสมบัติ แต่ทางตำรวจนครบาลจับได้เพียง 11 คน และจับขังนักศึกษาทั้ง 11 คนนี้ไว้ที่โรงเรียนตำรวจนครบาลบางเขนและนำไปขังต่อที่เรือนจำกลางบางเขน พร้อมตั้งข้อหาร้ายแรงว่า เป็นการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ โดยห้ามเยี่ยม ห้ามประกันเด็ดขาด ซึ่งบุคคลทั้ง 13 นี้ ได้ถูกเรียกขานว่าเป็น 13 ขบถรัฐธรรมนูญ จากนั้นจึงได้มีการประกาศจับ นายก้องเกียรติ คงคา นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และตามจับ นายไขแสง สุกใส อดีต ส.ส.จ.นครพนม ขึ้นอีก รวมทั้งหมดเป็น 13 คน โดยกล่าวหาว่า นายไขแสงเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการแจกใบปลิวครั้งนี้ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้สร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นครั้งใหญ่แก่มวลนักศึกษาและประชาชนอย่างมาก จนนำไปสู่การชุมนุมใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นช่วงของการสอบกลางภาคด้วย แต่ทางองค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ได้ประกาศและติดป้ายขนาดใหญ่ไว้ว่า งดสอบ พร้อมทั้งยื่นคำขาดให้ทางรัฐบาลปล่อยตัวทั้งหมดนี้ก่อนเที่ยงวันที่ 13 ตุลาคม แต่เมื่อถึงเวลาแล้วรัฐบาลก็หาได้ยอมกระทำไม่


       การเดินขบวนครั้งใหญ่จึงเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ออกไปตามถนนราชดำเนิน สู่ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยมีแกนนำเป็นนักศึกษาและมีประชาชนเข้าร่วมด้วยจำนวนมาก (คาดการกันว่ามีราว 500,000 คน) แกนนำนักศึกษาได้เข้าพบเจรจากับรัฐบาลและบางส่วนได้เข้าเฝ้า ฯ จนได้ข้อยุติเพียงพอที่จะสลายตัว แต่ทว่าด้วยอุปสรรคทางการสื่อสารและมวลชนที่มีอยู่เป็นจำนวนมากไม่อาจควบคุมดูแลได้หมด ก็นำไปสู่การนองเลือดในเช้าตรู่วันที่ 14 ตุลาคม เมื่อเกิดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนที่บริเวณหน้าพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมจะสลายตัวกลับทางนั้น แต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้ผ่าน จึงเกิดการปะทะกันกลายเป็นการจลาจล ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และถนนราชดำเนิน พบเฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่งบินวนอยู่เหนือเหตุการณ์และมีการยิงปืนลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ลำนั้นเพื่อสลายการชุมนุม โดยผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ยืนยันว่าบุคคลที่ยิงปืนลงมานั้นคือ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร
       หลังจากนั้น วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยประกาศว่า จอมพลถนอม ได้ลาออกจากตำแหน่งแล้ว และมีพระบรมราชโองการโปรดแต่งตั้ง นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีพระราชดำรัสแถลงออกโทรทัศน์ด้วยพระองค์เอง แต่ทว่าเหตุการณ์ยังไม่สงบโดยกลุ่มทหารได้เปิดฉากยิงเข้าใส่นักศึกษาและประชาชนอีกครั้งหลังจากพระราชดำรัสทางโทรทัศน์เพียงหนึ่งชั่วโมงเมื่อนักศึกษาพยายามพุ่งรถบัสที่ไม่มีคนขับเข้าใส่สถานีตำรวจ ที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยเนื่องจากผู้ชุมนุมนับพันยังไม่วางใจในสถานการณ์ได้มีการประกาศท้าทายกฎอัยการศึกในเวลา 22.00 น. และ ประกาศว่าจะอยู่ที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยทั้งคืนเพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้ถูกหลอกอีกครั้ง ซึ่งในตอนหัวค่ำวันที่ 15 ได้มีประกาศว่า จอมพลถนอม จอมพลประภาส และ พ.อ.ณรงค์ ได้เดินทางออกนอกประเทศแล้ว เหตุการณ์จึงค่อยสงบลง และวันที่ 16 ตุลาคม ผู้ชุมนุมและประชาชนต่างพากันช่วยทำความสะอาดพื้นถนนและสถานที่ต่าง ๆ ที่ได้รับความเสียหาย




หลังเหตุการณ์
       ภายหลังเหตุการณ์นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ได้เสด็จเยี่ยมผู้ได้รับบาดเจ็บตามโรงพยาบาลต่าง ๆ และสำหรับผู้เสียชีวิตทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชทานเพลิงศพผู้เสียชีวิตที่ทิศเหนือท้องสนามหลวงด้วย และอัฐินำไปลอยอังคารด้วยเครื่องบินของกองทัพอากาศที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา อ่าวไทย
       คณะรัฐมนตรี มีมติให้ก่อสร้าง อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ขึ้นที่ สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง โดยกว่าจะผ่านกระบวนต่าง ๆ และสร้างจนแล้วเสร็จนั้น ต้องใช้เวลาถึง 28 ปี
       หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประชาชนต่าง ๆ จากหลายภาคส่วน โดยไม่มีนักการเมืองร่วมอยู่ด้วยเลย และใช้สนามม้านางเลิ้งเป็นสถานที่ร่าง โดยเรียกกันว่า สภาสนามม้า จนนำไปสู่การเลือกตั้งในต้นปี พ.ศ. 2518 ซึ่งในช่วงระยะเวลานั้น มีคำเรียกว่าเป็นยุค ฟ้าสีทองผ่องอำไพ แต่ทว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ในประเทศยังไม่สงบ มีการเรียกร้องและเดินขบวนของกลุ่มชนชั้นต่าง ๆ ในสังคม ประกอบกับสถานการณ์ความมั่นคงในประเทศรอบด้าน แม้รัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่มีเสถียรภาพเพียงพอที่จะแก้ไขสถานการณ์ได้ จนนำไปสู่เหตุนองเลือดอีกครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อปี พ.ศ. 2519 คือ เหตุการณ์ 6 ตุลา
       นอกจากนี้แล้วเหตุการณ์ 14 ตุลา นับเป็นการลุกฮือของประชาชน (People's uprising) ครั้งแรกที่ประสบความสำเร็จในยุคศตวรรษที่ 20 และยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับภาคประชาชนในประเทศอื่น ๆ ทำตามในเวลาต่อมา เช่น ที่ เกาหลีใต้ในเหตุการณ์จลาจลที่เมืองกวางจู เป็นต้น
พ.ศ. 2546 สภาผู้แทนราษฎรมีมติเอกฉันท์กำหนดให้วันที่ 14 ตุลาคมของทุกปีเป็น "วันประชาธิปไตย" เป็นวันสำคัญของชาติ ในโอกาสครบรอบเหตุการณ์ 30 ปี

ที่มา; http://www.baanmaha.com/community/thread27080.html

ประวัติการปฏิวัติ รัฐประหารในประเทศไทย

        
       รูปแบบของการจลาจลกบฏ ปฏิวัติหรือรัฐประหารความหมายของคำเหล่านี้เหมือนกันในแง่ที่ว่าเป็นการใช้กำลังอาวุธยึดอำนาจทางการเมืองแต่มีความหมายต่างกันในด้านผลของการใช้กำลังความรุนแรงนั้น หากทำการไม่สำเร็จจะถูกเรียกว่า กบฏ จลาจล (rebellion) ถ้าการยึดอำนาจนั้นสัมฤทธิผล และเปลี่ยนเพียงรัฐบาลเรียกว่า รัฐประหาร (coupd etat) แต่ถ้ารัฐบาลใหม่ได้ทำการเปลี่ยนแปลงมูลฐานระบอบการปกครอง ก็นับว่าเป็น  การปฏิวัติครั้งสำคัญๆ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ได้แก่
- การปฏิวัติใหญ่ของฝรั่งเศส ค.ศ.1789
- การปฏิวัติในรัสเซีย ค.ศ.1917
- การปฏิวัติของจีนในปี ค.ศ.1949
- การปฏิวัติในคิวบา ค.ศ.1952
       ในการเมืองไทยคำว่า ปฏิวัติ กับ รัฐประหาร มักใช้ปะปนกัน แล้วแต่ผู้ยึดอำนาจได้นั้นจะเรียกตัวเองว่าอะไร เท่าที่ผ่านมามักนิยมใช้คำว่า ปฏิวัติ เพราะเป็นคำที่ดูขึงขังน่าเกรงขามเพื่อความสะดวกในการธำรงไว้ซึ่งอำนาจที่ได้มานั้น ทั้งที่โดยเนื้อแท้แล้ว นับแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นการปฏิวัติที่แท้จริงครั้งเดียวที่เกิดขึ้นในประเทศไทย การยึดอำนาจโดยวิธีการใช้กำลังครั้งต่อๆ มาในทางรัฐศาสตร์ถือว่าเป็นเพียงการรัฐประหารเท่านั้น เพราะผู้ยึดอำนาจได้นั้นไม่ได้ทำการเปลี่ยนแปลงหลักการมูลฐานของระบอบการปกครองเลย ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมทางการเมืองและมิให้สับสนกับการใช้ชื่อเรียกตัวเองของคณะที่ทำการยึดอำนาจทั้งหลาย อาจสรุปความหมายแคบๆ โดยเฉพาะเจาะจงสำหรับคำว่าปฏิวัติ และรัฐประหารในบรรยากาศการเมืองไทยเป็นดังนี้ คือ         
       "ปฏิวัติ" หมายถึง การยึดอำนาจโดยวิธีการที่ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ อาจมีหรือไม่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และรัฐบาลใหม่ได้ทำการเปลี่ยนแปลงมูลฐานระบอบการปกครอง เช่นเปลี่ยนแปลง การปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย หรือ คอมมิวนิสต์ ฯลฯ 
       "รัฐประหาร" หมายถึง การยึดอำนาจโดยวิธีการที่ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ แต่ยังคงใช้รัฐธรรมนูญฉบับเก่าต่อไป หรือประกาศใช้รัฐธรรมฉบับใหม่ เพื่อให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในระยะเวลาไม่นานนัก
       ในประเทศไทยถือได้ว่ามีการปฏิวัติเกิดขึ้นครั้งแรกและครั้งเดียวคือ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2547 โดยคณะราษฎร จากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย และมีการกบฏเกิดขึ้น 12 ครั้ง และรัฐประหาร 9 ครั้ง ดังนี้         
กบฏ 12 ครั้ง
1.กบฏ ร.ศ.130                  
2.กบฏบวรเดช 11 ต.ค. 2476
3.กบฏนายสิบ 3 ส.ค.2478
4.กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือกบฏ 18 ศพ 29 ม.ค.2482        
5.กบฏเสนาธิการ 1 ต.ค.2491         
6.กบฏแบ่งแยกดินแดน พ.ย. 2491         
7.กบฏวังหลวง 26 ก.พ.2492         
8.กบฏแมนฮัตตัน 29 มิ.ย. 2494        
9.กบฏสันติภาพ 8 พ.ย. 2497     
10.กบฏ 26 มี.ค. 2520         
11.กบฏยังเติร์ก 1-3 เม.ย. 2524         
12.กบฏทหารนอกราชการ 9 ก.ย. 2528         

รัฐประหาร 9 ครั้ง
1.พ.อ.พระยาพหลฯ ทำการรัฐประหาร 20 มิ.ย. 2476         
2.พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ และคณะนายทหารบก
   ทำการรัฐประหาร เมื่อ 8 พ.ย. 2490         
3.จอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำการรัฐประหาร 29 พ.ย.2494         
4.จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหาร 16 ก.ย. 2500
5.จอมพลถนอม กิตติขจร ทำรัฐประหาร 20 ต.ค.2501         
6.จอมพลถนอม กิตติขจร ทำการรัฐประหาร 17 พ.ย. 2514        
7.พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ทำการรัฐประหาร 20 ตุลาคม 2520         
8.พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ทำการรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534
9.คณะผู้บัญชาการเหล่าทัพ และ ผบ.ตร. นำโดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน
   ทำการรัฐประหาร เมื่อ 19 ก.ย. 2549

ที่มา; http://www.thaigoodview.com/node/16621

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

     

       รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดว่าด้วยการจัดระเบียบการปกครองประเทศสำหรับประเทศไทย นับจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๕๗๕ เป็นต้นมา ได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขและประกาศใช้รัฐธรรมนูญและธรรมนูญการปกครองอีกหลายฉบับ เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์บ้านเมืองที่ผันแปรเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัยบรรดารัฐธรรมนูญและธรรมนูญการปกครองที่มีมาทุกฉบับ มีสาระสำคัญเหมือนกัน ที่ยึดมั่นในหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภาทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี และทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล จะมีเนื้อหาแตกต่างกันก็แต่เฉพาะในเรื่องสถานภาพของรัฐสภาและสัมพันธภาพระหว่างอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจบริหาร เพื่อให้เหมาะสมกับภาวะการณ์ของบ้านเมืองในขณะนั้น ๆ มีดังนี้
1.พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475       
2.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475                    
3.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489
4.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490
5.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492
6.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม
   พุทธศักราช 2495
7.ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502
8.รัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511
9.ธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515
10.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517
11.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519
12.ธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520        
13.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521
14.ธรรมนูยการปกครองแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534
15.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2538 
16.รัฐธรรมนูยแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 
17.เปรียบเทียบบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 กับ
     พุทธศักราช 2540                                             
18.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

ที่มา; http://www.thaigoodview.com/node/16621

พระมหากษัตริย์สมัยสุโขทัย

ราชวงศ์พระร่วง 120 ปี  

 พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ 1792 - 1822 30 ปี
 พ่อขุนบานเมือง 1822 - 1822 1 ปี
 พ่อขุนรามคำแหงมหาราช 1822 - 1841 19 ปี
 พระยาเลอไทย 1841 - 1866 25 ปี
 พระยางั่วนำถม 1866 - 1890 24 ปี
 พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) 1890 - 1911 21 ปี
 พระมหาธรรมราชาที่ 2 (ลือไท) 1911 - 1942 31 ปี
 พระมหาธรรมราชาที่ 3 (ไสลือไท) 1943 - 1962 19 ปี
 พระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล) 1962 - 1981 19 ปี

ที่มา; http://www.inform.collection9.net/index.php?doc=doc_detail&id=0194

พระมหากษัตริย์สมัยอยุธยา

 ราชวงศ์อู่ทอง ครั้งที่ 1, 20 ปี  
 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) 1893 - 1912 20 ปี
 สมเด็จพระราเมศวร 1912 - 1913 ครั้งที่ 1 ไม่ถึง 1 ปี
  
ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ครั้งที่ 1, 18 ปี  
 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (พะงั่ว) 1913 - 1931 18 ปี
 พระเจ้าทองลัน (เจ้าทองจันทร์) 1931 - 1931 7 วัน
  
ราชวงศ์อู่ทอง ครั้งที่ 2, 21 ปี รวม 41 ปี  
 สมเด็จพระราเมศวร 1931 - 1938 ครั้งที่ 2 7 ปี
 สมเด็จพระรามราชาธิราช 1938 - 1952 14 ปี
  
ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ครั้งที่ 2, 160 ปี รวม 178 ปี  
 สมเด็จพระอินทราธิราช (เจ้านครอินทร์) 1952 - 1967 15 ปี
 สมเด็จพระบรมราชาธิราช ที่ 2 (เจ้าสามพระยา) 1967 - 1991 24 ปี
 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ 1991 - 2031 40 ปี
 สมเด็จพระบรมราชาธิราช ที่ 3 2031 - 2034 3 ปี
 สมเด็จพระรามาธิบดี ที่ 2 (พระเชษฐาธิราช) 2034 - 2072 38 ปี
 สมเด็จพระบรมราชาธิราช ที่ 4 (หน่อพุทธางกูร) 2072 - 2076 4 ปี
 พระรัษฎาธิราช 2076 - 2076 4 เดือน
 สมเด็จพระไชยราชาธิราช 2076 - 2089 13 ปี
 พระยอดฟ้า (พระแก้วฟ้า) 2089 - 2091 2 ปี
 ขุนวรวงศาธิราช 2091 - 2091 42 วัน
 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พระเจ้าช้างเผือก) 2091 - 2111 20 ปี
 สมเด็จพระมหินทราธิราช 2111 - 2112 1 ปี เสียกรุงครั้งที่ 1
  
ราชวงศ์สุโขทัย 61 ปี  
 สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช (สมเด็จพระสรรเพชญ์ ที่ 1) 2112 - 2133 21 ปี
 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (สมเด็จพระสรรเพชญ์ ที่ 2) 2133 - 2148 15 ปี
 สมเด็จพระเอกาทศรถ (สมเด็จพระสรรเพชญ์ ที่ 3) 2148 - 2153 5 ปี
 พระศรีเสาวภาคย์ (สมเด็จพระสรรเพชญ์ ที่ 4) 2153 - 2154 ไม่ครบปี
 สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม 2154 - 2171 17 ปี
 สมเด็จพระเชษฐาธิราช 2171 - 2172 1 ปี
 พระอาทิตยวงศ์ 2172 - 2172 36 วัน
  
ราชวงศ์ปราสาททอง 58 ปี  
 สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (สมเด็จพระสรรเพชญ์ ที่ 5) 2172 - 2199 27 ปี
 สมเด็จเจ้าฟ้าไชย (สมเด็จพระสรรเพชญ์ ที่ 6) 2199 - 2199 2 วัน
 สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา (สมเด็จพระสรรเพชญ์ ที่ 7) 2199 - 2199 3 เดือน
 สมเด็จพระนารายณ์มหาราช 2199 - 2231 32 ปี
  
ราชวงศ์บ้านพลูหลวง 79 ปี  
 สมเด็จพระเพทราชา 2231 - 2246 15 ปี
 สมเด็จพระสรรเพชญ์ ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) 2246 - 2251 5 ปี
 สมเด็จพระสรรเพชญ์ ที่ 9 (สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ) 2251 - 2275 24 ปี
 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ 2275 - 2301 26 ปี
 สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร (ขุนหลวงหาวัด) 2301 - 2301 2 เดือน
 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์, ขุนหลวงขี้เรื้อน) 2301 - 2310 9 ปี เสียกรุงครั้งที่ 2

ที่มา; http://www.inform.collection9.net/index.php?doc=doc_detail&id=0195

รายชื่อพระมหากษัตริย์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

 
 ราชวงศ์จักรี ปี พ.ศ.2325 - ปัจจุบัน 

 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช 2325 - 2352 27 ปี
 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย 2352 - 2367 15 ปี
 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระมหาเจษฎาราชเจ้า) 2367 - 2393 26 ปี
 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 2393 - 2411 18 ปี
 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระปิยมหาราช) 2411 - 2453 42 ปี
 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระมหาธีรราชเจ้า) 2453 - 2468 15 ปี
 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 2468 - 2477 9 ปี
 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (พระอัฐมรามาธิบดินทร) 2477 - 2489 12 ปี
 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช(สมเด็จพระภัทรมหาราช) 2489 - ปัจจุบัน

ที่มา; http://www.inform.collection9.net/index.php?doc=doc_detail&id=0197

รายชื่อนายกรัฐมนตรีของไทย

1  พระยามโนปกรณ์นิติธาดา(ก้อน หุตะสิงห์) 
 28 มิถุนายน 2475 - 9 ธันวาคม 2475
 10 ธันวาคม 2475 - 31 มีนาคม 2476
 1 เมษายน 2476 - 20 มิถุนายน 2476
2  พลเอกพระยา พหลพลพยุหเสนา(พจน์ พหลโยธิน)
 24 มิถุนายน 2476 - 14 ธันวาคม 2476
 16 ธันวาคม 2476 -  21 กันยายน 2477
 22 กันยายน 2477 - 8 สิงหาคม 2480
 9 สิงหาคม 2480 - 20 ธันวาคม 2480
 21 ธันวาคม 2480 - 16 ธันวาคม 2481
 3  จอมพล ป.พิบูลสงคราม(แปลก ขีตตะสังคะ)
 16 ธันวาคม 2481 -  6 ธันวาคม 2485
 7 มีนาคม 2485 -  24 กรกฎาคม 2487
 8 เมษายน 2491 - 24 มิถุนายน 2492
 25 มิถุนายน 2492 - 28 พฤศจิกายน 2494
 29 พฤศจิกายน 2494 - 6 ธันวาคม 2494
 6 ธันวาคม 2494 - 23 มีนาคม 2495
 24 มีนาคม 2495 - 26 กุมภาพันธ์ 2500
 21 มีนาคม 2500 - 16 กันยายน 2500
 4  พันตรี ควง  อภัยวงศ์(หลวงโกวิท อภัยวงศ์)
 1 สิงหาคม 2487 - 17 สิงหาคม 2488
 31 มกราคม 2489 - 18 มีนาคม 2489
 10 พฤศจิกายน 2490 - 6 กุมภาพันธ์ 2491
 21 กุมภาพันธ์ 2491 - 8 เมษายน 2491
 5.  นาย ทวี บุญยเกตุ
31 สิงหาคม 2488 - 17 กันยายน 2488
6.  หม่อมราชวงศ์ เสนีย์  ปราโมช
17 กันยายน 2488 - 31 มกราคม 2489
15 กุมภาพันธ์ 2518 - 13 มีนาคม 2518
20 เมษายน 2519 - 23 กันยายน 2519
25 กันยายน 2519 - 6 ตุลาคม 2519
 7.  นาย ปรีดี พนมยงค์(หลวงประดิษฐ์มนูญธรรม)
24 มีนาคม 2489 - 1 มิถุนายน 2489
11 มิถุนายน 2489 - 23 สิงหาคม 2489
 8.  พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์(หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์)
23 สิงหาคม 2489 - 30 พฤษภาคม 2490
30 พฤษภาคม 2490 - 8 พฤศจิกายน 2490
 9.  นาย พจน์ สารสิน
21 กันยายน 2500 - 26 ธันวาคม 2500
10.  จอมพล ถนอม กิตติขจร
1 มกราคม 2501 - 20 ตุลาคม 2501
9 ธันวาคม 2506 - 7 มีนาคม 2512
7 มีนาคม 2512 - 16 พฤศจิกายน 2514
18 พศจิกายน 2514 - 17 ธันวาคม 2515(โดยคณะปฏิวัติ)
18 ธันวาคม 2515 - 14 ตุลาคม 2516
 11.  จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
 9 กุมภาพันธ์ 2502 - 8 ธันวาคม 2506
 12.  นาย สัญญา ธรรมศักดิ์
 14 ตุลาคม 2516 - 22 พฤษภาคม 2517
27 พฤษภาคม 2517 - 14 กุมภาพันธ์ 2518
 13.  พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช
14 มีนาคม 2518 - 12 มกราคม 2519
14.  นาย ธานินทร์ กรัยวิเชียร
22 ตุลาคม 2519 - 19 ตุลาคม
15.  พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
11 พฤศจิกายน 2520 - 21 ธันวาคม 2521
12 พฤษภาคม 2522 - 3 มีนาคม 2523
16.  พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
3 มีนาคม 2523 - 30 เมษายน 2526
30 เมษายน 2526 - 5 สิงหาคม 2529
5 สิงหาคม 2529 - 4 สิงหาคม 2531
17.  พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ
4 สิงหาคม 2531 - 9 ธันวาคม 2533
9 ธันวาคม 2533 - 23 กุมภาพันธ์ 2534
18.นาย อานันท์ ปันยารชุน
2 มีนาคม 2534 - 7 เมษายน 2535
10 มิถุนายน 2535 - 23 กันยายน 2535
19.  พลเอก สุจินดา คราประยูร
7 เมษายน 2535 - 10 มิถุนายน 2535
20.  นาย ชวน หลีกภัย
23 กันยายน 2535 - 13 กรกฎาคม 2538
9 พฤศจิกายน 2540 - 9 พฤศจิกายน 2543
21.  นาย บรรหาร ศิลปอาชา
13 กรกฎาคม 2538 - 25 พฤศจิกายน 2539
22.  พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ
25 พฤศจิกายน 2539 - 9 พฤศจิกายน 2540
23.  พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
17 กุมภาพันธ์ 2544 - 11 มีนาคม 2548
11 มีนาคม 2548 - 19 กันยายน 2549
24.  พลเอก สุรยุทธ จุลานนท์
1 ตุลาคม 2549 - 6 กุมภาพันธ์ 2551
25.  นาย สมัคร สุนทรเวช
29 มกราคม 2551 - 8 กันยายน 2551
26.  นาย สมชาย วงศ์สวัสดิ์
18 กันยายน 2551 - 2 ธันวาคม 2551
27.  นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
17 ธันวาคม 2551 - 2554
28.(ว่าที่นายกคนใหม่)นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ที่มา; http://www.wj-club.com/2010-11-16-09-28-17/187-2010-10-04-04-16-44.html

วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การปกครองสมัยรัตนโกสินทร์

มูลเหตุการปรับปรุงการปกครอง
          นายวรเดช จันทรศร ได้สรุปถึงปัญหาที่สยามประเทศเผชิญอยู่ในขณะนั้นที่เป็นเงื่อนไขความจำเป็นที่ก่อให้เกิดการปฏิรูปอย่างขนานใหญ่รวม 7 ประการ ได้แก่
          1. ปัญหาความล้าหลังของระบบการบริหารราชการแผ่นดินที่มีรูปแบบของการจัดที่ทำให้เอกภาพของชาติตั้งอยู่บนรากฐานที่ไม่มั่นคงระบบบริหารล้าสมัยขาดประสิทธิภาพมีการทำงานที่ซ้ำซ้อนและสับสนการควบคุมและการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางไม่สามารถทำได้ทำให้ความมั่นคงของประเทศอยู่ในอันตรายและยังเปิดโอกาสให้ค่านิยมของตะวันตกสามารถเข้าแทรกแซงได้โดยง่าย
          2. ระบบบริหารการจัดเก็บภาษีอากรและการคลังของสยามประเทศ มิได้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาปรับปรุงบ้านเมืองและเสริมสร้างพระราชอำนาจให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์เนื่องจากขาดหน่วยงานกลางที่จะควบคุมดูแลการจัดเก็บรักษาและใช้เงินรายได้แผ่นดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ พระมหากษัตริย์ ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของเจ้าพนักงานขุนนางผู้ดูแลการจัดเก็บภาษีรัฐ และเจ้าภาษีนายอากร ให้อยู่ในระเบียบกฎเกณฑ์ได้
          3. การควบคุมกำลังคนในระบบไพร่ก่อให้เกิดปัญหาการใช้ไพร่เป็นฐานอำนาจทางการเมือง เพื่อล้มล้างพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ เกิดความไม่มั่นคงต่อพระราชบัลลังก์ เกิดการขาดเอกภาพในชาติทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเกิดความล้าหลังไพร่ไม่สามารถสะสมทางเศรษฐกิจทั้งนี้ เพราะผลเนื่องมาจากการเกณฑ์แรงงาน นอกจากนี้การฉ้อราษฎร์บังหลวงของมูลนาย ยังเป็นการทำลายผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์ และเกิดความเสียหายต่อสยามโดยรวม  
          4. ปัญหาการมีทาสก่อให้เกิดการกดขี่และความไม่เป็นธรรมในสังคมเป็นเครื่องชี้ความป่าเถื่อนล้าหลังของบ้านเมืองที่มีอยู่ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศต่างชาติอาจใช้เป็นข้ออ้างในการเข้ามาแทรกแซงของลัทธิล่าอาณานิคมที่จะสร้างความศิวิไลซ์และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในชาติด้อยพัฒนาในแง่เศรษฐกิจระบบทาสของสยามเป็นระบบใช้แรงงานที่เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเป็นอุปสรรคต่อการเป็นการพัฒนาคุณภาพกำลังคนในชาติ   
          5. ระบบทหารของสยามประเทศเป็นระบบที่ไม่สามารถป้องกันผลประโยชน์ และเกียรติของชาติไว้ได้เป็นระบบที่ยึดถือแรงงานของไพร่เป็นหลักในการป้องกันพระราชอาณาจักรทำให้การควบคุมประชาชนในประเทศถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ ทำให้สถานภาพของพระมหากษัตริย์และเอกภาพของชาติตั้งอยู่บนฐานที่ไม่มั่นคง ทำให้กองทัพขาดเอกภาพขาดระเบียบวินัยอยู่ในสภาพที่ไม่พร้อมรบไม่อำนวยให้เกิดการฝึกหัดที่ดีและการเรียกระดมเข้าประจำกองทัพล่าช้าทำให้ไม่ทราบจำนวนไพร่พลที่แน่นอน      
          6. ปัญหาข้อบกพร่องของระบบกฎหมาย และการศาลที่ล้าสมัยแตกต่างจากอารยะประเทศไม่เป็นหลักประกันความยุติธรรมให้กับคนในชาติ และชาวต่างชาติบทลงโทษรุนแรงทารุณการพิจารณา ล่าช้าคดีคั่งค้างไม่สามารถรองรับความเจริญทางการค้าพาณิชย์และสภาพสังคม ได้มีหน่วยงานในการพิจารณาคดีมากเกินไป เกิดความล่าช้าสังกัดของศาลแยกไปอยู่หลายกรมเกิดความล่าช้าและไม่ยุติธรรมระบบการรับสินบนฝังรากลึกมาแต่ในอดีตปัญหาข้อบกพร่องต่างๆ ทั้งหมดนี้เป็นเหตุให้สยามถูกกดดันทำให้เกิดความยากลำบากในการปกครองและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ
          7. ปัญหาด้านการศึกษาสยามประเทศก่อนปฏิรูปยังไม่มีระบบการศึกษาสมัยใหม่ไม่มีหน่วยงานที่จะรับผิดชอบในการจัดการศึกษาโดยตรงการศึกษาจำกัดอยู่เฉพาะราชวงศ์ขุนนางชั้นสูงเกิดความไม่ยุติธรรม ทำให้โอกาสการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ลางเลือน ประเทศขาดคนที่มีคุณภาพเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศขาดพลังที่จะช่วยรักษาบ้านเมืองให้อยู่รอดปลอดภัยอีกทั้งยังทำให้ต่างชาติดูถูกสยามประเทศว่ามีความป่าเถื่อน ล้าหลัง   
การปรับปรุงการบริหารราชการส่วนกลาง
          การปรับปรุงการบริหารราชการในส่วนกลางได้จัดแบ่งหน่วยงานออกเป็นกระทรวงต่าง ๆ ตามลักษณะเฉพาะ เพื่อให้การบริหารงานดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพโดยปรับปรุงการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลางซึ่งมีมาแต่เดิมนับตั้งแต่การปฏิรูปการปกครองในสมัยกรุงศรีอยุธยา คือ มหาดไทย กลาโหม เมือง วัง คลัง นาอันได้ใช้เป็นระเบียบปกครองประเทศไทยตลอดมาจนถึงรัชกาลที่ 5 เหตุแห่งการปฏิรูปการปกครอง และระเบียบราชการส่วนกลางในรัชการนี้ ก็เนื่องจากองค์การแห่งการบริการส่วนกลาง ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 ส่วน ไม่เพียงพอที่จะปฏิบัติราชการให้ได้ผลดีและความเจริญของประเทศและจำนวนพลเมืองเพิ่มขึ้นข้าราชการเพิ่มขึ้น แต่องค์การแห่งราชการบริหารส่วนกลางยังคงมีอยู่เช่นเดิมไม่เพียงพอต่อความต้องการด้วยเหตุดังกล่าว จึงได้ทรงตั้งกระทรวงเพิ่มขึ้นโดยได้ทรงมีพระบรมราชโองการประกาศตั้งกระทรวงแบบใหม่ และผู้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงต่าง ๆ ขึ้นโดยได้จัดสรรให้อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละกระทรวงให้เป็นสัดส่วน ดังนี้ คือ   
          1. กระทรวงมหาดไทย บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือและเมืองลาวประเทศราช (ในช่วงแรก) แต่ต่อมาได้มีการโอนการบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งหมดที่มีให้อยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย
          2. กระทรวงกลาโหม บังคับบัญชาหัวเมืองปักษ์ใต้ ฝ่ายตะวันตกตะวันออก และเมืองมลายูประเทศราช เมื่อมีการโอนการบังคับบัญชาหัวเมืองไปให้กระทรวงมหาดไทยแล้วกระทรวงกลาโหมจึงบังคับบัญชาฝ่ายทหารเพียงอย่างเดียวทั่วพระราชอาณาเขต
          3. กระทรวงการต่างประเทศ (กรมท่า) มีหน้าที่ด้านการต่างประเทศ
          4. กระทรวงวัง ว่าการในพระราชวัง
          5. กระทรวงเมือง (นครบาล) การโปลิศและการบัญชีคน คือ กรมพระสุรัสวดีและรักษาคนโทษ
          6. กระทรวงเกษตราธิการ ว่าการเพาะปลูกและการค้า ป่าไม้ เหมืองแร่
          7. กระทรวงพระคลัง ดูแลเรื่องเงิน รายได้ รายจ่ายของแผ่นดิน
          8. กระทรวงยุติธรรม จัดการเรื่องศาลซึ่งเคยกระจายอยู่ตามกรมต่าง ๆ นำมาไว้ที่แห่งเดียวกันทั้งแพ่ง อาญา นครบาล อุทธรณ์ทั้งแผ่นดิน
          9. กระทรวงยุทธนาธิการ ตรวจตราจัดการในกรมทหารบก ทหารเรือ
          10. กระทรวงธรรมการ จัดการเกี่ยวกับการศึกษา การรักษาพยาบาล และอุปถัมภ์คณะสงฆ์
          11. กระทรวงโยธาธิการ มีหน้าที่ก่อสร้างทำถนน ขุดคลอง การช่าง การไปรษณีย์โทรเลขการรถไฟ
          12. กระทรวงมุรธาธิการ มีหน้าที่รักษาพระราชลัญจกร รักษาพระราชกำหนดกฎหมายและหนังสือราชการทั้งปวง
          เมื่อได้ประกาศปรับปรุงกระทรวงใหม่เสร็จเรียบร้อยจึงได้ประกาศตั้งเสนาบดีและให้เลิกอัครเสนาบดีทั้ง 2 ตำแหน่ง คือ สมุหนายกและสมุหกลาโหม กับตำแหน่งจตุสดมภ์ให้เสนาบดีทุกตำแหน่งเสมอกันและรวมกันเป็นที่ประชุมเสนาบดีสภา หรือเรียกว่า ลูกขุน ณ ศาลา ต่อจากนั้นได้ยุบรวมกระทรวง และปรับปรุงใหม่เมื่อสิ้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทรวงต่างๆ ยังคงมีเหลืออยู่ 10 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงนครบาล กระทรวงการ-ต่างประเทศ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ กระทรวงวัง กระทรวงเกษตราธิการ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงโยธาธิการ และกระทรวงธรรมการ
การปรับปรุงการบริหารราชการส่วนภูมิภาค
          ด้วยเหตุที่มีการรวมการบังคับบัญชาหัวเมืองซึ่งเคยแยกกันอยู่ใน 3 กรม คือ มหาดไทยกลาโหมและกรมท่า ให้มารวมกันอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียว การปฏิรูปหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาคจึงมีสภาพและฐานะเป็นตัวแทน (field) หรือหน่วยงานประจำท้องที่ของกระทรวงมหาดไทย หรือรัฐบาลกลางโดยส่วนรวมทั้งนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะการปกครองแบบเมืองหลวง เมืองชั้นใน เมืองชั้นนอก เมืองพระยามหานคร และเมืองประเทศราชเดิม เพื่อให้ลักษณะการปกครองเปลี่ยนแปลงแบบราชอาณาจักรโดยการจัดระเบียบการปกครองให้มีลักษณะลดหลั่นตามระดับสายการบังคับบัญชาหน่วยเหนือลงไปจนถึงหน่วยงานชั้นรอง ตามลำดับดังนี้  
          1.การจัดรูปการปกครองมณฑลเทศาภิบาล โดยการรวมหัวเมืองต่าง ๆ เป็นมณฑลตามสภาพภูมิประเทศและความสะดวกแก่การปกครอง มีสมุหเทศาภิบาลซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเลือกสรรจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความสามรถสูงและเป็นที่วางพระราชหฤทัยแต่งตั้งให้ไปบริหารราชการต่างพระเนตรพระกรรณ
          2.การจัดรูปการปกครองเมือง มีการปกครองใช้ข้อบังคับลักษณะการปกครองท้องที่ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดหน่วยบริหารที่ชื่อว่า "เมือง" ใหม่โดยให้รวมท้องที่หลายอำเภอเป็นหัวเมืองหนึ่งและกำหนดให้มีพนักงานปกครองเมืองแต่ละเมือง ประกอบด้วยผู้ว่าราชการเมืองเป็นผู้บังคับบัญชาเมือง และมีคณะกรรมการเมือง 2 คณะ คือ กรมการในทำเนียบและกรมการนอกทำเนียบเป็นผู้ช่วยเหลือและให้คำแนะนำพระมหากษัตริย์ทรงเลือกสรร และโยกย้ายผู้ว่าราชการเมือง 
          3. การจัดการปกครองอำเภอ อำเภอเป็นหน่วยบริหารราชการระดับถัดจากเมืองเป็นหน่วยปฏิบัติราชการหน่วยสุดท้ายของรัฐที่จะเป็นผู้บริการราชการในท้องที่ และให้บริการแก่ประชาชนตามนโยบายของรัฐบาลกลาง เป็นหน่วยการปกครองที่จัดตั้งขึ้นโดยการรวมท้องที่หลายตำบลเข้าด้วยกัน มีกรมการอำเภอซึ่งประกอบด้วยนายอำเภอปลัดอำเภอ และสมุห์บัญชีอำเภอร่วมกันรับผิดชอบในราชการของอำเภอ โดยนายอำเภอเป็นหัวหน้า ทั้งนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายนายอำเภอ  เป็นอำนาจของข้าหลวงเทศาภิบาลสำหรับตำแหน่งลำดับรองๆ ลงไปซึ่งได้แก่ ปลัดอำเภอ สมุห์บัญชีอำเภอ และเสมียน พนักงาน ผู้ว่าราชการเมืองมีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายหากท้องที่อำเภอใดกว้างขวางยากแก่การที่กรมการอำเภอจะไปตรวจตราให้ทั่วถึงได้และท้องที่นั้นยังมีผู้คนไม่มากพอที่จะยกฐานะเป็นอำเภอหรือกรณีที่ท้องที่ของอำเภอมีชุมชนที่อยู่ห่างไกลที่ว่าการอำเภอก็ให้แบ่งท้องที่ออกเป็น กิ่งอำเภอเพื่อให้มีพนักงานปกครองดูแลได้แต่กิ่งอำเภอยังคงเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอและอยู่ในกำกับดูแลของกรรมการอำเภอ
          4. การจัดรูปการปกครองตำบลหมู่บ้าน อำเภอแต่ละอำเภอมีการแบ่งซอยพื้นที่ออกเป็นหลายตำบลและตำบลก็ยังซอยพื้นที่ออกเป็นหมู่บ้าน ซึ่งเป็นหน่วยการปกครองสุดท้ายที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดการปกครองระดับนี้มุ่งหมายที่จะให้ราษฎรในพื้นที่ เลือกสรรบุคคลขึ้นทำหน้าที่เป็นธุระในการรักษาความสงบเรียบร้อยโดยเป็นทั้งตัวแทนประชาชนในพื้นที่ปฏิบัติงาน เป็นสื่อเชื่อมโยงระหว่างรัฐบาลกับประชาชน คือเป็นผู้ประสานงานช่วยเหลืออำเภอ และเป็นตัวแทนของรัฐสอดส่องดูแลทุกข์สุขของราษฎร์ ตลอดจนช่วยเก็บภาษีอากรบางอย่างให้รัฐ
การปรับปรุงการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ  ทรงริเริ่มแนวคิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการปกครองตนเองของประชาชนในท้องถิ่นจากต่างประเทศมา
ดำเนินการโดยริเริ่มทดลองให้มีการจัดการสุขาภิบาลกรุงเทพฯและการสุขาภิบาลหัวเมือง รายละเอียดดังนี้
          1. การจัดการสุขาภิบาลกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเริ่มให้จัดการบำรุงท้องถิ่นแบบสุขาภิบาล  ขึ้นในกรุงเทพ อันเป็นอิทธิพลสืบเนื่องมาจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีโอกาสไปดู กิจการต่าง ๆในยุโรป และเนื่องจากเจ้าพระยาอภัยราชา(โรลังยัคมินส์) ติเตียนว่ากรุงเทพฯสกปรกที่รักษาราชการทั่วไปของประเทศในขณะนั้นได้กราบทูลกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าชาวต่างประเทศ  มักติเตียนว่ากรุงเทพฯ สกปรกไม่มีถนนหนทางสมควรแก่ฐานะเป็นเมืองหลวงพระองค์  จึงโปรดเกล้าให้จัดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ขึ้นโดยมีพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ  ร.ศ.116 ออกใช้บังคับการจัดการดำเนินงานเป็นหน้าที่ของกรมสุขาภิบาล  การบริหารกิจการในท้องที่ของสุขาภิบาลพระราชกำหนดได้กำหนดให้มีการประชุมปรึกษากันเป็นคราว ๆ  ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้รับหน้าที่ในด้านการอนามัยและการศึกษาขั้นต้นของราษฎร ได้ แบ่งสุขาภิบาลออกเป็น 2 ชนิด คือ สุขาภิบาลเมือง และสุขาภิบาลตำบล  โดยสุขาภิบาลแต่ละชนิดมีหน้าที่        
            1.รักษาความสะอาดในท้องที่                  
            2.การป้องกันและรักษาความเจ็บไข้ในท้องที่
            3. การบำรุงและรักษาทางไปมาในท้องที่ 
            4. การศึกษาขึ้นต้นของราษฎร
            พระราชบัญญัติทั้งสองฉบับได้ใช้อยู่จนกระทั่งหมดสมัยที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงดำรงตำแหน่งของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ไม่มีนโยบายส่งเสริมการกระจายอำนาจการปกครองของประเทศและสุขาภิบาลเริ่มประสบปัญหาต่างๆ จึงทำให้การทำงานของสุขาภิบาลหยุดชะงักและเฉื่อยลงตามลำดับ จวบจนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปีพ.ศ.2475 คณะราษฎรมุ่งหวังที่จะสถาปนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยขึ้นในประเทศไทย จึงตราพระราชบัญญัติการจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 เพื่อส่งเสริมให้มีการปกครองท้องถิ่นรูปแบบเทศบาลอย่างกว้างขวาง

ที่มา; http://nucha.chs.ac.th/1.4.htm